ทำความรู้จัก “แนวแผ่นดินไหว” และ “วงแหวนแห่งไฟ” เขย่าโลก

ทำความรู้จัก “แนวแผ่นดินไหว” และ “วงแหวนแห่งไฟ” เขย่าโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนกังวลถึงความรุนแรงและความเสียหาย จากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในแนว "วงแหวนแห่งไฟ" หรือ "The ring of fire" ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์และประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้กับไทยก็อยู่ในแนวนี้ด้วย !

ทำความรู้จัก "แนวแผ่นดินไหว" และ "วงแหวนแห่งไฟ" เขย่าโลก
เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ความลึก 10 กม. บริเวณเกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ในช่วงรุ่งเช้า ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 18.00 น. ในประเทศไทย สร้างความเสียหายกระจายในหลายพื้นที่ โดยหลังแผ่นดินไหวหลักผ่านไป ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง ครั้งใหญ่วัดความรุนแรงได้ถึง 6.2 และอยู่ลึกลงไปใต้ดิน 10 กม. มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองไครสต์เชิร์ช ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 120 กิโลเมตร ขณะที่เมืองไคคูร่าเกิดสึนามิขนาดเล็ก 2.5 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง และยังคงมีรายงานความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น

แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แต่เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น จากภัยพิบัติที่ไม่อาจพยากรณ์ได้แน่ชัด ทำให้หลายคนกังวลถึงความรุนแรงและความเสียหาย จากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในแนว "วงแหวนแห่งไฟ" หรือ "The ring of fire" ซึ่งประเทศนิวซีแลนด์และประเทศเพื่อนบ้าน ใกล้กับไทยก็อยู่ในแนวนี้ด้วย !

รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวฯ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ที่เกิดขึ้นในประเทศนิวซีแลนด์ ระบุว่าถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากที่ตั้ง อยู่บนแนววงแหวนแห่งไฟและแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิก ซึ่งในแถบนี้มักเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวชุกชุมอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกกังวลมากนัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากแนววงแหวนแห่งไฟ มีความเชื่อมโยงในพื้นที่โดยรอบที่ใกล้กับประเทศไทย ดังนั้น ผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรง อาจส่งผลสืบเนื่องต่อประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้แนวเส้นได้บ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากจนเกินไป เนื่องจากจุดศูนย์กลางที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์ ไกลจากประเทศไทยค่อนข้างมาก ส่วนแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวแนวดิ่งในทะเล ซึ่งอาจก่อให้เกิดสึนามิลูกใหญ่ ซัดเข้าฝั่งนิวซีแลนด์ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกหรือไม่นั้น ด้วยเทคโนโลยีไม่สามารถคาดเดาได้แน่ชัด แต่การเกิดสึนามิในแถบนั้นไม่น่าวิตกกังวล เท่ากับบริเวณหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ข้อมูลรายงาน "สึนามิจากแผ่นดินไหว" กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าภายใต้ชั้นเปลือกโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ ลึกลงไปมีหินหนืดซึ่งเป็นสารเหลวหลอมละลาย เป็นแหล่งสะสมพลังงานความร้อนจำนวนมหาศาล พลังงานดังกล่าวที่อยู่ในชั้นนี้พยายามหาทางระบายออก จึงเกิดการผลักดันชั้นหินเปลือกโลกอยู่ตลอดเวลา ถ้าวันใดความร้อนนั้นดันทะลุเปลือกโลกส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นมาได้ เปลือกโลกส่วนนั้นก็จะเคลื่อนตัวทำให้เกิดความสั่นสะเทือนและเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งบนบกและใต้พื้นทะเล เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้เกิดสึนามิได้ในบางครั้ง

ทั้งนี้ การแยกออกจากกันหรือการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก เป็นผลมาจากการผลักดันของพลังงานความร้อนใต้ชั้นเปลือกโลก และมักพบว่าท าให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เปลือกโลกขนาดใหญ่มีอยู่ 13 แผ่นใหญ่ ได้แก่ แผ่นยูเรเซีย แผ่นแปซิฟิก แผ่นอินโด-ออสเตรเลีย แผ่นอเมริกาเหนือ แผ่นอเมริกาใต้แผ่นสโกเชีย แผ่นแอฟริกา แผ่นแอนตาร์กติก แผ่นนัซกา แผ่นโคโคส แผ่นแคริบเบียน แผ่นอาหรับ และแผ่นฟิลิปปินส์ ซึ่งแผ่นเปลือกโลกมีการขยับตัวและเคลื่อนที่อย่างช้าๆ อยู่ตลอดเวลา เฉลี่ยปีละ 5-6 เซนติเมตร

(ขอบคุณภาพจาก หน่วยปฏิบัติการวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน ผืนแผ่นดินเอเซียตะวันออกเฉียงใต้)

สำหรับแนวแผ่นดินไหวของโลกมี 3 แนวหลัก ได้แก่

1. แนววงรอบแปซิฟิก เริ่มจากชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ขึ้นไปทางตอนเหนือชายฝั่งของทวีปอเมริกาเหนือ ผ่านปลายแหลมคัมชัตคาลงมา ผ่านประเทศญี่ปุ่นแล้วแยกออกเป็น 2 แนว แนวที่หนึ่งลงมาทางหมู่เกาะมาเรียนา แนวที่สองผ่านลงมาทางหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เกาะนิวกินี ไปจนถึงนิวซีแลนด์ และมีแนวต่อไปจนถึงปลายแหลมอเมริกาใต้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น เป็นที่รวมของแผ่นดินไหวของโลกพบภูเขาไฟเกิดร่วมด้วย จึงได้ชื่อว่า "วงแหวนแห่งไฟ (The ring of fire)"

2. แนวภูเขาแอลป์-หิมาลัย มหาสมุทรแปซิฟิก เริ่มจากหมู่เกาะชวาผ่านหมู่เกาะสุมาตราขึ้นไปทางเหนือ ผ่านหมู่เกาะอันดามัน ตะวันตกของพม่า อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี ไปจนถึงยุโรป

3. แนวสันภูเขาไฟกลางมหาสมุทรแอตแลนติก จากขั้วโลกเหนือเรื่อยลงมาผ่านเกาะไอซแลนด์ผ่านกลางมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงขั้วโลกใต้

การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทั้ง 3 แนว ทำให้เกิดรอยเลื่อนขนาดใหญ่บนเปลือกโลกแผ่นต่างๆ มากมาย รอยเลื่อนเหล่านี้เมื่อขยับตัว จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : รายงาน "สึนามิจากแผ่นดินไหว" กรมทรัพยากรธรณี

ภาพจาก YT HARYONO / AFP, MARK MITCHELL / POOL / AFP

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook