คิดอย่างไร? คนดังทำผิดสิ่งที่ควรได้รับ "โอกาส" vs "แบน"
คงยังไม่ช้าเกินไปกับการหยิบยกเรื่องราวของพิธีกรหนุ่มเจ้าของวลี "กราบรถกู" สติหลุดจนถึงขั้นลงไม้ลงมือกับคู่กรณีได้รับบาดเจ็บสาหัสบริเวณใบหน้า หนำซ้ำคลิปยังเป็นเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้ พิธีกร - นักแสดง ที่ตกเป็นข่าวนั้น นอกจากจะได้รับการลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็ยังถูกสังคมลงโทษตามาอีกเช่นกัน
ล่าสุดแม้พิธีกรหนุ่มจะออกมาแถลงข่าวขอโทษและยอมรับในความผิดของการกระทำตนเองแล้วนั้น นี่จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดที่เรามักจะได้ยินจนชิน "ดารา" คือคนสาธารณะและควรเป็นตัวอย่างที่ดี แต่เมื่อบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวอย่างได้กระทำความผิด ทีมข่าว Sanook! News จึงได้สอบถามความเห็นของประชาชนในกรณี "กราบรถกู" สิ่งที่ควรได้รับระหว่าง "โอกาส" หรือว่า "แบน" คืออะไร
อาริญญา เต็งจารึกชัย อาชีพแอร์โฮสเตส บอกกับทีมข่าวว่า "ส่วนตัวคิดว่าอยากให้สังคมให้โอกาส เพราะเรื่องของความโกรธต่อให้เป็นคนที่มีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียง มันก็เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่กำลังโกรธ และคิดว่าตอนนี้เขาก็ได้รับบทเรียนจากสังคมจนแทบจะไม่มีที่ยืน ไปเยอะมากๆ"
"เขาคงรู้แล้วเรื่องความโกรธจนสติหลุดผลเป็นอย่างไร ย้อนกลับมาทำลายตัวเขาเองมากแค่ไหน และแม้ว่าก่อนหน้าคุณอาจจะเป็นคนดี ทำความดีมากมาย แต่พลาดแค่ครั้งเดียวเพราะสติหลุดมันก็ทำให้สิ่งดีๆ ที่คุณเคยทำมาก็พังหมดไป"
อาจรีย์ อรรถาฉาย อาชีพพนักงานออฟฟิศ มองว่าการกระทำผิดของพิธีกรหนุ่มครั้งนี้ควรจะให้โอกาส โดยเธอให้เหตุผลว่า "คนทุกคนนั้นย่อมสามารถทำผิดพลาดกันได้ ซึ่งเขาจะรู้สำนึกเร็วหรือช้าก็ยังดีกว่าเขาไม่รู้ แต่ก็ไม่ควรทำผิดเรื่องเดิมๆ ซ้ำอีกเป็นครั้งที่สองหรือสาม เชื่อว่าบทเรียนที่เขาได้รับไปจากเรื่องนี้คงเป็นบทเรียนที่ราคาแพงมากในชีวิตของเขาแล้วค่ะ"
ต่อที่ เสาวลักษณ์ ผินผัน อาชีพแม่บ้านประจำออฟฟิศ เธอเผยกับทีมข่าวว่าได้ติดตามข่าวนี้ และตอนนี้กระแสข่าวจะเงียบลงไปแล้วส่วนตัวก็เลือกที่ให้โอกาสเช่นกัน "คือคนเราทุกคนย่อมมีการทำผิดพลาดได้ทุกคน แต่มันอยู่ที่ว่าเมื่อเขาได้รับโอกาสแล้วเขาจะปรับปรุงตัวหรือเปล่า เพราะถ้าสังคมไม่ให้โอกาสแล้วต่อไปคนที่ทำผิดก็ไม่ได้โอกาสซักคน ถ้าเขาคิดได้และสำนึกผิดจริงก็ควรได้โอกาสเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน"
ท้ายสุดของมุมมองประชาชนที่ สุภาพรรณ เครือรัตน์ อาชีพพนักงานออฟฟิศ บอกกับทีมข่าวหลังจากที่ได้เห็นพิธีกรหนุ่มออกมาแถลงข่าวว่า "คิดว่าควรให้โอกาสเขาส่วนตัวแล้วคิดว่าความผิดเขาไม่ได้ถึงกับไปฆ่าคนตาย แค่ข่าวหรือคลิปที่แชร์ๆ กันในก็คิดว่าเป็นการลงโทษที่ให้บทเรียนเขาเพียงพอแล้ว"
"ซักวันถ้าเขามีจิตใต้สำนึกหรือว่ามีความรับผิดชอบพอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเขาไม่ควรที่จะทำและมันก็เป็นแบบอย่างที่ให้เยาวชนคนทั่วไปเห็นแล้วก็ไม่กล้าที่จะทำตาม อีกอย่างคนเราเมื่อรู้สึกว่าทำผิดแล้วคิดที่จะขอโทษก็ควรให้อภัยและโอกาสกับเขา"
เห็นได้ชัดเจนว่าโดยรวมๆ ประเด็นกราบรถกูครั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนก็ยังเลือกที่จะให้ "โอกาส" มีที่ยืนในสังคมต่อไปเพียงแค่ "น๊อตกราบรถกู" สำนึกผิดด้วยความ "จริงใจ" เท่านั้นเอง