บะข่างโว่ เสียงก้องจากล้านนา
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
จาวรี ทองดีเลิศ
โว่...โว่...โว่...
เสียงลูกข่าง...ดังก้องไปพร้อมกับเสียงของเด็กๆ ที่ล้อมวงเล่นกันอยู่บริเวณลานบ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ได้ยินเสียงนี้ราวกับเป็นเสียงสะท้อนความเป็นล้านนาที่ยังไม่หายไปจากแผ่นดิน
"มันเป็นของเล่นของคนล้านนาครับ เวลาเล่นจะมีเสียง โว่...โว่...ก็เลยเรียกว่า บะข่างโว่" น้องซัน ประวิทย์ ชัยชนะ ละอ่อนเชียงใหม่บอกที่มาของชื่อของเล่นชิ้นโปรด
บะข่างโว่คือลูกข่างชนิดหนึ่ง พิเศษตรงที่มีเสียงดังด้วยหลักการภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของบรรพบุรุษ โดยการเกิดแรงดันของลมที่อัดเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ซึ่งเจาะรูเฉียง เมื่อกระบอกไม้ไผ่หมุน แรงดันลมจะทำให้เกิดเสียง โว่...โว่... ก้องไปทั่ว
"บะข่างโว่ของใครหมุนดังและนานที่สุดคือผู้ชนะ" น้องซันประกาศลั่นกับเพื่อนๆ ที่ล้อมวงประชันบะข่างโว่ด้วย
สิ้นเสียงท้าทาย มือน้อยๆ พร้อมกันชักเชือกส่งลูกข่างลงหมุนประชันบนลาน เสียงโว่...โว่...ดังประสานกันไปทั่วหมู่บ้าน ต่างคนต่างลุ้นบะข่างโว่ของตัวเองให้หมุนนานและดังที่สุด
"ในสมัยก่อนเสียงของบะข่างโว่ดังกว่านี้ เล่นแค่อันเดียวเสียงก็ดังไปถึงอีกหมู่บ้าน เพราะสมัยก่อนนั้นไม่มีเสียงเครื่องยนต์ ไม่มีเสียงอึกทึกวุ่นวาย เมื่ออีกหมู่บ้านได้ยินก็เล่นโต้ตอบกลับ เป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน" พ่อหลวงอานนท์ ไชยรัตน์ เล่าถึงการละเล่นที่สามารถสานความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้อย่างน่าประหลาดใจให้ซันและเด็กๆ ที่มารวมตัวกันที่ศูนย์การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา "สลีปิงใจแก้วกว้าง" ฟัง
ที่นี่คือสถานที่ถ่ายทอด เรียนรู้ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนาต่างๆ ทั้งการตีกลองสะบัดชัย การฟ้อน หรือการแสดง รวมถึงการเล่นบะข่างโว่ด้วย เด็กๆ บ้านสันทรายต้นกอกและละแวกใกล้เคียงจะมารวมตัวกันทุกเย็นหลังเลิกเรียน และวันเสาร์อาทิตย์ โดยมีพ่อหลวงอานนท์ ลุงพันธ์ รวมถึงลูกบ้านช่วยกันรื้อฟื้น ซึมซับความเป็นล้านนาให้ลูกหลานในชุมชน
ของเล่นพื้นบ้านอย่างบะข่างโว่ที่เคยหายไปจากหมู่บ้านช่วงหนึ่ง จึงกลับมาเป็นของเล่นสำหรับผู้คนในหมู่บ้านอีกครั้ง
จากที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า บะข่างโว่เป็นของเล่นที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้น เสียงของบะข่างโว่ที่คล้ายกับหวอเครื่องบินทิ้งระเบิด ทำให้ต้องหยุดเล่นไปช่วงหนึ่ง พอสงครามสงบลงชาวบ้านก็นำมาเล่นกันใหม่ ในสมัยปู่ย่าตายาย บะข่างโว่ยังเป็นของเล่นที่ชินหูชินตา แต่เมื่อวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน ของเล่นอย่างบะข่างโว่ก็เริ่มหายไปทีละน้อย จนแทบจะไม่ได้ยินเสียงโว่...โว่... จากหมู่บ้านอีกเลย
นับเป็นโชคดีที่ลูกหลานล้านนาได้มาเรียนรู้ ทั้งวิธีการทำ วิธีการเล่น ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่เด็กๆ มีสิ่งดึงความสนใจมากมาย ทั้งเกม อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีล้ำสมัย รวมถึงของเล่นต่างๆ ก็ทันสมัยขึ้นไม่แพ้กัน แต่เด็กๆ กลุ่มนี้เต็มใจและสนุกกับการได้มาเรียนรู้จากผู้ใหญ่ในชุมชนของเขาเอง
