พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่ เปิดช่องญาติเอาผิดแชร์ภาพคนตาย ปรับหนัก 2 แสน

พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่ เปิดช่องญาติเอาผิดแชร์ภาพคนตาย ปรับหนัก 2 แสน

พ.ร.บ.คอมพ์ใหม่ เปิดช่องญาติเอาผิดแชร์ภาพคนตาย ปรับหนัก 2 แสน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้ลงประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งมาตรา 2 เขียนไว้ว่า พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หมายความว่าอีก 120 วัน หรือ 4 เดือน นับจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จะใช้แทน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  

วันนี้มาดูกันว่าความแตกต่างของ พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 กับ พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 มีอะไรบ้าง? และมาตราไหนกระทบกับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป?

นายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กล่าวว่า พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 ได้เพิ่มเติมเรื่องของการบอกรับและการบอกเลิกรับอีเมล ที่ผู้ให้บริการต้องบอกวิธีการให้ชัดเจน รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 จะมีเรื่องผลกระทบ ความเสียหาย ที่เกี่ยวกับบุคคลมากขึ้น

ยกตัวอย่าง   มาตรา 14 ผู้ใดกระทําความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งมาตรา 14 (1) ระบุว่า โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

นายณัฐ กล่าวว่า มาตรา 14 (1) สามารถคุ้มครองในเรื่องของการทำเว็บไซต์ปลอม การทำข่าวปลอม การบิดเบือนข้อมูล ซึ่งมีความแตกต่างจากมาตรา 14 (1) ของพ.ร.บ.คอมพ์ 2550 เพราะมีการเพิ่มเรื่องของการทุจริต หลอกลวง และบิดเบือนข้อมูล ในขณะที่ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 มีเพียงเรื่องของการปลอมข้อมูลเพียงอย่างเดียว

 นอกจากนี้ มาตรา 16 ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท

 ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําต่อภาพของผู้ตาย และการกระทํานั้นน่าจะทําให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทําต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยสุจริตอันเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ผู้กระทำไม่มีความผิด

ความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

 นายณัฐ กล่าวว่า มาตรา 16 ของ พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 มีโทษสูงกว่า พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 โดยปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จากเดิมที่ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท และช่วยให้ญาติสามารถร้องทุกข์แทนผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วได้ เช่น หากบุคคลทั่วไป หรือ สื่อ นำภาพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ต่างๆ มาเผยแพร่ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากญาติของผู้เสียชีวิต พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 ให้ญาติสามารถร้องทุกข์แทนผู้เสียชีวิตได้ ซึ่งพ.ร.บ.คอมพ์ 2550 ไม่ได้เปิดช่องในการร้องทุกข์แบบนี้ไว้ให้

ส่วนมาตรา 20 ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้

(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายอื่นซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้นหรือพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ร้องขอ

ในกรณีที่มีการทําให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยื่นคําร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอํานาจขอให้มีคําสั่งระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งนี้ ให้นําบทบัญญัติ ว่าด้วยคณะกรรมการที่มีอํานาจดําเนินการพิจารณาทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ ทางปกครองมาใช้บังคับกับการประชุมของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยอนุโลม

ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรคสองขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะ แต่ละคณะให้มีกรรมการจํานวนเก้าคนซึ่งสามในเก้าคนต้องมาจากผู้แทนภาคเอกชน ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และให้กรรมการได้รับค่าตอบแทนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกําหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

การดําเนินการของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นําประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ในกรณีที่ศาลมีคําสั่งให้ระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง พนักงานเจ้าหน้าที่จะทําการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นเองหรือจะสั่งให้ผู้ให้บริการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีประกาศกําหนดหลักเกณฑ์ ระยะเวลา และวิธีการปฏิบัติสําหรับการระงับการทําให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันโดยคํานึงถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

 ในกรณีที่มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน พนักงานเจ้าหน้าที่จะยื่นคําร้องตามวรรคหนึ่งไปก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์จะยื่นคําร้องตามวรรคสองไปก่อนที่รัฐมนตรีจะมอบหมายก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องรายงานให้รัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

 สำหรับมาตรา 20 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 เป็นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกคนที่คิดผลงานและนำเสนอในสื่อทุกช่องทาง ส่วนข้อควรระวังในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งในช่วงที่ใช้บังคับตาม พ.ร.บ.คอมพ์ 2550 และเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.คอมพ์ 2560 คือ ไม่ควรโพสต์ภาพที่สร้างความสะเทือนใจต่อบุคคลอื่น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook