“กราบรถกรู” เตือนสติคนไทย ด้วยคำสอนของท่าน “ว.วชิรเมธี”

“กราบรถกรู” เตือนสติคนไทย ด้วยคำสอนของท่าน “ว.วชิรเมธี”

“กราบรถกรู” เตือนสติคนไทย ด้วยคำสอนของท่าน “ว.วชิรเมธี”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีวลีเด็ด "กราบรถกู" กลายบทเรียนการจัดการวิกฤติบนท้องถนนและบนสื่อสังคมออนไลน์ของคนไทย สะท้อนให้เห็นถึงการใช้อารมณ์ของคนไทย ณ ปัจจุบัน ที่ใช้ความโกรธมาอยู่เหนือเหตุผลและขาดการใช้สติในการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ถึงแม้ว่า น้องน็อต อัครณัฐ ได้ออกมากล่าวขอโทษต่อทุกฝ่ายแล้วก็ตาม เรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่อย่างใด สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่สังคมไทยหายไปนั่นคือการใช้สติในการให้อภัย เพราะทุกคนย่อมผิดพลาดกันได้ การซ้ำเติมคนที่ผิดย่อมไม่ทำให้เกิดผลดี ควรรู้จักให้อภัย หากเค้าสำนึกผิดแล้วมาเริ่มต้นใช้สติให้เกิดปัญญา ปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายไปได้โดยฉับพลัน

ซึ่งทาง Sanook News! ได้มีโอกาสขอสัมภาษณ์ท่าน ว.วชิรเมธี ต่อเหตุการณ์ "กราบรถกู" ของน้องน็อต อัครณัฐ และท่านว.วชิรเมธี ได้เตือนสติคนไทยให้รู้จักการใช้ "สติ"ในการแก้ปัญหา และ รู้จัก "การเข้าใจให้อภัย"

๑.กราบรถกู : เราต้องเรียนรู้มากกว่าการกล่าวโทษ

อุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และในเมืองที่รถราหนาแน่นอย่างกรุงเทพมหานคร และโดยมากมักเกิดจากความประมาทขาดสติของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ก็ทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เราควรทำทันที ไม่ใช่การกล่าวโทษ ไม่ใช่การโมโหโกรธา หรือไม่ใช่การเรียกประกัน แต่ "ควรเรียกสติ" ต่างหาก เพราะหากเรามีสติ เรื่องเลวร้ายทั้งหลาย ก็จะบรรเทาเบาบางลงไป แม้ไม่ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็จะไม่บานปลายใหญ่โตจนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ

๒.สติ เป็นสิ่งจำเป็นในทุกสถานการณ์

๒.๑ สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเกิดอุบัติเหตุ คือ การตั้งสติให้ได้เสียก่อน เพราะหากตั้งสติไม่ทัน สิ่งที่จะเข้ามาเกาะกุมจิตใจก็คือ ความกลัวและความโกรธ เช่น กรณีของน้องน็อต ความกลัวที่รถจะบุบสลาย จึงกลายเป็นที่มาของความโกรธ แต่ถ้าพูดให้ลึกลงไปกว่านั้น สิ่งที่ถูกชนและสิ่งที่บุบสลายไม่ใช่แค่รถ แต่คือ "ตัวตน" (อัตตา) ต่างหากที่ถูกชนและถูกกระทำ กรณีนี้จึงกลายเป็นการชนสองชั้น คือ รถถูกชน (ชั้นนอก) และ อัตตาถูกชน (ชั้นใน) ความโกรธจึงทวีคูณเป็นร้อยเท่าพันทวี แต่จะอย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้ หากตั้งสติทัน เรื่องราวก็ไม่ลุกลาม

๒.๒ การตั้งสติทำได้ง่ายๆ ด้วยการกลับมาสูดลมหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ยาวๆ สักสองสามครั้ง เพียงแค่นี้สติก็จะคืนกลับมา เมื่อสติประจำการแล้ว ปัญญาก็จะมารับช่วงต่อ จากนั้นสถานการณ์ที่ดูเหมือนเลวร้ายก็จะลดน้อยลงโดยอัตโนมัติ

