กฟน.ยืนยัน ใช้ “โซลาร์เซลล์” ON GRID ต้องขออนุญาต เพื่อความปลอดภัย
กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก หลังจากมีนำเสนอแนวคิดของวิศวกร อิเล็กทรอนิกส์ คนหนึ่ง ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซล,ที่บ้านของเขาทั้งหลัง จนประหยัดค่าไฟลงไปได้อย่างมาก แต่วิธีการที่ชายคนนี้ทำ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้การไฟฟ้านครหลวง จำเป็นต้องมาขอเปลี่ยนระบบมิเตอร์ โดยการไฟฟ้านครหลวงยืนยันว่า การติดตั้งของเขาเป็นแบบ ออนกริด เชื่อมต่อกับมิเตอร์ของการไฟฟ้า มีความเสี่ยงเกิดอันตราย
ผู้สื่อข่าว PPTV รายงานว่า บ้านของ นายเอกชัย รัตนสิทธิ์ วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์ กลายเป็นที่สนใจอย่างมาก เมื่อเขาหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาผลิตกระแสไฟฟ้า จนทำให้ค้าไฟที่บ้าน ลดลงจาก 1400 บาทต่อเดือน เหลือเพียง 90 บาท หรือ บางเดือนกลายเป็นค่าไฟติดลบ
เพราะพลังงานที่เก็บได้ ไหลย้อนกลับเข้าไปที่มิเตอร์ของการไฟฟ้า จนทำให้การไฟฟ้านครหลวง เตรียมมาเปลี่ยนมิเตอร์ เป็นระบบดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่า ระบบมิเตอร์แบบเก่าไม่ปลอดภัย แต่ก็ถูกวิจารณ์เพาะเอกชัยเผยว่า มิเตอร์ดิจิทัล ทำให้เขาไม่สามารถเก็บไฟฟ้าที่ได้มาจากแผงโซลาร์เซลล์ได้
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ชี้แจงว่า หาก นายเอกชัย จะใช้ระบบ On Grid ที่ต้องเชื่อมต่อกับกระแสไฟฟ้าของ กฟน. ต้องแจ้งการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ให้ตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งและเปลี่ยนระบบมิเตอร์ไฟฟ้าก่อน เพราะกระแสไฟที่ไหลกลับมา อาจส่งผลต่อความปลอดภัย
โดยการอนุญาต จะเป็นอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะเป็นผู้อนุญาตให้ผลิตไฟฟ้า และกำหนดค่าบริการ แต่หากประชาชนที่ต้องการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบ Off Grid ที่ใช้แบตเตอรี่สามารถทำได้โดยเสรีไม่ต้องขออนุญาต เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า และความปลอดภัยของประชาชน
PPTV สอบถาม นายแสนศักดิ์ ทองร้อยชั่ง ร้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ ผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงานทดแทนมากว่า 10 ปี อธิบาย ว่า โซลาร์เซลล์ มี 3 ระบบ คือ ออฟกริต ที่มีแบตเตอรี่เก็บไฟไว้ใช้ตอนกลางคืนได้ ระบบออนกริต หรือ ระบบขายไฟ เหมาะกับที่ที่มีไฟฟ้า จึงใช้ไฟได้เฉพาะตอนกลางวัน แต่ระบบจะมีแผงจำนวนมากไว้ผลิตไฟ และระบบไฮบริดจ์หรือระบบผสม ที่มีแบตเตอรี่ไว้เก็บไฟ ซึ่งพัฒนามาจากระบบออฟกริต
โดยระบบออฟกริตและระบบไฮบริดจะใช้เงินลงทุนติดตั้งสูงกว่าระบบออนกริต ที่ใช้ที่บ้านของนายเอกชัย เพราะทั้งสองระบบต้องมีแบตเตอรี่ประกอบการติดตั้งด้วย มีรายจ่ายเพิ่ม 5-6 พันบาท ส่วนที่บ้านนายเอกชัย ซึ่งใช้โซลาร์เซลล์แบบออนกริต นายแสนศักดิ์ มองว่า น่าจะผลิตไฟตอนกลางวันมากเกินความต้องการใช้ไฟในบ้าน จึงทำให้ค่าไฟติดลบ และทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าหมุนถอยหลัง
แต่หากใช้ควบคู่กับมิเตอร์แบบดิจิตอล ปริมาณไฟที่ไหลออกไป จะไม่ไหลกลับมาที่บ้านอีก จึงแนะนำว่า ไม่ควรผลิตมากเกินไป เพราะไฟที่เหลือจะไม่ได้กลับคืน กลายเป็นขาดทุน