คุมตัว 5 ผู้ต้องสงสัยซิงเกิ้ลเกตเวย์สอบ ขยายผลจับอีกกว่า100 คนโจมตีเว็บรัฐบาล

คุมตัว 5 ผู้ต้องสงสัยซิงเกิ้ลเกตเวย์สอบ ขยายผลจับอีกกว่า100 คนโจมตีเว็บรัฐบาล

คุมตัว 5 ผู้ต้องสงสัยซิงเกิ้ลเกตเวย์สอบ  ขยายผลจับอีกกว่า100 คนโจมตีเว็บรัฐบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 23 ธ.ค. 59 – แหล่งข่าวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยถึงการเชิญตัวกลุ่มพลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์ ว่า เจ้าหน้าที่ด้านไซเบอร์ได้ติดตามพฤติกรรมกลุ่มต้องสงสัย 5 คน มาระยะหนึ่งเเล้วโดยมีพฤติกรรมโจมตีเจาะเว็บไซต์หน่วยงานราชการ ทางเจ้าหน้าที่ คสช. จึงเชิญตัวมาให้ข้อมูลที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 22 ธ.ค.

เบื้องต้น ทั้งหมดได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และคาดว่าจะสามารถขยายผลไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกเกือบ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่มีความคึกคะนอง

"ขณะนี้เรามีข้อมูลเอาผิดบุคคลต้องสงสัยทั้ง 5 คน และกำลังดำเนินการสอบสวนขยายผลเพิ่มเติม หลังครบ 7 วัน จะนำตัวส่งพนักงานสอบสวนและส่งฟ้องศาลพลเรือน ส่วนความผิดนั้นเกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และต้องดูที่เจตนาด้วยว่า ทำลายความมั่นคงประเทศหรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นมีความชัดเจนว่า เข้าข่าย เพราะไปโจมตีกรมบัญชีกลางและเว็บไซต์หน่วยงานราชการ เพื่อต้องการให้เว็บไซต์ล่ม"แหล่งข่าวจาก คสช. กล่าว

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแฮกเกอร์ "Anonymous" เจาะข้อมูลเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ รวมถึงยังเจาะข้อมูลของประชาชน ว่า หากมีการแฮกข้อมูลของประชาชนจริง ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน ประชาชนที่ถูกเจาะข้อมูลต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบดำเนินการหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นอยู่ส่วนบุคคล

ส่วนกรณีที่หน่วยราชการถูกแฮกเกอร์ข้อมูลหลายหน่วยงานนั้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็ต้องเร่งหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้ถูกการแฮกข้อมูลได้ เพราะถือเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งหาคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้

"เท่าที่ทราบจากข่าวการกระทำของกลุ่มดังกล่าวเป็นการต่อต้านต่อต้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยมีการรณรงค์ให้กด F5 บนแป้นพิมพ์คีย์บอร์ดเรื่อย ๆ ในเว็บที่ต้องการให้ล่มหรือเว็บหน่วยงานต้องการแฮกข้อมูล ซึ่งกรณีนี้หากประชาชนคนใดที่ถูกแฮกข้อมูลเข้าร้องเรียนต่อ กสม. ทาง กสม. จะทำการสืบสวนสอบสวนโดยเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สังคมได้ระบบผลกระทบในการละเมิดสิทธิโดยทั่วกัน กสม.ก็สามารถหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาได้" นางอังคณา กล่าว

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามข่าวที่เกิดขึ้นกับเพจต่าง ๆ ที่มีการแชร์ว่ามีหลายเว็บไซต์ของส่วนราชการถูกแฮกนั้น จากการตรวจสอบยังไม่พบว่ามีเพจใดได้รับความเสียหายหรือถูกเข้าถึงข้อมูลชั้นความลับ ซึ่งเชื่อว่าผู้กระทำการดังกล่าวต้องการดิสเครดิตภาคราชการเท่านั้น ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่าสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว 5 รายนั้น ยังไม่ได้รับรายงานและขอเวลาในการตรวจสอบก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook