คนกรุงเตรียมตัว รื้อสะพานรัชโยธิน 2 เดือน เริ่มปิด 22 พ.ย.
(16 พ.ย.) พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ด้านการจราจร) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. นายพินิต เลิศอุดมธนา รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร นายธีรพล ตันสัจจา ผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์
พร้อมด้วยผู้แทนบริษัทที่ปรึกษา PCGRN โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่)
ได้ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมด้านการจัดจราจรระหว่างปิดสะพานรัชโยธิน ก่อนจะเริ่มทำการรื้อถอนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน พร้อมแนะนำเส้นทางหลีกเลี่ยงการจราจรบริเวณดังกล่าว ณ บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวถึง การเตรียมการด้านการจราจรหลังปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ว่า การดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ)ฯ จะมีการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้ายกระดับช่วงระหว่างสถานีรัชโยธินกับสถานีพหลโยธิน 24 ที่ตัดผ่านสี่แยกรัชโยธิน และสะพานรถข้ามแยกในแนวถนนพหลโยธิน จึงมีความจำเป็นต้องรื้อสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธินออก
ซึ่ง รฟม. มีแผนก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกในแนว ถนนรัชดาภิเษกทดแทน ควบคู่กับการก่อสร้างสะพานข้ามแยกในแนว ถนนพหลโยธิน โดยใช้โครงสร้างเดียวกันกับทางวิ่งยกระดับของรถไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการจราจรที่บริเวณแยกรัชโยธิน ทั้ง 2 ทิศทาง อันเป็นการแก้ปัญหาจราจรบริเวณสี่แยกรัชโยธินได้อย่างยั่งยืน โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการให้สั้นที่สุดในการปิดการจราจร
ส่วนกรอบระยะเวลา การดำเนินงาน ในช่วงของการรื้อสะพานจะใช้ระยะเวลา 2 เดือน คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมกราคม 2560 จากนั้นจะเร่งรัดสร้างอุโมงค์ทางลอดให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธุ์ 2562 โดยจะพยายามให้กระทบพื้นผิวการจราจร และประชาชนที่ใช้เส้นทางให้น้อยที่สุด
ด้าน พล.ต.ท.วิทยา ประยงค์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ถนนรัชดาภิเษก จะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรให้เหมาะสมกับปริมาณของรถ เพิ่มจุดกลับรถและเพิ่มแนวถนน รวมถึงมีการเตรียมรูปแบบสัญญาณไฟจราจรที่แยกรัชโยธิน ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่
เปิดไฟทุกทิศทาง และปรับรอบให้เร็วขึ้น / ปิดช่องทางเลี้ยวขวาในทุกทิศทาง ซึ่งหากทั้ง 2 แนวทางยังไม่สามารถลดปัญหาได้ จะนำแนวทางที่ 3 คือ ปิดถนนพหลโยธินทั้งหมดมาใช้ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะปฏิบัติและนำมาประเมินผลไปพร้อมๆ กัน ก่อนจะนำมาออกเป็นข้อบังคับกรุงเทพมหานคร โดยยืนยันว่า จะทำให้ดีที่สุด และเร็วที่สุด รวมถึงจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
ส่วนกรณีประชาชนที่จะต้องใช้เส้นทางเลี่ยงในถนนสายหลักพื้นที่ใกล้เคียงเช่น ถนนวิภาวดี-รังสิต อาจจะมีการเร่งระบายรถให้เร็วขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการรถบนทางด่วนให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ
ซึ่งขณะที่การปิดการจราจรบนสะพานรัชโยธิน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2559 ปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 10.00 - 15.00 น., วันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2559 ปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 จะปิดเพื่อรื้อสะพานรัชโยธินตั้งแต่เวลา 01.00 น. เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอให้ประชาชนที่เผื่อเวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที เป็นอย่างน้อย