“เมียนมาเซ็นเตอร์” แหล่งรวมมิตรภาพของคนพลัดถิ่น

“เมียนมาเซ็นเตอร์” แหล่งรวมมิตรภาพของคนพลัดถิ่น

“เมียนมาเซ็นเตอร์” แหล่งรวมมิตรภาพของคนพลัดถิ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงสายๆ ของวันเสาร์-อาทิตย์ ภายนอกอาคารบิ๊กซีสาขาลาดพร้าว (ห้างอิมพีเรียล สาขาลาดพร้าวเก่า) ยังร้างไร้ผู้คน หากแต่บริเวณลานสเก็ตชั้น 7 กลับคลาคล่ำไปด้วยกลุ่มวัยรุ่นชาวเมียนมา

2a_1

“ขี่สเก็ต” ภาษาแทนการเล่นสเก็ตที่พวกเขาใช้เรียกกันจนคุ้นปากกลายเป็นกิจกรรมสุดฮิตที่ไม่ว่าคุณจะมาจากพื้นที่ไหนของเมียนมา เมื่อคุณมาที่นี่ ทุกคนคือเพื่อนกัน เพราะสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนพรมแดนแห่งอิสระเสรีที่เปิดกว้างสำหรับผู้คนทุกเชื้อชาติทุกเผ่าพันธุ์โดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหนเมื่อคุณมาที่นี่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด 

ลานสเก็ตแห่งนี้ไม่ได้มีชื่อเรียกชัดเจน หากแต่จะเรียกเป็น “เมียนมาเซ็นเตอร์” ตามความเข้าใจเหมือน “สยามเซ็นเตอร์” ทีนโซนสุดฮิตของคนไทยก็ไม่แตกต่างกัน เพราะหนุ่ม-สาวชาวเมียนมามักจะมารวมตัวกัน “ขี่สเก็ต” สังสรรค์ อัพเดทแฟชั่น เสื้อผ้า หน้าผมกันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เสมอ

3a_1

ย้อนหลังกลับไป 3 ปีก่อน พื้นที่บริเวณนี้เป็นเพียงลานโบว์ลิ่งร้างที่เจ้าของเดิมปิดตายมากว่า 8 ปี จนกระทั่งหนึ่งในผู้บริหารลานสเก็ตปัจจุบันเข้าไปเทคโอเวอร์ปรับเปลี่ยนสถานที่เป็นลานโบว์ลิ่งและเปิดพื้นที่เป็นที่เล่นสนุกเกอร์แทน

แต่เมื่อทำไปสักระยะหนึ่งผู้ที่เข้ามาใช้บริการเริ่มเล่นการพนัน มีการสูบบุหรี่ทำให้เกิดควันบุหรี่ลอยเต็มไปหมด หนึ่งในหุ้นส่วนจึงเริ่มกลับมาคิดใหม่และเปลี่ยนจากโต๊ะสนุกเป็นลานสเก็ตแทน โดยไม่ได้คาดว่าจะมีวัยรุ่นชาวเมียนมาหลายเชื้อชาติทั้ง ไทใหญ่,กะเหรี่ยง,คะฉิ่น,คะยา,มอญ มาใช้บริการ

4a_1

สาเหตุที่สถานที่แห่งนี้กลายเป็นจุดนัดพบของวัยทีนชาวเมียนมาเกิดจากสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเข้ามาเปิดออฟฟิศให้แรงงานต่างด้าวต่ออายุวีซ่าและพาสปอร์ตการทำงานที่นี่ ทำให้เมื่อเสร็จธุระวัยรุ่นเหล่านั้นจึงเข้ามาใช้บริการลานสเก็ตแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

และที่สำคัญการได้มาเที่ยว ณ ที่แห่งนี้ทำให้พวกเหล่านั้นสามารถปลดปล่อยความสุข ความอิสระเสรีได้ไม่มีขีดจำกัด ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นที่บางครั้งพวกเขาถูกจำกัดสิทธิเพียงเพราะเป็นคนต่างด้าวพลัดถิ่นจึงหมดโอกาสที่จะได้ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน

5a_1

โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญทางศาสนาชาวเมียนมาก็จะเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากเนื่องจากในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีสถานที่ให้พวกเขาพบปะสังสรรค์กัน เมื่อมีการชักชวนกันแบบปากต่อปากลานสเก็ตแห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางที่วัยรุ่นชาวเมียนมามารวมตัวกันในช่วงวันหยุด

6aโม หญิงสาวเชื้อชาติปะโอ

โม หญิงสาวเชื้อชาติปะโอ อายุ 19 ปี เธอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตามพี่สาวตั้งแต่อายุ 15 รับจ้างเป็นพี่เลี้ยงเด็กและทำงานบ้าน จะได้กลับบ้านก็เป็นช่วงวันหยุดยาวอย่างช่วงสงกรานต์

 “รู้จักที่นี่เพราะแฟนเคยพามาเที่ยว ถ้าไม่มาที่นี่ก็ไปปั่นจักรยานที่สวนรถไฟ หรือไม่ก็ไปรวมตัวกันที่เซ็นทรัลพระราม 2 สวนหลวงร.9 แต่โมชอบมาที่นี่เพราะจะมาขี่สเก็ต และยังได้เจอเพื่อนๆ ด้วย”

