โรลส์-รอยซ์ ย่องพบ ผู้บริหารการบินไทย สื่อสารองค์กรงดให้ข่าว
อาจจะยังตอบไม่ได้ว่าจะเชื่อมโยงเอาผิดถึงใครได้บ้าง สำหรับผลการสอบสวนสำนักงานต่อต้านทุจริตของสหราชอาณาจักร หรือ SFO ที่ปรากฎข้อมูลบริษัทโลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การบินไทยกว่า 1,200 ล้านบาท แต่อย่างน้อยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ยอมรับว่าข่าวที่เกิดขึ้นส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
วันนี้ (20 ม.ค. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการกล่าวยอมรับอย่างไม่อ้อมค้อมของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า ข้อมูลที่ปรากฎพบพนักงานและผู้บริหารการบินไทยรับเงินสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ
โดย นายดอน กล่าวว่า รัฐบาลมีความโปร่งใสเพียงพอในการตรวจสอบเรื่องนี้ และนายกรัฐมนตรีมนตรีทราบเรื่องแล้ว หลังจากนี้ขอเวลาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ
ด้านความเคลื่อนไหวที่สำนักงานใหญ่การบินไทย ซึ่งวันนี้มีการแจ้งกำหนดการเข้าหารือระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับผู้แทนบริษัทโรลส์-รอยซ์ ทำให้สื่อมวลชนเฝ้าติดตามตั้งแต่เช้า แต่ไม่พบ จนกระทั่งฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทการบินไทยแจ้งว่า ตัวแทนบริษัทโรลส์-รอยซ์ เดินทางมาตั้งแต่เวลา 11.00 น. และได้กลับไปแล้ว โดยการพูดคุยกันวันนี้เป็นการหารือภายใน จึงไม่ได้แจ้งให้สื่อสารมวลชนรับทราบ และก็ยังไม่มีกำหนดการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารการบินไทยแต่อย่างใด
ทั้งหมดจึงยืนยันตามที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทการบินไทยให้สัมภาษณ์วานนี้ (19 ม.ค. 60) คือ คาดว่าจะใช้เวลาตรวจภายในองค์กรได้ไม่เกิน 15 วัน ตามกรอบเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขีดเส้นไว้ 30 วัน
สำหรับช่วงเวลาที่สำนักงานต่อต้านทุจริตของสหราชอาณาจักร หรือ SFO ตรวจสอบพบ บริษัทโรลส์-รอยซ์จ่ายสินบนจำนวน 1,253 ล้านบาทให้กับพนักงานและผู้บริหารการบินไทย ในการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม 3 ครั้ง คือ ระหว่างปี 2534 – 2548 ในช่วงนั้นอยู่ในการบริหารงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD การบินไทย 5 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.วีระ กิจจาทร, ร.ต.ท.ฉัตรชัย บัญยะอนันต์, นายธรรมนูญ หวั่งหลี, นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ และนายกนก อภิรดี
ส่วนระดับนโยบายในช่วง 14 ปีที่ปรากฎข้อมูลจ่ายสินบน เชื่อมโยงกับหลายรัฐบาล โดยการจัดซื้อครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2534 - 2535 อยู่ในช่วงการบริหารประเทศของรัฐบาลรสช. จัดซื้อครั้ง 2 ระหว่างปี 2535 – 2540 มี 3 รัฐบาลเกี่ยวข้อง คือ รัฐบาลนายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และจัดซื้อครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547 - 2548 เป็นรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งปรากฎข้อมูลว่ามีนัดพิเศษกินข้าวกับรัฐมนตรีคนหนึ่งในขณะนั้นเพื่อไฟเขียวให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติสัญญา