เปิดพิธีศักดิ์สิทธิ์บวงสรวงขอขมาเทพเทวา ตัดไม้จันทน์หอม กลางป่า
(14 พ.ย. ) นายวุฒิ สุมิตร รองราชเลขาธิการ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงขอขมาเทพเทวาอารักษ์ เพื่อตัดต้นไม้ เพื่อนำไปจัดสร้างพระโกศ ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยปฐมฤกษ์ มีขึ้นในเวลา 14.09 - 14.39 น. ภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยมี นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี นายทวี นริสศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมพิธี มีประชาชนเดินทางเข้ามาในพื้นที่อุทยานจำนวนมาก โดยอยู่ด้านนอกประรำพิธี มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ ตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนมากดูแลเรื่องความปลอดภัย โดยในพื้นที่ประกอบพิธีห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าเด็ดขาด ซึ่งถือว่าเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์
พิธีศักดิ์สิทธิ์ ตัดไม้จันทน์หอม
สำหรับพิธีวันนี้เป็นพิธีบวงสรวงขอขมาเทพเทวาอารักษ์ เพื่อตัดต้นไม้ เพื่อนำไปจัดสร้างพระโกศ ทรงพระบรมศพเหนือพระจิตกาธาน บนพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช หลังจากนี้ทางกรมอุทยานจะส่งมอบไม้แปรรูปให้กับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ดำเนินการต่อไป ขณะที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้มาบันทึกภาพประวัติศาสตร์นี้บันทึกไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติดด้วย
ขณะที่ นายศรีสวัสดิ์ บุญมา กำนันตำบลหาดขาม และประชาชนชาวกุยบุรี ที่มาร่วมพิธีบวงสรวง ต่างปลาบปลื้มที่ได้ร่วมพิธีสำคัญแม้ทุกคนยังเศร้าเสียใจอย่างมากต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงพระกรุณาต่อประชาชนชาวกุยบุรี อย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งพระราชดำริเรื่องคนกับช้าง ที่สามารถแก้ไขปัญหาทำให้ช้างและคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ จนป่ากุยบุรี มีความอุดมสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน รวมถึงโครงการเพิ่มสันอ่างเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำยางชุม ที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและทำให้เกษตรกรมีน้ำกินน้ำใช้สำหรับการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
ลำดับพิธีการศักดิ์สิทธิ์
เจ้าหน้าที่ได้หลั่งน้ำเทพมนตร์ บริเวณหน้าต้นจันทน์หอม ต้นที่ 1 ก่อนทำพิธีเจิมบริเวณที่ต้นจันทน์หอม ขณะที่โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์
จากนั้นหลั่งน้ำเทพมนตร์ เจิมขวานทอง สำหรับใช้ตัดต้นไม้จันทน์หอม จุดเทียนเงิน เทียนทอง ธูป บนโต๊ะ เครื่องบวงสรวงและปักธูปบริวารที่เครื่องสังเวยทั้งหมด
หัวหน้างานโหรพราหมณ์ นายฉัตรชัย ปิ่นเงิน ได้อ่านประกาศบวงสรวง ประธานในพิธีไปยังบริเวณหน้าต้นจันทน์หอม ประพรมน้ำเทพมนตร์ ที่ต้นจันทน์หอม แล้วใช้ขวานฟันที่ต้นจันทน์หอมเป็นปฐมฤกษ์ และโปรยดอกไม้รอบบริเวณต้นจันทน์หอม
โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร ภูษามาลาไกวบัณเฑาะว์ เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับต้นแรก จากนั้นประธานในพิธีจะประกอบพิธีบวงสรวงจนครบ 12 ต้น ตามที่สำนักพระราชวังและกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ทำการคัดเลือกไม้จันทน์หอมที่เหมาะสมไว้แล้ว
เปิดตำนาน ไม้จันทน์หอม
สำหรับไม้จันทน์หอมเป็นไม้ที่มีค่าหายากชนิดหนึ่ง จัดเป็นไม้มงคลชั้นสูง ใช้ในพระราชพิธี มาตั้งแต่สมัยโบราณยุคพุทธกาล ซึ่งไม้จันทน์หอม ถือเป็นไม้มงคล มีกลิ่นหอม เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด แห้ง นำมาเลื่อยไส้กบ ตกแต่งง่าย ต้นจันทน์หอม ยืนต้นตายเองโดยธรรมชาติหรือ ที่เรียกว่า ตายพราย ผิวนอกผุเปื่อยแล้ว เหลือแก่นไม้จะมีกลิ่นหอมจัด นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพระราชพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพ พระมหากษัตรย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง และในงานที่เกี่ยวเนื่องกับพระศาสนาเท่านั้น ซึ่งที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ที่มีไม้จันทน์หอมเป็นจำนวนมากและมีความสมบูรณ์ของเนื้อไม้ ลักษณะต้น ตรงตามตำรามากที่สุด
ทั้งนี้ ไม้จันทน์หอม ได้เคยนำไปใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระศรีนครินาราบรมราชชนนี สมเด็จพระภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สำหรับใช้ในการจัดสร้าง พระโกศไม้จันทน์หอม สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะนำมาแปรรูปจากท่อนฟืนให้มีลวดลายขึ้นเป็นพระโกศไม้จันทน์