แองเจลินา โจลี เรียกร้องไทย รับผู้อพยพผิดกม.กลุ่มโรฮิงญา

แองเจลินา โจลี เรียกร้องไทย รับผู้อพยพผิดกม.กลุ่มโรฮิงญา

แองเจลินา โจลี เรียกร้องไทย รับผู้อพยพผิดกม.กลุ่มโรฮิงญา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แองเจลินา โจลี เรียกร้องรัฐบาลไทย รับผู้อพยพโรฮิงญา พร้อมเปิดช่องผู้อพยพชาวพม่า ในค่ายอพยพภาคเหนือของประเทศ ทำมาหากินนอกค่ายได้อย่างเสรี ตามสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล เรียกร้อง 6 ประเทศดูแลปัญหาชาวโรฮิงญา

แองเจลินา โจลี ดาราชื่อดังของฮอลลีวู้ด ในฐานะทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ได้เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพชาวพม่า ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านใหม่นายสอย จ.แม่ฮ่องสอน ของไทย พร้อมทั้งได้พูดคุยกับบรรดาผู้อพยพเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และการต่อสู้ดิ้นรนของกลุ่มคนเหล่านี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือให้ผู้อพยพชาวพม่าในค่ายสามารถดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะที่พึ่งพาตนเองได้

ทั้งนี้ นางโจลีกล่าวว่า รู้สึกเศร้าใจอย่างมากที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้อพยพชาวพม่าที่เป็นผู้หญิงวัย 21 ปี ที่เกิดที่ค่ายอพยพแห่งนี้ และปัจจุบันกำลังเลี้ยงลูกของตัวเองที่ค่ายแห่งนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งระบุว่า ผู้อพยพประมาณ 111,000 คน ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพทางภาคเหนือของไทย ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานนอกค่าย หรือได้รับการศึกษาที่ดีขึ้น

"ฉันว่าเราสามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งผลักดันให้เกิดกระบวนการช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้จากรัฐบาลไทยได้ เพราะผู้อพยพเหล่านี้ สมควรได้รับความเคารพหรือยอมรับเทียบเท่าผู้อื่นตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน" นางโจลีกล่าว

นอกจากนี้ นางโจลียังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การต้อนรับผู้อพยพชาวโรฮิงญา ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่ถูกกดขี่และหนีตายจากเงื้อมมือของทหารรัฐบาลพม่าที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

"การได้มาเยี่ยมค่ายผู้อพยพบ้านใหม่นายสอย และได้เห็นความเมตตาของประเทศไทยที่มีต่อผู้อพยพกว่าแสนคน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ฉันเกิดความหวังว่า รัฐบาลไทยจะเผื่อแผ่ความเมตตานี้ไปยังกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ขณะนี้ได้เดินทางเข้ามาในน่านน้ำของไทยแล้ว" แถลงการณ์ของโจลี ที่ออกโดยยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุ

นับตั้งแต่ทำหน้าที่ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในนครเจนีวา เมื่อปี 2544 นางโจลีได้เดินทางเยี่ยมค่ายผู้อพยพสำคัญๆ กว่า 200 แห่ง รวมทั้งค่ายผู้อพยพในอิรัก อัฟกานิสถาน ปากีสถานและซูดาน

ถ้อยแถลงเรียกร้องของนางโจลี มีขึ้นในช่วงที่ไทยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่ม กรณีผู้อพยพชาวโรฮิงญา ที่หนีตายออกจากพม่าทางเรือจนเข้ามาในน่านน้ำของไทย และถูกเจ้าหน้าที่ทหารไทยจับกุมตัว ก่อนจะลอยแพ ผลักดันให้ออกสู่ทะเลลึก โดยภายในเรือไม่มีเครื่องยนต์ หรือเสบียงอาหารที่เพียงพอ

นายเดวิด แมทธีสัน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าแห่งกลุ่ม "ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์" ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง จำเป็นที่สหประชาชาติและรัฐบาลไทยต้องเข้ามาสอบสวน เช่นเดียวกับ นายเบนจามิน ซาแว็คคี นักวิจัยแห่งองค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) กล่าวว่า ถ้ารายงานดังกล่าวเป็นความจริง กองทัพไทยจะพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าด้วยเรื่องอาหาร การขอที่พักพิง และสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์อย่างรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการสอบสวนโดยทันทีและอย่างถี่ถ้วน

