บุกร้องส.ว.เอเน็ต แผลงฤทธิ์ ทำนักเรียน 2หมื่นอดเรียนต่อ
เอเน็ต แผลงฤทธิ์ อีกแล้ว ! นร.ผู้ปกครอง แห่ร้องส.ว. ระบบอ่านบาโค้ดสกอ.ห่วย ทำเด็ก 2 หมื่น อดเรียนต่อ เดินหน้าฟ้องศาลปกครอง คุ้มครองชั่วคราว ด้าน อ.ศิลปากร ชี้ชัด สกอ. ผิดกม.อาญา ม.157 ละเว้นการปฎิบัติหน้าที่
(6ก.พ.) เวลา 11.00 น. ผู้ปกครองและนักเรียนกว่า 20 คนนำโดย น.ส.ศุภรัตน์ หล่ายกลาง นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมศึกษาวัดบึงทองหลาง ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.)ศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เนื่องจากถูกติดสิทธิเข้าทำการสอบเอเน็ต(A-Net)
น.ส.ศุภรัตน์ กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์และได้สมัครสอบเข้าศึกษาต่อสาขาแพทยศาสตร์ผ่านกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท.) โดยมีผลคะแนนที่อยู่ในระดับที่ทาง กสพท.จะรับพิจารณาเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย แต่ต้องใช้คะแนนสอบโอเน็ต(O-Net) และเอเน็ต(A-Net) ประกอบการพิจารณาเพื่อให้ได้รับการเข้าศึกษาต่อในคณะวิชาดังกล่าว เมื่อสมัครสอบเอเน็ตก็มีปัญหาเนื่องจากใบสมัครที่เป็นแบบฟอร์มอิเลคทรอนิคที่ทางกลุ่มรับสมัครเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นระบุว่าการสมัครจะสมบูรณ์เมื่อผู้สมัครได้ชำระเงินค่าสมัครเรียบร้อยเท่านั้น โดยมีระยะเวลาในการชำระเงินตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 - 14 มกราคม 2552 ดังนั้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ตนจึงได้ไปชำระค่าสมัครสอบยังที่ทำการไปรษณีย์ สาขาคลองจั่น แต่ผลปรากฏว่าเครื่องอ่านบาร์โค้ดของที่ทำการไปรษณีย์ไม่สามารถอ่านรหัสบาร์โค้ดได้ เพราะรหัสบาร์โค้ดไม่ชัดเจน แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามใช้วิธีอ่านจากรหัสตัวเลขแทนระบบยิงสแกนแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาว่าแบบฟอร์มที่ สกอ.จัดทำมานั้นมีไม่ครบ 38 ตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดได้
น.ส.ศุภรัตน์ กล่าวอีกว่า วันถัดมาตนจึงได้พยายามชำระเงินผ่านธนาคารหลายแห่งแต่ไม่สามารถชำระเงินได้ กระทั่งสามารถชำระเงินได้ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขารามคำแหง โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถสแกนบาร์โค้ดได้เช่นกัน แต่ก็ใช้วิธีการใช้เลขที่สมัครและเลขที่ประจำตัวประชาชนแทนจึงสามารถชำระเงินค่าสมัครสอบได้ ซึ่งต่อมาตนได้ตรวจสอบผลการชำระเงินกับเจ้าหน้าที่สกอ.ชื่อนางสุทธิรา คำสิน สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา กลุ่มรับบุคคลศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาพบว่ามีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้มีสิทธิสมัครสอบ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รับเงิน และตนไม่มีสิทธิเข้าสอบเอเน็ตและจะจัดการคืนเงินให้ภายหลัง
"เมื่อทราบว่าไม่สามารถเข้าสอบเอเน็ตได้ทำให้หนูรู้สึกเสียใจมาก เพราะการจะเข้าเรียนแพทย์ได้จะต้องใช้คะแนนเอเน็ตมาประกอบ การถูกตัดสิทธิครั้งนี้เท่ากับเป็นการปิดหนทางไม่ให้เข้าเรียนตามที่ตั้งใจไว้ แม้คะแนนของหนูจะสูงในระดับที่จะเข้าศึกษาได้ก็ตาม ทราบว่ามีนักเรียนจากทั่วประเทศกว่า 2 หมื่นคนไม่สามารถสมัครสอบได้ เนื่องจากมีปัญหาในการชำระเงินด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงอยากขอความเป็นธรรมจากวุฒิสภา เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยไปยื่นหนังสือที่สกอ.แล้ว แต่กลับปฏิเสธที่จะฟังคำชี้แจง โดยนางศศิธร อหิงสโก ผอ.การสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา ระบุว่าใบสมัครของหนูเป็นโมฆะ ทั้งที่ใบสมัครของสกอ.เองมีปัญหา แต่เขาก็ไม่ฟังรายละเอียด" น.ส.ศุภรัตน์ กล่าว
