ออกโรงเตือน ปีนี้น้ำคูเมืองเชียงใหม่ ไม่เหมาะตักสาดสงกรานต์
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำรอบคูเมือง พบว่าบางจุดเข้าขั้นเสื่อมโทรมระดับวิกฤต ไม่แนะนำให้ตักมาสาดเล่นกันช่วงสงกรานต์ เพราะต้องผ่านกระบวนการปรับคุณภาพน้ำก่อน
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 โพสต์เฟซบุ๊กเผยผลการตรวจคุณภาพน้ำ 10 จุดรอบคูเมืองเชียงใหม่ช่วงก่อนจะถึงวันสงกรานต์ พบคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก โดยเฉพาะจุดหน้า รพ.เชียงใหม่-ราม และคอมซิตี้ มีสถานการณ์ที่หนักสุด จึงออกประกาศเตือนประชาชนเสี่ยงอันตรายเชื้อโรค ย้ำเล่นสาดน้ำต้องระวังไม่ให้ปนเปื้อนเข้าร่างกาย ทั้งทางปาก ตา และหู เบื้องต้นแจ้งข้อมูลและประสานเทศบาลนครเชียงใหม่เร่งปรับปรุงแก้ไขแล้ว
เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก “สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่” ได้มีการเผยแพร่ข้อความและรูปภาพผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ช่วงก่อนที่จะถึงการจัดงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2560 ระบุว่า
“ตามที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่ ได้เก็บตัวอย่างน้ำรอบๆคูเมือง จำนวน 10 จุด ในวันที่ 1 เมษายน 2560 เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ มาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เปรียบเทียบกับดัชนีคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน (Water Quality Index: WQI) และเกณฑ์การใช้ประโยชน์ตามมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน
ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่า บริเวณที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมาก คือ บริเวณจุดเก็บหน้าโรงพยาบาลเชียงใหม่-ราม (จุดที่ 8) และบริเวณศูนย์คอมซิตี้(จุดที่ 9) ซึ่งมีค่า BOD ค่า TCB และค่า FCB เป็นตัวบ่งชี้สภาพปัญหาที่สำคัญ และพบค่า สังกะสี(Zn) บริเวณจุดเก็บแจ่งศรีภูมิ(จุดที่ 1) เกินค่ามาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำผิวดิน นอกนั้นคุณภาพน้ำอยู่ในประเภทเสื่อมโทรม
ซึ่งคุณภาพน้ำส่วนใหญ่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อนนำมาใช้ และหากจะใช้ประโยชน์เพื่อการสันทนาการหรือการสาดเล่นสงกรานต์ต้องระมัดระวังไม่ให้ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย หรือสัมผัสกับบาดแผลภายนอกร่างกาย
สำหรับผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำดังกล่าว สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 ได้แจ้งข้อมูลการตรวจคุณภาพน้ำให้กับเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อให้เทศบาลดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งให้ข้อมูลกับประชาชนให้ระมัดระวังในการเล่นน้ำ สงกรานต์ โดยอย่าดื่ม กลืนเข้าไป หรือสาดใส่กันแรงๆ อาจทำให้เชื้อโรคเข้าหู เข้าตา เข้าปาก อันอาจเป็นอันตรายกับตัวเองและผู้อื่น หรือผู้ที่มีบาดแผลอยู่แล้วก็ต้องให้ความระมัดระวังไม่ให้สัมผัสกับบาดแผลโดยตรง ด้วยความห่วงใย จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 เชียงใหม่”