สำหรับโมเข้ามาอยู่เมืองไทยนานหลายปี จึงค่อนข้างผูกพันและรักเมืองไทยมาก เพราะเธอรู้สึกว่าคนไทยใจดี

“อยู่ที่บ้านลำบากไม่มีไฟฟ้าใช้ และก็ไม่มีงานให้ทำ งานส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างไปทำนา ทำไร่ บ้านโมไม่มีที่ทำกินก็อาศัยหาของป่าเป็นอาหาร แต่พอมาทำงานในเมืองไทยแล้วก็รู้สึกว่าความเป็นอยู่ดีขึ้น”

7aโม หญิงสาวเชื้อชาติปะโอ

แม้ทุกคนจะไม่ยอมแพ้กันเรื่องเสื้อผ้าแต่ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ในหลวงรัชกาลที่ 9 วัยรุ่นทุกคนรับทราบและส่วนใหญ่ก็จะแต่งกายไว้ทุกข์รวมถึงน้องโมด้วย

8aเอ็ม หรือทู้ ชาวไทยใหญ่

หนุ่มวัยรุ่นผู้รักเสียงเพลง “เอ็ม หรือทู้" ชื่อจริงตามภาษาของชาวไทยใหญ่ เอ็มดูจะคุ้นเคยกับเมืองไทยดี เพราะเขาเข้ามาทำงานครั้งแรกที่เชียงใหม่ได้ 1 ปี จากนั้นก็เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ 3 ปีพร้อมคุณพ่อและคุณแม่ เรียกได้ว่ามากันทั้งครอบครัว

“ผมรู้จักที่นี่จากสื่อออนไลน์หลังมีคนถ่ายรูปแล้วแชร์กันทางโซเชียล ผมจึงเข้าไปถามว่าที่นี่ที่ไหน เขาก็บอกว่าบิ๊กซีลาดพร้าว ตั้งแต่นั้นผมก็มาเที่ยว มาขี่สเก็ตที่นี่ เล่นมากว่า 1 ปีแล้ว นอกจากได้ขี่สเก็ตแล้วยังได้เจอเพื่อนๆ อีกด้วย”

เอ็มหนุ่มผู้มีดนตรีในหัวใจจัดเต็มเรื่องการแต่งกายทุกครั้ง “บางทีเรามาเจอเพื่อนหรือเจอสาวๆ ที่นี่ ก็อยากให้ดูดีในสายตาเขา ไม่อยากให้คนอื่นมองว่าเราดูแย่ดูสกปรก จึงต้องจัดเต็มทุกครั้งที่ออกมาเที่ยว ผมก็ต้องเซ็ตให้ดูหล่อเข้าไว้ สไตล์เสื้อผ้าที่ชอบคือแนวร็อคตามพวกนักดนตรีที่เราชอบ”

9aวีระเด นี้นุ้ย ชาวกะเหรี่ยง

ด้านสาวหล่อ วีระเด นี้นุ้ย ชาวกะเหรี่ยง เข้ามาอยู่เมืองไทยกับคุณแม่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ พออายุ 12-13 เริ่มทำงาน ตอนนี้เป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารแถวโชคชัย 4 รายได้เดือนละ 9,500 บาท ส่วนใหญ่ชอบมาขี่สเก็ต บางครั้งก็ชกมวย

“รู้จักที่นี่เพราะเพื่อนชวนมาเที่ยว ส่วนใหญ่มาขี่สเก็ต ถ้าไม่มาที่นี่ก็ไปสวนจตุจักรไปปั่นจักรยาน และในกรุงเทพฯไม่ค่อยมีที่ให้เที่ยวด้วยเนื่องจากว่าเป็นคนต่างประเทศก็ไม่รู้ว่าจะไปเที่ยวที่ไหนที่มีคนพลัดถิ่นเหมือนกันและบางที่เค้าก็ไม่ให้เราเข้าไปเที่ยวก็มี แตกต่างจากที่นี่ที่มีเพื่อนๆและได้รู้จักเหมือนอยู่บ้าน”

10a_1

ซึ่งจากสถิติของกรมการจัดหางานประจำปี 2559 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่เป็นชาวเมียนมาขึ้นทะเบียนทำงานทั่วราชอาณาไทยจำนวน 723,360 คน และพวกเขาเหล่านี้ถึงแม้ว่าจะอาศัยทำมาหากินในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่สิทธิเสรีภาพที่ได้รับกลับไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสถานบันเทิงหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องใช้บัตรประชาชน เพราะบางครั้งคำว่า “ต่างด้าว” อาจจะทำให้ใครบางคนที่ไม่เข้าใจคิดว่าพวกเค้าคือตัวปัญหา

แต่ ณ เมียนมาเซ็นเตอร์ แห่งนี้ ตัวแทนวัยรุ่นเมียนมาทั้ง 3 คน พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้จะต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ แต่เพราะความเข้าใจในหัวอกคนไกลบ้าน ที่ต้องเข้ามาเสี่ยงโชคทำงานต่างบ้านต่างเมือง พวกเขาจึงมารวมตัวกันจากความเหงา

และความคิดถึงบ้านเกิดทั้งหลายจึงถูกแทนที่ด้วยความสุข มิตรภาพและรอยยิ้มของคนบ้านเดียวกัน นี่คือนิยามของสถานที่แห่งนี้และเป็นพื้นที่ของทุกๆคนที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook