ดราม่ามุงถ่ายคลิป ไม่ช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุ ผิดกฎหมายหรือไม่?
แฟนเพจ ทนายคู่ใจ ระบุ ประชาชนห่วงถ่ายคลิปเหตุการณ์อุบัติเหตุโดยไม่ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ผิดกฎหมายอาญา ขณะที่เพจ Law Inspiration โต้ การปรับหลักกฎหมายมาใช้กับแต่ละเหตุการณ์ ต้องดูองค์ประกอบ หากย่อมคาดหมายได้ว่า อันตราย ควรรอผู้เชี่ยวชาญมาให้การช่วยเหลือ
หลังเกิดเหตุการณ์สลดช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่รถตู้โดยสารกรุงเทพฯ-จันทบุรี พุ่งชนรถกระบะ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 25 ราย และ บาดเจ็บ 2 ราย ที่ถนนสาย 344 อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ก็ได้มีดราม่าบนโลกออนไลน์ จากกรณีที่มีชายคนหนึ่งออกมาระบุว่า ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์พยายามแค่จะถ่ายคลิป โดยไม่มีใครสนใจช่วยผู้บาดเจ็บ
ด้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ทนายคู่ใจ ออกมาระบุเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๔ ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยญาติของผู้ประสบอุบัติเหตุสามารถจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนยืนถ่ายคลิปได้
ขณะที่ล่าสุด แฟนเพจ Law Inspiration ได้ออกมาตอบโต้ว่า “กฎหมายอาญา มีทั้ง "งดเว้น" และ "ละเว้น" ต้องดูเจตนาด้วยครับ การเข้าไปช่วยผู้อื่นนั้น ก็ต้องเป็นกรณีที่สามารถช่วยได้ และไม่เป็นภัยกับตัวเอง ไม่ใช่ว่าตัวเองเข้าไปช่วย แล้วอาจถูกไฟคลอกตายไปด้วย กฎหมายไม่ได้ต้องการแบบนี้ครับ”
พร้อมทั้งระบุเพิ่มว่า “ดังนั้น ในกรณีรถชนกันรุนแรง ซึ่งวิญญูก็ย่อมคาดหมายได้ว่า อาจจะเกิดไฟลุกไหม้ (เพราะเห็นกันหลายเคสแล้ว) การไม่เข้าไปช่วยจึง "ไม่ผิด" ครับ ที่สำคัญ การช่วยคนเจ็บ ถ้าไม่มีความรู้เพียงพอ ก็อาจทำให้คนเจ็บนั้นเจ็บหนักขึ้นไปอีกดังนั้น การจะปรับหลักกฎหมายมาใช้กับแต่ละเหตุการณ์ ต้องดูองค์ประกอบด้วยครับ”