สกอ.แฉปัญหาพลาดสอบเอเน็ต บางรายนำหลักฐานปลอมมายัน

สกอ.แฉปัญหาพลาดสอบเอเน็ต บางรายนำหลักฐานปลอมมายัน

สกอ.แฉปัญหาพลาดสอบเอเน็ต บางรายนำหลักฐานปลอมมายัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สกอ.เผยเหตุผลนร.ลืมเอง บางรายฝากพ่อแม่จ่าย แต่พ่อแม่ลืม แถมบางรายนำหลักฐานปลอมมายัน หวังให้สกอ.เยียวยา ขณะที่ สุเมธ ย้ำหากต้องยืดเยียวยานร. พร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ไม่กระทบนร.1.9 แสนคน แน่นอน นักวิชาการเตือนสกอ.ต้องดูข้อเท็จจริง ถ้าได้สิทธิรับตรงมีที่เรียนแล้ว ก็ไม่ควรคืนสิทธิสอบเอเน็ตให้ การเรียกร้องสิทธิของตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่เข้าข้างตัวเองและกระทบสิทธิของผู้อื่น

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 52 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนักเรียน และผู้ปกครอง ประมาณ 50 กว่าคน ได้เดินมาร้องเรียนขอยืดเวลาชำระค่าสมัครการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) จากเดิม 22 ธ.ค.51- 14 ม.ค.52 เพื่อขอเข้าสอบอีกครั้ง หลังถูกตัดสิทธิ์การสอบเอเน็ต เนื่องจากไม่ได้ชำระเงินตามกำหนด โดยให้เหตุผลในใบสมัครไม่ได้บอกกำหนดเวลาหมดเขตรับชำระเงิน พร้อมเรียกร้องให้ สกอ.พิจารณาถึงความจำเป็นและเหตุผล

นายภักดี พ่อพันดร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ กล่าวว่าเขาได้ยื่นสมัครสอบเอเน็ตไปตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.51 และเมื่อดูปฎิทินหน้าเว็บสกอ. ไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ทำให้ไม่ทราบว่ต้องชำระเงินวันไหน จนมาทราบจากเพื่อนว่า ชำระในวันที่ 14 ม.ค.52 ซึ่งเมื่อทราบได้ให้พ่อไปชำระแทน เพราะต้องเข้าโรงพยาบาลในวันที่ 6 มกราคม เนื่องจากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก หลังจากนั้นเข้าออก โรงพยาบาลตลอดเวลา ในขณะที่พ่อต้องดูแลย่าที่เป็นโรคไทรอยด์ และเบาหวาน ทำให้พ่อลืม ไม่ได้ไปชำระให้ ส่วนแม่ไม่สามารถชำระได้ เพราะแม่ก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งระยะที่ 3 ที่บ้านจึงไม่มีใครสามารถไปชำระค่าสมัครสอบเอเน็ต


"ผมมารู้จากพ่อว่าไม่ได้ไปสมัครสอบให้ ประมาณวันที่ 20 ม.ค.52 แล้ว โดยเพื่อนโทรมาถามว่าสอบวิชาอะไรบ้าง จึงทำให้นึกขึ้นได้ว่าพ่อไปสมัครสอบเอเน็ตหรือยัง และเมื่อรู้ว่าไม่ได้จ่ายให้ วันที่ 22 หรือ 23 ม.ค.52 ได้มาที่สกอ. แต่เมื่อมาถึงได้อธิบายเหตุผมให้เจ้าหน้าที่สกอ.ฟัง ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกเพียงว่าไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเลยกำหนดค่าชำระค่าสมัครเอเน็ตแล้ว ทำให้ผมรู้สึกเสียใจมาก เพราะที่ผ่านมาได้ตั้งใจเรียนหนังสือมาตลอด เพื่อเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์ การเดินทางมาร้องเรียนในวันนี้ (8 ก.พ.52) หวังว่าสกอ.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีโอกาสสอบ เพื่อเข้าศึกษาต่อในคณะที่ผมต้องการ" นายภักดี กล่าว

ด้านนายนคุณ ศรีดุษฎี นร.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า เดินทางมาร้องเรียนเพื่อให้สกอ.ยืดเวลาชำระค่าสมัครเอเน็ต โดยนำเอกสารใบสมัครปริ้นท์มาจากอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ได้ระบุระยะเวลาการชำระค่าสมัครมาเป็นเอกสารยืนยัน ว่าเอกสารที่สกอ.ให้นั้นไม่มีความชัดเจน ส่วนปฎิทินบนเว็บไซต์ก็ไม่มีความชัดเจนเช่นเดียวกัน