ด้านนายศุภชัย หล่ายกลาง ผู้ปกครอง น.ส.ศุภรัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยไปยื่นหนังสือถึงนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ.แล้ว แต่ก็มีผู้แทนมารับหนังสือแทน ซึ่งเราก็รับทราบข้อมูลจากสื่อกรณีที่นักเรียนเข้าร้องเรียนให้สกอ.ขยายเวลาในการชำระเงินและการสมัครสอบ แต่นายสุเมธกลับบอกว่าจะไม่ขยายเวลาและบอกให้นักเรียนที่ถูกตัดสิทธิไปเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏหรือมหาวิทยาลัยเอกชนแทน ทั้งนี้มีข้อมูลว่านายสุเมธเป็นกรรมการของมหาวิทยาลัยเอกชนหลายสถาบันจึงสงสัยว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่
ขณะที่นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนายสุวินัย นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเตรียมอุดม ที่ถูกตัดสิทธิอีกคนกล่าวว่า มีปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการชำระเงิน เพราะจากการสมัครผ่านระบบออนไลน์แล้วระบบบอกว่าจะแจ้งกำหนดการชำระเงินในภายหลังและให้ติดตามได้จากเว็บไซด์ของสกอ. แต่จากประกาศก็ยังระบุให้ดูจากปฏิทินของ สกอ. เมื่อตรวจสอบในเว็บไซด์ สกอ.กลับไม่มีปฏิทินดังกล่าว
"เมื่อพวกเรารวมตัวกันยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คำแรกที่นายกฯ บอกว่าทำอะไรไม่ได้ เพราะเลยช่วงเวลาการชำระเงินแล้วและเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของ สกอ. และเมื่อไปยื่นหนังสือต่อนายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รมว.ศึกษาธิการ กลับมอบหมายให้เลขานุการฯ มารับหนังสือแทนและบอกว่าทำอะไรไม่ได้เช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้เราคงต้องไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อให้ขอคุ้มครองชั่วคราว โดยจะดำเนินการก่อนวันที่14 ก.พ.ที่จะมีการประกาศวันที่นั่งสอบและจะมีการสอบเอเน็ตในวันที่ 28 ก.พ.นี้ ซึ่งก็ได้อ่านกระดานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเด็กที่เจอปัญหาเช่นเดียวกันว่าถ้าหากไม่ได้เข้าสอบเอเน็ตก็จะฆ่าตัวตาย" นายพิสิฐ กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวว่า จะรับเรื่องนี้ไว้และนำเข้าสู่การพิจารณาของกมธ.อย่างเร่งด่วนที่สุด โดยจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนก่อนวันที่ 14 ก.พ. เพราะจากที่ได้รับข้อมูลถือเป็นการผลักภาระของ สกอ.ให้เป็นความผิดพลาดของเด็ก ถ้านายกฯ และ รมว.ศึกษาธิการ แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ก็ไม่ทราบว่าใครจะแก้ปัญหานี้ได้ เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับนักเรียนกว่า 2 หมื่นคนไม่ใช่เรื่องเล็ก ซึ่งการที่จะดำเนินนโยบายประชานิยมก็ต้องทำให้คนนิยมก่อน ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายว่าประชาชนต้องมาก่อน แต่กลับบอกว่าทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องรอให้เด็กตายก่อน ดังนั้นไม่อยากให้เด็กตายก่อนจึงมาแก้ไขปัญหา
ด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ อดีตรองอธิการมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การกระทำของ สกอ.ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 เพราะถือเป็นการละเลยและงดเว้นการรับรองสิทธิการเข้ารับการศึกษาของประชาชน โดยใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจไม่นำข้อมูลที่เป็นจริงพิจารณาให้ถ่องแท้นำมาซึ่งการตัดสิทธิการศึกษาของนักเรียนหลายหมื่นคนและความผิดพลาดเช่นนี้ก็เกิดขึ้นซ้ำซาก แต่สกอ.กลับปฏิเสธที่จะแก้ไขความผิดพลาด