"เด็กๆ อาจจะยังทำเองไม่ได้ทั้งหมด เพราะเป็นงานไม้ใช้ทั้งมีด ทั้งเลื่อย เป็นของเล่นที่ทำค่อนข้างยาก ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำจนมันมีน้ำหนักเท่ากัน ต้องสมดุลกันทั้งหมด จึงจะเล่นได้ดี แต่เราก็สอนให้เขารู้ว่าทำอย่างไร โตขึ้นเขาก็จะทำได้เอง" ลุงพันธ์บอกเล่าความพยายามในการสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้ และหวังว่าเด็กๆ ในวันนี้จะเป็นผู้สืบสานกับลูกหลานล้านนารุ่นต่อไป
ทั้งกระบอกไม้ไผ่ที่ต้องกลมเท่ากัน ทั้งช่องรับลมหรือลิ้นที่ต้องเจาะทำมุมเอียง เพื่อให้เกิดเสียงเมื่อลมพัดหมุนเข้ามา คนถนัดขวาต้องเจาะลิ้นทางซ้าย คนถนัดซ้ายต้องเจาะลิ้นทางขวา หรือเดือยต้องให้ได้ขนาดพอดีกับกระบอกไม้ไผ่เพื่อให้เกิดความสมดุล เวลาเล่นจะได้หมุนนิ่งและนาน อีกทั้งไม้ที่นำมาปิดกระบอกไม้ไผ่ทั้งล่างและบนต้องใช้ขี้เลื่อยอุดด้วยกาวให้สนิท สำหรับเป็นกล่องเสียง
ถึงแม้วิธีการทำจะยาก ซับซ้อนเกินไปสำหรับเด็กๆ และวิธีการเล่นถึงแม้จะทำให้สับสนอยู่บ้างแต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของเด็กชายซัน
"ต้องพันเชือกก่อนครับ ดูว่าถ้าลิ้นอยู่ทางขวาเราก็ต้องพันเชือกไปทางขวา ถ้าลิ้นไปทางซ้ายเราก็พันเชือกไปทางซ้าย ถ้าเราพันผิดทางเสียงก็จะไม่ดังครับ และก็ดึงเชือกให้แรงพอดีๆ ต้องฝึกเล่นเรื่อยๆ ครับ แล้วเราก็จะหมุนได้ดีขึ้น" น้องซันบอกเล่า พลางมองผลงานการดึงบะข่างโว่ของตัวเองอย่างไม่ละสายตา
ท่ามกลางความเจริญของเมืองเชียงใหม่เช่นทุกวันนี้ จึงน่าชื่นใจไม่น้อยกับภาพกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ล้อมวงเล่นของเล่นพื้นบ้านสมัยเก่าก่อน ถึงแม้เสียงโว่...จากของเล่นนี้จะเบาลงกว่าเมื่อก่อน เพราะใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดเล็กลง ปรับเปลี่ยนเพื่อความสะดวกในการเล่น และไม้ไผ่ขนาดใหญ่ก็หายากขึ้นทุกวันๆ แต่อย่างน้อย เด็กๆ ก็ได้เห็นคุณค่าภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สร้างเสียงหัวเราะและความสนุกสนานได้ทุกเมื่อ
"เราอยากเล่นบะข่างโว่ครับ เพราะว่ามันสนุกดี และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการละเล่นสมัยก่อนเพื่ออนุรักษ์ไว้ครับ ผมชอบมาก ยิ่งตอนงานสรงน้ำพระธาตุ จะมีการแข่งขันบะข่างโว่ด้วย สนุกมากครับ" ซันกล่าวด้วยความภาคภูมิ
ทุกๆ ปี งานสรงน้ำพระธาตุวัดสันทรายต้นกอก ในวันวิสาขบูชาจะคึกคักด้วยเสียงเชียร์บะข่างโว่ ทั้งผู้เข้าร่วมแข่งขัน กรรมการ หรือผู้ให้กำลังใจข้างสนาม ทุกคนต่างสนุกสนาน
น้องซันฝากชวนทุกคนมาเที่ยวงานบุญวันวิสาขบูชาปีนี้ตรงกับวันที่ 8 เดือนพฤษภาคม จะได้มาดูและมาเล่นลูกข่างด้วยกัน
แต่เสาร์นี้พบกับลูกข่างพูดได้หรือบะข่างโว่ ของเล่นแสนสนุกของเด็กๆ สันทรายต้นกอก เชียร์และร่วมลุ้นลูกข่างเสียงดังของน้องซันและเพื่อนๆ ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน บะข่างโว่ เช้าวันเสาร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 www.payai.com