"ยอมรับว่า ทราบเรื่องการรับสมัครว่าสมัครวันใดบ้าง แต่วันชำระเงินค่าสมัคร ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าวันไหน เพราะปฎิทินของสกอ.ไม่มีความชัดเจน ภายหลังมาทราบจากเพื่อนว่าชำระวันสุดท้าย คือ วันที่14 ก.พ.52 แต่ก็ไม่สามารถไปชำระค่าสมัครได้ด้วยตนเอง เพราะต้องไปทำกิจกรรมที่ต่างจังหวัด ในวันที่ 13 ม.ค.52 จึงฝากพ่อไปชำระให้ แต่พ่อลืมสมัครให้ ส่วนก่อนนั้นที่ผมทราบเรื่อง ก็ติดเรียน และทำกิจกรรมทุกวัน จึงไม่ได้ไปชำระ การเดินทางมาครั้งนี้ หวังว่าสกอ.จะให้ความช่วยเหลือ เพราะไม่มีเด็กคนไหนที่อยากตัดอนาคตของตัวเอง อีกทั้งค่าสมัครก็ไม่ได้เยอะมาก"นายนคุณ กล่าว

น.ส.สุทธิดา เทพสัมฤทธิ์พร นร.ร.ร.สีตบุตรบำรุง กล่าวว่า เดินทางมาร้องเรียนกับเพื่อนอีก 3 คน ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครในวันที่กำหนด เนื่องจากไม่ทราบว่าเอเน็ตต้องชำระเงินวันไหน เพราะดูจากปฎิทินของเอเน็ตไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ถ้าไม่ได้รับคำชี้แจงจากอาจารย์ที่โรงเรียน ไม่ทราบด้วยซ้ำกว่าสกอ.เปิดรับสมัครเอเน็ต วันที่เท่าไหร่ อยากให้สกอ.มีการประชาสัมพันธ์มากกว่า เพราะในช่วงสอบ เด็กทุกคนต่างสนใจแต่การเรียน และการทำกิจกรรม ซึ่งถ้าเอกสาร หรือปฎิทินของสกอ.ชัดเจน จะถือเป็นการช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่เด็กได้มากขึ้น

ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น.ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เดินมาถึงบริเวณศูนย์ร้องเรียน ชั้น 4 มีพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนหนึ่ง ได้เข้ามาบอกถึงเหตุผลว่าทำไมลูกถึงไม่ได้ชำระเงินค่าสมัคร ซึ่งดร.สุเมธ ก็ได้พูดคุยกับพ่อแม่ และบอกว่าจะพิจารณาและช่วยเหลือ ซึ่งการเปิดศูนย์ร้องเรียน เพื่อรับฟังเหตุผล และหลักฐานของนักเรียนว่าเป็นเพราะเหตุใด

อีกทั้งเป็นการรวมรวบข้อเท็จจริง เพื่อตรวสอบระบบด้วยว่าระบบของสกอ.มีปัญหาจริงหรือไม่ ซึ่งหากระบบผิดพลาดสกอ.ยินดีรับผิดชอบ แต่หากระบบไม่ผิดพลาดคงต้องพิจารณาต่อไปว่าจะเยียวยาอย่างไร ซึ่งเท่าที่ทราบขณะนี้ เหตุผลของเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ต เนื่องจากลืม ฝากพ่อแม่ไปชำระให้แล้วพ่อแม่ลืม ปฎิทินของสกอ.ไม่ชัดเจน และในใบสมัครไม่มีการบอกถึงวันชำระเงิน ส่วนปฎิทิน หรือใบสมัครที่ไม่มีการชำระค่าสมัคร เรื่องนี้นักเรียนสามารถทราบวันรับสมัครได้หลายที่ เพราะสกอ.ประกาศเตือนนักเรียนหลายครั้งให้รีบมาชำระ

เลขาธิการกกอ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากสกอ.ต้องทำการสรุปเป็นรายวันนำเสนอทางรมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการ คาดว่าภายหลังจากการรวบรวมหลักฐาน ข้อร้องเรียนของนักเรียน ตั้งแต่วันที่ 8-13 ก.พ.52 และจากโรงเรียนต่างจังหวัด แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรมว.ศึกษาธิการด้วยว่าจะดำเนินการอย่างไร หากให้สกอ.เยียวยาช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ สกอ.พร้อมในการดำเนินการ โดยอาจใช้วิธีการตั้งโต๊ะรับเงินและใช้ออนไลน์เหมือนเดิม

ทั้งนี้ หากยืดชำระค่าสมัครเอเน็ตแล้วมีผลกระทบต่อนักเรียนอีก 1.9 แสนคนหรือไม่นั้น ขอยืนยันว่าไม่กระทบต่อการสอบเอเน็ตของเด็กอีก 1.9 แสนคน ในวันที่ 28 ก.พ.52 แน่นอน เพราะสกอ.มีแนวทางในการดำเนินการอย่างดี ส่วนระบบการรับสมัคร การชำระค่าสมัครที่ใช้ระบบออนไลน์ เป็นระบบสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ทุกปีมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่สกอ.คงต้องนำเรื่องดังกล่าวไปแนะนำให้ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการรับสมัครการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับสถาบันอุดมศึกษา หรือแอดมิชชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 ไปคิดทบทวน การวางระบบการรับสมัคร หรือการชำระเงินค่าสมัคร ให้พร้อมและไม่มีปัญหาอย่างสกอ.