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นายแซม ซาริไฟ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุในจดหมายเปิดผนึกว่า องค์การนิรโทษกรรมสากล ขอแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ชาวมุสลิมกลุ่มน้อยที่มาจากรัฐยะไข่ ภาคตะวันตกของประเทศพม่า เพื่อแก้ไขวิกฤติดังกล่าวจึงมีข้อเสนอแนะเร่งด่วนดังต่อไปนี้สำหรับรัฐบาลของประเทศบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย ดังนี้

1.ประเทศพม่า จะต้องยุติการข่มขู่คุกคามอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย สิ่งนี้เป็นสาเหตุที่รากเหง้าของวิกฤติครั้งนี้ 2.รัฐบาลทุกประเทศควรปฏิบัติตามพันธกิจที่มีต่อกฎหมายทางทะเล และให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยทางทะเล ทั้งในด้านการค้นหาติดตามและการช่วยชีวิต 3.รัฐบาลทุกประเทศควรอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาทุกคนที่อยู่ในดินแดนของตน สามารถเข้าถึงหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ และ 4.รัฐบาลทุกประเทศควรให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัย และพิธีสารปี 1967 และอนุสัญญาสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานะของผู้ไร้รัฐ

จดหมายเปิดผนึกยังระบุเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ชีวิตของบุคคลเหล่านี้อยู่ใต้ความเสี่ยง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ ตระหนักถึงพันธกิจของตนที่มีต่อกฎหมายทางทะเล ซึ่งมีผลบังคับใช้ในกรณีที่พบหรือจับกุมผู้พลัดถิ่นที่เดินทางอยู่กลางทะเล อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล กับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล ซึ่งประเทศบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า และไทย เป็นรัฐภาคี กำหนดให้ประเทศต่างๆ เหล่านี้ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล

พันธกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตามนอกเหนือจากพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล กำหนดให้รัฐภาคีจัดหาเรือที่ติดธงของประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือกับบุคคลใดก็ตามที่พบว่าประสบภัย หลงทาง และช่วยเหลือบุคคลนั้นระหว่างอยู่กลางทะเล โดยมีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลืออย่างไม่เลือกปฏิบัติในแง่ของสัญชาติ สถานภาพ หรือพฤติการณ์ของบุคคล นอกจากนั้น รัฐชายฝั่งต่างๆ มีหน้าที่จัดหาและดูแลให้มีการค้นหาและช่วยชีวิตตามจุดมุ่งหมายดังกล่าว ทั้งนี้ โดยผ่านความตกลงความร่วมมือในภูมิภาค

องค์การนิรโทษกรรมสากล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้ร่วมมือกันในการติดตามดูแลชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตเหล่านี้ ให้ช่วยส่งตัวบุคคลที่ได้รับความช่วยเหลือจากภัยทางทะเลไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยโดยทันที และประกันว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงกระบวนการแสวงหาที่พักพิงที่เป็นธรรมและเหมาะสม และเพื่อประเมินความต้องการในการคุ้มครองของพวกเขา และขอแสดงความยินดีที่นายกรัฐมตรีไทย ได้แถลงถึงเจตจำนงที่จะจัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยปัญหาของชาวโรฮิงญา โดยทางออกที่เสนอในระดับภูมิภาคต้องเป็นไปเพื่อประกันว่า ชาวโรฮิงญาซึ่งมีความหวาดกลัวจากภัยคุกคามในประเทศพม่า ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่มีหลักฐานสนับสนุนอย่างชัดเจน จะต้องไม่ถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน และผู้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองก็จะต้องถูกส่งกลับอย่างมีมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยจะต้องยุติการผลักดันส่งกลับชาวโรฮิงญา และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยทันที รวมทั้งยุติแผนการใดๆ ที่จะขับไล่บุคคลเหล่านี้ออกจากประเทศ

ตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึก องค์การนิรโทษกรรมสากล ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ไม่ส่งกลับบุคคลเหล่านี้และอนุญาตให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ สามารถเข้าถึงชาวโรฮิงญา ซึ่งอยู่ในประเทศของตนโดยทันที ทั้งนี้ เพื่อประเมินความต้องการในการคุ้มครอง และเพื่อประกันว่าจะไม่มีบุคคลใดต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศที่ถูกส่งกลับไป

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook