เผยข้อมูลใหม่ "ไททานิก" ไม่ได้ล่มเพราะชนภูเขาน้ำแข็งอย่างเดียว
นักข่าวอังกฤษเผยทฤษฎีใหม่ ที่ทำให้เชื่อว่า "ไททานิก" เรือที่เลื่องชื่อ ไม่ได้ล่มเพราะชนภูเขาทำแข็งเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เรื่องราวของเรือสำราญชื่อดัง "ไททานิก" กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังย่างเข้าสู่ปี 2017 ใกล้จะครบรอบ 105 ปีของเหตุโศกนาฏกรรมของเรือลำดังกล่าว แต่มีการเปิดเผยข้อมูลใหม่ ที่เชื่อว่าการชนภูเขาน้ำแข็ง ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เรือล่ม
นายฌอห์น โมโลนี นักข่าวชาวอังกฤษได้ทำการตรวจสอบข้อมูลและสืบสวนวิจัยถึงสาเหตุการอับปางลงของเรือไททานิก กลายเป็นสารคดีชุดใหม่ที่ชื่อว่า "ไททานิกกับหลักฐานใหม่" ซึ่งออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ แชนแนล 4 ประเทศอังกฤษ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
จากข้อมูลใหม่ที่ถูกเปิดเผย ทำให้พบว่าข้อสันนิษฐานว่าเรือไททานิกอับปางลงเพราะชนภูเขาน้ำแข็ง ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม แต่ยังมีความบกพร่องในห้องไอน้ำ ที่อยู่ด้านใต้ท้องเรือ ซึ่งห้องไอนน้ำนี้เป็นหนึ่งในพลังงานที่ช่วยขับเคลื่อนเรือ และกลายเป็นอีกปัญหาใหญ่
นายฌอห์น เปิดเผยว่า อุณหภูมิความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นมากด้านในท้องเรือ จากไอน้ำที่ไร้การควบคุมของเรือไททานิก ทำให้ลดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเรือ และยังทำให้ตัวลำเรือไม่มีความทนทานต่อการปะทะกับภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งจุดที่เปราะบางของเรือลำนี้ในคืนวันที่เกิดเหตุ เพราะภายในร้อนเกือบจะหลอมเหลว แต่ภายนอกเผชิญกับน้ำทะเลเย็นยะเยือก
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้นักข่าวชาวอังกฤษผู้นี้ ไม่เชื่อว่าการชนภูเขาน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว จะทำให้เรือไททานิกอับปางลงได้ นายฌอห์น ที่ได้ทำการค้นหาและสืบเสาะข้อมูลเกี่ยวกับเรือไททานิกมาตลอด 30 ปี ทฤษฎีของเขาสอดคล้องกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบนเรือไททานิก ที่ยืนยันว่ามีเหตุเพลิงไหม้อยู่ตลอดในห้องไอน้ำของเรือ แม้กระทั่งวันที่ออกจากอู่ต่อเรือไปยังท่าเรือเซาท์แฮมตัน เพื่อจะออกเดินเรือสู่มหาสมุทร ก็ยังคงมีเหตุเพลิงไหม้
นอกจากนี้ จากการสอบสวนครั้งนั้นยังมีข้อมูลว่า กัปตันเอ็ดเวิร์ด สมิธ แห่งเรือไททานิก ก็ทราบถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นในห้องไอน้ำเป็นอย่างดี แต่ขอให้ปกปิดข้อมูลเอาไว้เป็นความลับ เพื่อรักษาบรรยากาศในการเดินทาง คำสั่งเร่งความเร็วเต็มกำลัง เพื่อมุ่งหน้าไปยังปลายทางของกัปตันเอ็ดเวิร์ด อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ในห้องไอน้ำรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายฌอห์น ไม่ใช่คนแรกที่พบทฤษฎีดังกล่าว เมื่อปี 2008 นักวิชาการ นายเรย์ บอสตัน ก็เคยพบแนวคิดที่คล้ายกันนี้ โดยเชื่อว่าเหตุเพลิงไหม้จากห้องไอน้ำ น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เรือไททานิกอันเลื่องชื่อเกิดอับปางลง ไม่ใช่เพียงแค่ชนภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น