ด้าน เจ้าหน้าที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนพ่อแม่ และผู้ปกครอง สกอ.กล่าวว่า เมื่อนักเรียนมาถึงเจ้าหน้าที่จะแจกใบคำร้องให้ และหากใครมีหลักฐานอย่างไรก็แนบมากับใบคำร้อง โดยเหตุผลของนักเรียน ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ตที่ยื่นมานั้น เนื่องจากลืม ให้พ่อแม่ไปชำระให้แล้วพ่อแม่ลืม ไม่ทราบวันหมดเขตชำระเงิน บาร์โคดของสกอ.ไม่ชัดเจน รวมไปถึงมีบางราย ที่จัดทำเอกสาร ข้อมูลปลอมมายื่ยัน เช่น บอกเหตุผลว่า ระบบของสกอ.ขัดข้อง และไม่ชัดเจน ทำให้ไปรษณีย์ อ่านบาร์โคดไม่ได้ ทำให้ชำระค่าสมัครไม่ได้ ซึ่งตรวจสอบพบว่า นักเรียนพึ่งปริ๊นท์เอกสารในสมัครมาเมื่อเช้าวันที่ 8 ก.พ.52 และมาใช้ยืนยัน ส่วนหลักฐานที่แนบมา คือใบสมัคร ซึ่งไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการชำระค่าสมัคร หรือบอกว่า ตรงจุดนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงไปเรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ภายหลังจากศูนย์ร้องเรียนของสกอ.เปิดตั้งแต่เวลา 09-00 น.-12.00 น. มีนักเรียน และผู้ปกครองทยอยเดินทางมาร้องเรียนเรื่อยๆ โดยนอกจากมีเจ้าหน้าที่ทำหน้ารับเรื่องร้องเรียนแล้ว ดร.สุเมธ และนางศศิธร อหิงสาโก ผู้อำนวยการกลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ได้รับเรื่องร้องเรียน และสอบถามถึงเหตุผลของนักเรียนที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ตตามระยะเวลาที่กำหนด โดยเรียนสอบถามทีละคน

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีนักเรียนม.6 ซึ่งพลาดสิทธิ์การสอบเอเน็ตเนื่องจากชำระเงินไม่ทัน และขู่ด้วยว่าหากไม่สามารถสอบเอเน็ตได้จะฆ่าตัวตาย นั้น ว่า ทุกปีมีเด็กที่พลาดการสอบเอเน็ตจำนวนมาก ต้องถือเป็นบทเรียนที่ สกอ.จะต้องแก้ไข และควรรับฟังปัญหาของนักเรียนให้มากขึ้น ขณะเดียวกันปีหน้าก็จะมีการสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไปและแบบทดสอบทางวิชาการ/วิชาชีพ ซึ่งก็ต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้เป็นบทเรียน เตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

"หากเกิดจากระบบก็ต้องเยียวยา แต่ก็ต้องถามกลับไปยังเด็กด้วยว่า สกอ.ให้เวลาในการรับสมัครและชำระเงินนานเป็นเดือน ทำไมจึงมาจ่ายเงินในวันสุดท้าย ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องเป็นบทเรียนของเด็กซึ่งต่อไปต้องรอบคอบกว่าเดิม และเด็กทุกคนที่มาร้องเรียนที่ สกอ.ก็ต้องให้ข้อมูลความเป็นจริงทั้งหมดกับ สกอ. ว่า ไม่ได้มาชำระเงินเพราะสาเหตุใด ถ้าลืมก็ต้องยอมรับว่าลืม ถ้าได้สิทธิรับตรงแล้วเปลี่ยนใจก็ต้องพูดความจริงกัน ซึ่งผมคิดว่าหากเด็กได้สิทธิรับตรงมีที่เรียนแล้ว สกอ.ก็ไม่ควรคืนสิทธิสอบเอเน็ตให้ เพราะจะเป็นการให้สิทธิเด็กซ้ำ ซึ่งจะเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กคนอื่นๆ และเด็กเรียกร้องสิทธิของตนเองเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิแบบเข้าข้างตัวเองและกระทบสิทธิของผู้อื่น" รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า การออกเรียกร้องความยุติธรรมนั้น อย่าขู่ด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกต้อง และเป็นเด็กที่เรียนถึง ม.6 แล้วไม่ควรใช้คำพูดคำนี้ เป็นการเรียกร้องที่ไม่ใช้เหตุผลแต่ใช้กระแสมากดดัน และก็ต้องระวังดูแลเด็กอื่นๆในสังคมให้มากขึ้น เพราะความคิดนี้เป็นความคิดร่วมสมัย ถ้าเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือไม่ได้คณะที่ต้องการ หรือสอบเอเน็ตไม่ได้ ก็อาจตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ง่ายขึ้น ผู้ใหญ่ในสังคมจึงต้องช่วยกันระวัง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook