คนคิวบายังคงคลั่งไคล้วง The Beatles เพราะช่วงสงครามถูกกีดกัน
ในขณะที่ชาวอเมริกันและยุโรป คลั่งไคล้ศิลปินวง The Beatles กันไปในยุค 60 แต่ชาวคิวบา ยังคงคลั่งไคล้ศิลปินกลุ่มนี้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงที่เกิดสงครามเย็นในอดีต ทางการได้เซนเซอร์เพลงร็อค ทำให้ชาวเมืองรู้สึกว่าช่วงเวลาบางช่วงของพวกเขาขาดหายไป
Gisela วัย 64 ปี บอกว่า คนคิวบามีความสุขมากกับการกลับมาของ The Beatles ในปัจจุบัน เธอและ Hector วัย 65 ปี ตกแต่งบ้านด้วยภาพ โปสเตอร์ และของที่ระลึกเกี่ยวกับวงดนตรีของอังกฤษวงนี้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่มีโอกาส พวกเขาก็จะเข้าร่วมกับฝูงชน ร้องและเต้นรำ ไปกับเพลงยุค 60 และ 70 ที่บาร์ Yellow Submarine ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง Hovana
Guillermo Vilar นักข่าววัย 65 ปี บอกว่า นี่ไม่ใช่แค่ความคิดถึง แต่ชาวคิวบาเห็นว่า มันเป็นการได้เข้าร่วมในประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะความขัดแย้งในช่วงเวลานั้น มีการสั่งห้ามเผยแพร่เพลงจากอังกฤษ ห้ามใช้ภาษาอเมริกัน เนื่องจากเกรงว่าความนิยมในเพลงจะเป็นการกระจายแนวคิดมาสู่คนในคิวบา
ในสมัยนั้น Gisela Moreno และ Hector Ruiz ต้องฟังเพลงของ The Beatles จากสถานีวิทยุของสหรัฐอเมริกา โดยเลือกรับสัญญาณคลื่นสั้น บางครั้งก็ได้แผ่นดิสก์คุณภาพต่ำ ๆ มาฟัง นอกจากเสียงเพลงแล้ว ยังมีเสียงบรรยากาศรอบ ๆ ติดมาอีก มันแย่ แต่อย่างน้อยก็ยังถือว่าได้ฟังเพลงของ The Beatles
ในโรงเรียนมัธยม ห้ามใส่กางเกงขาลีบ หรือ Skinny-leg ผู้หญิงก็ห้ามใส่กระโปรงสั้น และห้ามไว้ผมยาวแบบศิลปินดัง แต่ตอนนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว บาร์ที่ชื่อว่า Yellow Submarine เปิดมาตั้งแต่ปี 2011 นับเป็น 1 ใน 6 บาร์ ที่เปิดขึ้นเพื่อให้เกียรติแก่วง The Beatles และที่น่าสนใจคือ ผู้จัดการดูแลบาร์เหล่านี้ คือกระทรวงวัฒนธรรม
ที่ม้านั่งใกล้ ๆ กับ Yellow Submarine มีรูปปั้นของ John Lennon ซึ่งกลายเป็นจุดสำคัญหนึ่ง ทั้งคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว จะต้องหยุดแวะชม รูปปั้นนี้เคยถูกขโมยไปหลายครั้ง จนตอนนี้ ต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาเฝ้าดูแล
Eddy Escobar นักร้องวัย 46 ปี ที่ร้องเพลงของ The Beatles จนได้รับความนิยม บอกว่า เพลงดี ๆ เป็นอมตะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็ยังมีคนชื่นชมเสมอ และสำหรับที่คิวบานี้ The Beatles ก็ยังคงอยู่ตลอดไป