มหัศจรรย์นิทานสร้างจินตนาการไม่รู้จบ
เวลาที่ดีที่สุดในการวางรากฐานในด้านต่างๆแก่เด็ก คือ ช่วงเด็กอายุ 0-6 ปีเพียงพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังวันละ 10-15 นาทีก็จะพบความเปลี่ยนแปลงที่น่ามหัศจรรย์ ว่าลูกๆ มีพัฒนาการดีขึ้น ทั้งความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
หนังสือจะฝึกให้เขาอยู่กับตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเด็กติดเพื่อน ติดเกม และสมาธิสั้นได้ นอกจากนี้เด็กยังได้ซึมซับรสนิยมทางศิลปะผ่านลายเส้นและการใช้สีจากหนังสือภาพและที่สำคัญได้เรียนรู้ข้อคิดดีๆ ผ่านน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความรักของผู้ปกครอง
พิชัย โชติธำรง คุณพ่อของด.ช.ปรวุฒิ หรือ น้องนาโน อายุ3 ขวบ นักเรียนเตรียมอนุบาลร.ร.เธียรประสิทธิ์ศาสตร์ กทม. บอกว่า อ่านนิทานให้ลูกฟังมาตั้งแต่อายุ 6 เดือน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่มีตัวละครเป็นสัตว์ เพราะดูน่ารัก พยายามให้ดูว่ามีตัวละครใด ทำอะไรอยู่บ้าง เพื่อฝึกให้รู้จักสังเกต ซึ่งก็ได้ผล เพราะเมื่อหยิบเล่มใหม่มาอ่าน ลูกจะทักเองว่ามีนั่นด้วย มีนี่ด้วยไปตามประสาของเขา นิทานบางเรื่องมีตัวละครงู จะสอนเขาว่างูมีพิษ ถ้าถูกกัด แล้วจะไม่ได้กลับมาเจอหน้าพ่อแม่ ให้ระวังนะ
"การอ่านหนังสือ เป็นการสื่อสารกับลูกทางหนึ่ง ถ้าคุยกับเขาแค่ว่ากินข้าวยัง อาบน้ำยัง มันคงไม่พอ เพราะเป็นชีวิตที่แคบเกินไป" คุณพ่อพิชัย กล่าว
ด.ญ.ณัฐวดี รัตนคุณ หรือ น้องนัท วัย8 ปี เรียนชั้นป.3 ที่ร.ร.อนุบาลพิบูลเวศม์กทม.บอกว่า ชอบมาเทศกาลนิทานในสวน เพราะสนุก ได้ความรู้ ได้อ่านนิทาน และได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ปกติชอบอ่านนิทานอีสปก่อนเข้านอน ชอบเรื่องหมีน้อยขอโทษครับเพราะสอนว่าเด็กทำผิดแล้วต้องขอโทษ อย่าแกล้งเพื่อน เพราะเพื่อนจะเสียใจ และตอนนี้ก็ทานผักได้มากขึ้นด้วย เพราะผักในนิทานน่ากิน สีสันสวยงาม เช่น แตงกวา ผักกาดแก้ว แครอท กินแล้วมีสุขภาพแข็งแรงและยังอร่อยด้วย เมื่อกินเสร็จก็ไปแปรงฟัน ฟันจะได้ไม่ผุ นอกจากนี้ยังหัดวาดรูปการ์ตูนตามหนังสือที่ได้อ่านด้วย ซึ่ง คุณแม่ธนาภรณ์ เล่าว่าอ่านนิทานให้ลูกฟังมาตั้งแต่ 2 ขวบได้ใกล้ชิดกับลูก เขาสงสัยอะไรก็ถาม เราก็อธิบายให้ลูกฟัง ถ้าไม่อ่านให้ฟัง เขาก็จะอ่านเอง จึงเป็นเด็กที่อ่านหนังสือคล่อง และสะกดคำได้ดีกว่าเด็กที่ไม่อ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ
ด้านพญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่าเวลาอ่านหนังสือคือเวลาพิเศษของลูก หนังสือสามารถเสริมสร้างทักษะต่างๆ ได้นับไม่ถ้วน ไม่เกินหนึ่งเดือนหลังเล่านิทานแบบธรรมชาติ คือ ให้ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ไปตีกรอบความคิดเขา ทักษะจะเกิดได้โดยไม่ต้องฝึกฝน เพราะเด็กสนุกสนานกับการอ่าน หนังสือภาพที่ดีจะช่วยให้เด็กมีจินตนาการกว้างไกล พัฒนาวิธีคิด สามารถเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย และยังได้เรียนเรื่องสี ตัวเลข และประสบการณ์ชีวิต
เทศกาลนิทานในสวนเป็นกิจกรรมที่มูลนิธิซิเมนต์ไทย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด มหัศจรรย์อมตะนิทาน...สู่จินตนาการไม่รู้จบ นำเรื่องราวจากหนังสือภาพอมตะ5 เรื่องเอกของโลกได้แก่ มีหมวกมาขายจ้า คอร์ดูรอย แมวล้านตัว เมล็ดแครอท และเดินเล่นในป่า มาแสดงเป็นละครนิทานให้เด็กๆ ได้ชมกัน ซึ่งสุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทยฝากบอกว่าวันเสาร์ที่ 7 ก.พ. นี้พบกับนิทานเรื่อง "Doctor De Soto" โดยกลุ่มไม้ขีดไฟ แนะนำประสบการณ์การเล่านิทานโดย อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์ และผู้ปกครองท่านใดอยากรู้ว่า "สื่อสารอย่างไรให้ลูกเชื่อฟัง" มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กับ พญ.กุสุมาวดี คำเกลี้ยง ได้ที่ สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) บริเวณศูนย์เยาวชน เวลา 16.00-17.30 น. เป็นต้นไป
เรื่องโดย : กัลยาณี ฉินสิน