สุดตื้นตัน! ระดมทุนซื้อต้นยางนาที่อาศัยนกเงือกคืนจากนายทุน ทะลุเป้าใน 6 ชม.
เรื่องราวสุดประทับใจเกิดขึ้นวานนี้ (17 พ.ย. 2559) หลัง นายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวประกาศระดมทุน 5 หมื่นบาท เพื่อนำเงินไปจ่ายคืนให้นายทุน หลังทำสัญญาซื้อต้นยางนา จำนวน 30 ต้น จากที่ของชาวบ้านคลองยัน เพื่อรักษาต้นยางนาที่อาศัยของนกเงือกจำนวนมาก ที่อพยพจากป่าห้วยขาแข้งไปยังประเทศมาเลเซีย ในฤดูฝนระหว่าง เดือน มิ.ย. - ต.ค. เป็นประจำทุกปี เงื่อนไขหลังเจรจาคือต้องหาเงินให้ครบภายใน 7 วัน ซึ่งในตอนนั้นสร้างความกังวลแก่เจ้าตัวไม่น้อย ทว่าเวลาประมาณ 6 ชม. ต่อมา นักวิจัยนกเงือก โพสต์ข้อความระบุว่าขอปิดการระดมทุน เนื่องจากมีผู้ร่วมสมทบทุนทะลุยอดที่ต้องการแล้ว
ทีมนิวมีเดีย PPTV ติดต่อไปยัง นักวิจัยนกเงือก สอบถามถึงที่มาที่ไปการเปิดระดมทุนในครั้งนี้ จึงทราบว่าต้นสายปลายเหตุเกิดจากเจ้าของที่ ต้องการนำพื้นที่ไปปลูกต้นยาง จึงทำสัญญาขายต้นยางนาจำนวน 30 ต้น ในราคา 5 แสนบาท และเบื้องต้นผู้รับซื้อได้จ่ายค่ามัดจำนวน 5 หมื่นบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่จากการสำรวจพื้นที่ทำให้ทราบว่า พื้นที่ในบริเวณนี้ซึ่งอยู่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน มีต้นยางนาจำนวนมากซึ่งเป็นที่อาศัยของนกเงือกอพยพในช่วงฤดูฝนของทุกปี จึงต้องการอนุรักษ์ต้นไม้ไว้เพื่อนกเงือก และรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์เช่นนี้ต่อไป
"ขณะนี้ยังไม่มีเวลารวบรวมยอดเงิน แต่จากประเมินคร่าวๆ ยอดที่ได้เกินเป้าตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ ตั้งใจว่าเงินส่วนต่างที่ได้เกินมาก จะนำไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ จากต้นยางนาโดยไม่ต้องโค่นทิ้ง ซึ่งหากทำสำเร็จจะกลายเป็นต้นแบบ และเป็นหนทางการอนุรักษ์ต้นไม้ที่ยั่งยืน ได้ประโยชน์ทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาและที่อยู่อาศัยของนกเงือก"
เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก บอกว่าสาเหตุที่ชาวบ้านตัดสินใจขายต้นยางนาในตอนแรก คือไม่มีความรู้ว่าแท้จริงแล้วสามารถใช้ประโยชน์ จากต้นยางนาโดยไม่ต้องโค่นทิ้ง จึงติดต่อนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านว่าเฉพาะราคาน้ำยาง จากต้นยางนาก็สามารถเลี้ยงชีพได้สบายๆ แล้ว
ตัวอย่างคือในพื้นที่ของเจ้าของต้นยางนารายนี้ ทั้งหมดมีไม่ต่ำกว่า 70 ต้น แต่ละต้นเจาะรูเก็บน้ำยางได้ 3 จุด ภายใน 20 ชม. แต่ละจุดได้น้ำยางประมาณ 600 มิลลิลิตร มหาวิทยาลัยขอนแก่นรับซื้อ ลิตรละ 80-100 บาท เท่ากับว่ารายได้ค่อนข้างดีกว่ายางพาราด้วยซ้ำ ยังไม่นับรวมประโยชน์อื่นๆ โดยเฉพาะการเป็นไม้ยืนต้นอายุยืนมากกว่า 100 ปี หมายความว่าหายไม่โค่นทิ้ง สามารถเก็บเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้อีกด้วย