แอร์พอร์ตเรลลิงก์ แจง 3 ข้อ หลัง “สามารถ” โพสต์อัด
ส่วนสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ชี้แจงว่า รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ขอชี้แจงถึงความเข้มงวดในการกวดขันการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการของผู้โดยสาร ภายหลังจากที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุคส่วนตัวพาดพิงถึงระบบการซ่อมบำรุงของบริษัทฯ จนอาจสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ผู้โดยสารที่ใช้บริการ
บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า จากที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวพาดพิง และระบุถึงระบบการซ่อมบำรุงของบริษัทฯว่ามีปัญหาในการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ บริเวณโค้งลาดกระบังมีการชะลอความเร็วจาก 45 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) เป็น 30 และ 15 กม./ชม.ตามลำดับ
ซึ่งมีการให้ข้อมูลภายในว่าแผ่นเหล็กประกบราง (หรือเหล็กรองรับราง) เคลื่อนตัวเนื่องจากนอตยึดแผ่นเหล็กหลุด เพราะตัวพุกที่ใช้ยึดไม่ยึดติดกับคอนกรีต จึงจำเป็นต้องลดความเร็วลง หากไม่ลดความเร็วอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ และตามรายงานของฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาระบุว่าจะต้องซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กประกบรางถึง 159 จุด แบ่งเป็นจุดวิกฤต 59 จุด ไม่วิกฤต 100 จุด
โดย นายสามารถ ระบุว่า บริษัทฯ ไม่มีการซ่อมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ จนทำให้เกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งยังระบุพาดพิงด้วยว่าสาเหตุที่เกิดปัญหาขึ้นเป็นเพราะผู้บริหารบางคนต้องการว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งให้มาทำการซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่มีการประมูล หรือไม่มีการแข่งขัน เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายนั้น และมีการระบุว่าเอกชนรายนั้นไม่มีประสบการณ์การซ่อมบำรุงรักษางานดังกล่าว เมื่อได้รับงานแล้วก็ไปว่าจ้างต่ออีกด้วย ตามปรากฎเป็นข่าวในสื่อออนไลน์นั้น
บริษัทฯขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และขอชี้แจงรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.โดยปกติแล้วบริษัทจะมีการซ่อมบำรุงรักษา หรือที่เรียกว่าซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ จะมีการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) ทุก 4 เดือน และทำการตรวจสอบซ่อมบำรุงตาม (Overall Project Management) OPM – 0070 หรือคู่มือซ่อมบำรุงของผู้วางระบบฯ ที่ระบุว่าชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางจะต้องมีการเปลี่ยนทุก 10 ปี ซึ่งบริษัทฯได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง มาเป็นระยะเวลา 9 ปี
ทั้งนี้อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางทั้งระบบรถไฟฟ้าระยะทาง 28 กิโลเมตร มีประมาณ 400,000 ตัว สำหรับบริเวณทางโค้งลาดกระบังระยะทาง 3 กิโลเมตร มีประมาณ 20,000 ตัว โดยเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารบริษัทฯได้ดำเนินการแก้ไขชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางบริเวณทางโค้งลาดกระบังไปแล้ว 160 จุด ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 – พฤษภาคม 2559 และบริษัทฯได้เสริมกำลังคนเพิ่มเติมในวิศวกรรมระบบรางตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) จากเดิมทุก 4 เดือนเป็นทุก 1 เดือน
2.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร และจากการเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทุกๆ 1 เดือน ทำให้ตรวจพบในเดือนกันยายน 2559 ว่าจะต้องมีการซ่อมบำรุงแก้ไข จำนวน 159 จุด ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผนการซ่อมบำรุงรักษาตามวาระแล้วต่อมาเดือนธันวาคมได้ทำการตรวจสอบ และประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) พบว่ามีจุดที่ต้องดำเนินการซ่อมบำรุงแก้ไขทันที 50 จุด ตามเอกสารประเมินความเสี่ยง (Risk Assetment) โดยส่วนความปลอดภัยและคุณภาพของบริษัทฯ ซึ่งทำให้บริษัทฯต้องดำเนินการแก้ไขทันทีเพื่อความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟฟ้า
3.สำหรับบริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางนั้น เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงราง ให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยรวมถึงเป็นผู้ชนะการสอบราคาของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ในโครงการจ้างตัดต่อรางบริเวณรอยเชื่อมบนทางประธานและทำการตรวจสอบวิเคราะห์สภาพความทนทานต่อการใช้งาน และทดสอบความแข็งแรงรอยเชื่อมแบบ Thermit ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานซ่อมบำรุง และมูลค่างานในการจ้างซ่อมชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางมีมูลค่า 250,000 บาท
ทั้งนี้ในการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางในจุดที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที 50 จุดนั้น บริษัทฯได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยคณะประเมินความเสี่ยงได้ทำการประเมินความปลอดภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับรูปภาพที่ได้ปรากฏในเฟซบุ๊คของนายสามารถ และสื่อออนไลน์นั้น เป็นรูปภาพของอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่โรงล้างรถไฟฟ้า ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง และอยู่ในแผนงานซ่อมบำรุงตามวาระแล้ว