ศาลอุทธรณ์ลดค่าสินไหมแพรวาจาก 30 ล้าน เหลือ 19 ล้าน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งลดค่าสินไหมแพรวา จากเดิม 30 ล้าน เหลือ กว่า 19 ล้าน ชี้ ลดหย่อนตามพฤติการณ์ ระบุคนขับรถตู้ใช้ความเร็วสูงมีส่วนกระทำผิดแม้ไม่ได้ก่อผลโดยตรง
ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดี ที่กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุรถยนต์ซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารพลิกคว่ำ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวา (นามสมมุติ) เยาวชนหญิง ที่ขับรถยนต์ซีวิค รวม บิดาและมารดา, นายสุพิรัฐ ผู้ครอบครองรถยนต์ซีวิค ,นายสันฐิติ, น.ส.วิชชุตา และบริษัทประกันภัย เป็นจำเลย 1-7 เรื่องกระทำละเมิด ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย กว่า 113 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
สำหรับคดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ น.ส.แพรวา บิดา และมารดา ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับโจทก์ร่วม รวม 28 คน ซึ่งเป็นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ในจำนวนเงินแตกต่างกันตั้งแต่ คนละ 4,000- 1,800,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี
ต่อมาโจทก์ที่ 5 ,11 และ จำเลย 1-3 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาโดย ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์กระทำละเมิดไม่ได้เกิดจาก จำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว พฤติการณ์ผู้ขับรถตู้ได้ขับด้วยความเร็วสูง ซึ่งเป็นการประมาทเช่นเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังนี้ การเรียกค่าเสียหายจากค่าขาดไร้อุปการะจำเลยที่ 1-3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นจำนวนเงินที่สูงเกินควร และเมื่อพิจารณาค่าขาดไร้อุปการะตามที่ศาลชั้นต้องกำหนดให้โจทก์แต่ละรายเห็นว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว
แต่เมื่อฟังว่าผู้ขับรถตู้มีส่วนประมาทอยู่บ้าง ย่อมถือมีส่วนทำผิดความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย แต่ไม่ได้เป็นผลโดยตรง ค่าสินไหมทดแทนที่ต้องชดใช้จึงต้องพิจารณาลดหย่อนตามพฤติการณ์ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1-3 รับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์แต่ละราย 4 ใน 5 ส่วน
พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชำระเงิน แก่โจทก์ที่ 1- 5 ,9-19,21- 22 ,25 -28 รวมเป็นเงินกว่า 19 ล้านบาท โดยมีจำนวนเงินตั้งแต่ 80,000-1,440,000 บาท และให้จำเลยที่4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1-3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น