สตง.สาวไส้! วงจรปิด “อบจ.ชลบุรี” พบ กล้องเจ๊ง-ภาพมัว-ซ่อมช้า
เว็บไซต์สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เปิดเผย รายงานการตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 – 2559 จำนวน 18 โครงการ งบประมาณ 682,593,300 บาท และตั้งงบประมาณงานซ่อมแซมและย้ายกล้องโทรทัศน์วงจรปิด 7 โครงการ งบประมาณ 63,670,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 746,263,300 บาท
ซึ่งมีการดำเนินงาน 5 ระยะ แล้วเสร็จ 4 ระยะ งบประมาณตั้งแต่ระยะที่ 1-4 งบประมาณ รวม 498,609,000บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 66.81 ของงบประมาณโครงการทั้งหมด สำหรับระยะที่ 5 อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งสตง. ตรวจสอบและติดตามของหน่วยงานต่าง ๆ ข่าวหนังสือพิมพ์และแหล่งข้อมูล อื่น ๆ พบปัญหาของการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เช่น กล้องไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก กล้องเสียบ่อย การจัดซื้อในราคาแพง กล้องคุณภาพต่ำ ปัญหาในการควบคุม ดูแลบำรุงรักษาภายหลังหมดระยะประกัน
จากการตรวจสอบพบประเด็นข้อตรวจพบและข้อสังเกต ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 กล้องโทรทัศน์วงจรปิดส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์โครงการ โดยพบว่า 1.กล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมากไม่สามารถใช้งานได้ จากการตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 1 – 26 กุมภาพันธ์ 2559 พื้นที่ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ตามโครงการ ที่สถานีตำรวจภูธร 13 แห่ง พบว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการไม่สามารถใช้งานได้ หรือไม่สามารถแสดงภาพได้ที่ห้องควบคุมจำนวน 309 กล้อง จากกล้องทั้งหมดจำนวน 723 กล้อง หรือคิดเป็นร้อยละ 42.73 ของจำนวนกล้องทั้งหมด โดยเฉพาะ สภ.เมืองชลบุรี สภ.บางละมุง และสภ.บ่อวิน ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ
ข้อตรวจพบที่ 2 ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามโครงการบางภาพไม่ชัด จากการตรวจสอบ พบว่า ภาพที่ได้จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัดเจน ภาพมัว แสงมากเกินไป ภาพมีแถบดำบัง ทำให้ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุต่าง ๆ ได้
ข้อตรวจพบที่ 3 การดูแลและบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่างล่าช้า การดูแลและบำรุงรักษาระบบอุปกรณ์แบบเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ตามกำหนดทุก 3 เดือน ผู้รับจ้างเข้าบำรุงรักษาล่าช้า ไม่ตรงตามแผนงานที่กำหนดไว้ และรายงานการบำรุงรักษาของผู้รับจ้างไม่ครบถ้วนและไม่ชัดเจน การดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์เมื่อเกิดความเสียหายในช่วง ระยะประกัน ผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการซ่อมแซมล่าช้า และไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจนในการเข้า แก้ไขซ่อมแซม และการบำรุงรักษาซ่อมแซมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์ในช่วงหมดระยะประกันมี ความล่าช้า ขาดการตรวจสอบบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
สตง. ยังสรุปผลการตรวจสอบว่า การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของ อบจ.ชลบุรี ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ตามวัตถุประสงค์ โดยกล้องวงจรปิดตามโครงการฯ จำนวนมาก ไม่สามารถใช้งานได้ ภาพที่ได้จาก กล้องโทรทัศน์วงจรปิดบางภาพไม่ชัด และการดูแลบำรุงรักษากล้องวงจรปิดและอุปกรณ์เป็นไปอย่าง ล่าช้าส่งผลกระทบดังนี้
1. ทำให้เกิดความสูญเปล่าหรือความไม่คุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการจัดทำโครงการใน ส่วนที่ไม่สามารถใช้งานได้
2. ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้งานกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ขาดเครื่องมือช่วยอำนวย ความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการป้องกัน การแก้ไขปัญหาเช่น อาชญากรรม อุบัติเหตุในพื้นที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทันกาลตามวัตถุประสงค์โครงการ
3. ทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณในการซ่อมบำรุงกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ไม่สามารถใช้งาน ได้ สูงกว่าที่ควร ซึ่งหากมีการดูแลบำรุงรักษากล้องโทรทัศน์วงจรปิดอย่างถูกต้อง ตามวิธีการและระยะเวลาที่เหมาะสม กล้องโทรทัศน์วงจรปิดและอุปกรณ์จะยังสามารถใช้งานได้ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับรายงานฉบับนี้ สตง.ได้ระบุข้อเสนอแนะให้กับอบจ.ชลบุรีพิจารณาดำเนินการโครงการให้ถูกต้อง รัดกุมเหมาะสมด้วย