๒.๓ เมื่อตั้งสติได้แล้ว สิ่งที่ควรทำก็คือ อย่าเพิ่งตัดสินใจอะไรอย่างหุนหันพลันแล่นในขณะที่กำลังโกรธ กำลังเครียดทันที หรือไม่ควรโพล่ง ไม่ควรพูด อะไรออกมาในขณะที่กำลังโกรธ กำลังตื่นกลัว เพราะการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะนั้น จะทำให้ "พลาด" และยากที่จะแก้ไข หรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือ แทบแก้ไขอะไรไม่ได้เลย อย่างที่มันได้เกิดขึ้นแล้ว จนลุกลามไปถึงครอบครัว หน้าที่การงาน และอนาคต

๒.๔ เมื่อสองปีก่อน ผู้เขียนเดินทางไปทำงานต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะที่รถตู้ซึ่งนั่งมากำลังเลี้ยวเข้าโค้ง พอดีฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ และเมื่อรู้ตัวอีกที ก็ได้ยินเสียงดังโครม ก้องไปทั้งถนน เมื่อรถนิ่งสนิท จึงพบว่า รถตู้เบรกกะทันหัน จนชนเข้ากับราวข้างถนน เพราะมีมอเตอร์ไซค์ตัดหน้าและล้มลงไปกองอยู่บนท้องถนน ขณะที่ข้างๆ รถตู้ก็มีปิคอัพอีกคันหนึ่งทิ่มเข้ามา และพอมองไปข้างหลังก็มีปิคอัพอีกคันหนึ่งเสียบคาอยู่ สิ่งแรกที่ผู้เขียนทำก็คือ กลับมาหายใจเข้าลึก-ออกยาว ราวสองสามนาที แล้วจึงลงไปสำรวจอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เมื่อพบว่า ทุกคนปลอดภัย มีแต่รถเท่านั้นที่บุบสลาย

ก็จึงตั้งวงคุยกันและทุกอย่างก็จบด้วยดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งตามมา ทั้งหมดนี้ คือ ผลของ "สติ" ในยามฉุกเฉินโดยแท้ จริงอยู่ ในตอนนั้นไม่ใช่ไม่มีคนโวยวาย แท้ที่จริง มีเจ้าของรถโวยวายเหมือนกัน แต่เมื่อในเหตุการณ์นั้นมีคนที่มี "สติ" ที่ "สตรอง" ร่วมอยู่ด้วยหลายคน คนที่โวยวายพานหาเรื่องอย่างไม่มีเหตุผล จึงได้รับการปลอบโยนให้กลับเข้ามาสู่การแก้ปัญหาด้วยปัญญาอย่างทันท่วงที "สติ" และ "ปัญญา" จึงต้องมาให้ทันในยามฉุกเฉิน

๒.๕ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงด้วยประการทั้งปวง เพราะความรุนแรงไม่เพียงไม่ช่วยอะไร แต่จะกลายเป็นการสร้างปัญหาซ้ำเติมให้แย่ลงไปกว่าเดิมต่างหาก

๓.เรียนรู้ เข้าใจ อภัย

กรณีของน้องน็อต เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนใช้รถใช้ถนนได้เป็นอย่างดี นี่คือ แง่ดีแง่งาม ที่เราควรจะขอบคุณเหตุการณ์คราวนี้ เพราะวันหนึ่ง หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมากับเราบ้าง อย่างน้อย เราจะได้ฉุกคิดว่า การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง จะไม่ช่วยอะไร และเราไม่ควรใช้วิธีการเช่นนี้

ส่วนคนที่เสพสื่อสังคมออนไลน์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยเช่นกัน อย่างน้อย เราควรวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราว เหตุการณ์อย่างเปี่ยมสติ และใช้เมตตา ปรารถนาดีมากกว่าซ้ำเติม คำนึงถึกอกเขาอกเรา ไม่เอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง อย่างน้อยที่สุด ควรระวังไม่ให้การวิพากษ์วิจารณ์ของเราไปเพิ่มความเกลียดชังให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งต่างก็แย่มากพออยู่แล้ว

"วุฒิภาวะ" ในการใช้ชีวิตและแก้ปัญหาของคนเราไม่เท่ากัน เราไม่ควรคาดคั้นสิ่งที่ดีที่สุดจากคนที่ย่ำแย่และพลาดไปแล้วด้วยมาตรฐานขั้นสูงสุดเหมือนที่เราอยากให้เกิดขึ้นจากมุมมองของเราเพียงฝ่ายเดียว เพราะในสถานการณ์จริง ทุกอย่างไม่ได้ง่ายเหมือนที่เราอยากให้เป็น ดังนั้น การพูดถึงคนอื่น การวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น จึงต้องระวังไม่ให้กลายเป็นการพูดเอามันด้วยอารมณ์ จนเป็นการซ้ำเติมเขา ไม่ให้มีที่อยู่ที่ยืนในสังคม

คนทุกคนที่ประมาทพลาดพลั้งไปแล้ว ไม่ว่าจะเลวร้ายอย่างไร ก็ควรได้รับคำแนะนำ มากกว่าการด่าทอควรได้รับความเห็นอกเห็นใจในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันกับเรา และเราก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกันกับเขา มองจากมุมนี้ ความร้อนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์น่าจะลดลงได้บ้าง ดราม่าในสังคมคงจะเบาบางลงไปตามสมควร ไม่ใช่เอะอะอะไร ก็ผสมโรงลูกเดียว จนจับประเด็นอะไรไม่ได้

อีกประการหนึ่ง ที่ควรย้ำไว้ก็คือ "การให้อภัย" เป็นสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในหมู่มนุษย์ผู้ประเสริฐอย่างเราท่านทั้งหลาย

การให้อภัย เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดีๆ ในชีวิตของเราแต่ละคน เป็นจุดเริ่มต้นของสัมพันธภาพเชิงบวก เป็นจุดพลิกผันของวิกฤติร้ายให้กลายเป็นดี เมื่อใครก็ตาม สำนึกผิดจากใจจริง เราก็ควรทำในสิ่งที่สูงส่งพอๆ กัน นั่นก็คือ การให้อภัยแก่เขา เพราะการให้อภัย เป็นการเปิดโอกาสให้มีการเริ่มต้นใหม่

ในทางตรงกันข้าม การไม่ให้อภัย กลับเป็นตัวถ่วงให้วิกฤติยังคงอยู่และมีแนวโน้มว่าจะเลวร้ายลงไปยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น เราควรฝึกให้อภัยไว้เสมอ และคนที่ได้รับการอภัย ก็ต้องตระหนักรู้ด้วยเช่นกันว่า เมื่อคนอื่นให้อภัยแล้ว ตัวเองก็ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนตนเป็นคนใหม่ด้วยความจริงใจเช่นเดียวกัน

การขอโทษ การขออภัย การขออโหสิกรรม ไม่ควรเป็นพิธีกรรมชนิดหนึ่ง หากแต่ควรเป็นจุดเปลี่ยนที่เราจะใช้ก้าวข้ามจากวิกฤติไปสู่วิวัฒน์ครั้งใหม่ของชีวิต.

ต้นไม้ต้นหนึ่ง
ประกอบด้วยรากแก้ว รากฝอย แก่น กระพี้ เปลือก กิ่ง ใบ ดอก ผล
ดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ แสงแดด...
หากเราไปหักเอากิ่งใดกิ่งหนึ่งมา
แล้วสรุปอย่างรวบรัดว่า
กิ่งที่อยู่ในมือเรานี่แหละ คือทั้งหมดของต้นไม้นั้น...
การสรุปอย่างนี้ย่อมไม่ถูกต้อง
และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
ทำนองเดียวกัน
เวลาที่เราเห็นข้อความบางอย่าง คำบางคำ รูปบางรูป
ของใครบางคน
ซึ่งล้วนแล้วแต่มี "บริบท"
คือมีองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมายรายล้อมอยู่
เราก็ควรทำความเข้าใจรากฐานที่มาของข้อความเป็นต้นเหล่านั้น
ให้ชัดเสียก่อน
ถ้าไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้ ไม่เข้าใจอย่างแจ่มกระจ่างสว่างใส
ก็อย่าเพิ่งกระโดดเข้าไปผสมโรงวิพากษ์วิจารณ์
การด่วนตัดสินคนอื่นหรืออะไรก็ตามอย่างตื้นเขิน
แท้ที่จริง
ก็คือการประจานตัวเองต่อหน้ามหาชน
ว่า "ตนก็ช่างเป็นคนที่ตื้นเขินเสียนี่กระไร"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook