ครส.ชี้รัฐคลี่คดีทนายสมชายแก้ภาพสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำได้
ครส.สนับสนุนรัฐบาลคลี่คลายคดีอุ้มสมชายกู้ภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำเพื่อสร้างความต่างจากรัฐบาลในอดีต ชี้คดีอุ้มสมชายเป็นระดับนโยบาย แนะโยกย้ายคนเตะถ่วงออกจาก DSI และสตช. ก่อนแก้กฎหมายเอาผิดอุ้มหายเทียบเท่าเจตนาฆ่า
(8ก.พ.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวงถึงความพยามยามของรัฐบาลที่กำลังเร่งคลี่คลาย คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ว่า ครส.ขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่จะเร่งคลี่คลายคดีให้สังคมได้รับรู้ก่อนจะมีอายุครบรอบ 5 ปีในเดือนมีนาคมนี้ซึ่งจะสร้างความแตกต่างจากรัฐบาลในอดีต และสามารถกู้ภาพลักษณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศที่กำลังตกต่ำอยู่ในขณะนี้ได้ เนื่องจากคดีนี้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคนจนรัฐบาลจะทำคดีแบบปกติไม่ได้ ซึ่งที่นายกรัฐมนตรีได้ออกมาระบุว่ามีการเตะถ่วงคดีนั้นขณะนี้ก็ยังพบว่ามีความพยายามอยู่ไม่ใช่เฉพาะจากนักการเมืองในอดีต แต่เป็นผู้เกี่ยวข้องบางส่วนที่ยังอยู่ในอำนาจ เพราะการอุ้มทนายสมชายเป็นการกระทำในระดับนโยบาย
นายเมธา กล่าวอีกว่า ตนอยากจะเตือนความจำให้นายกรัฐมนตรีว่า อดีตผู้ต้องหา 5 รายเป็นตำรวจต่างสังกัดกันคือ พ.ต.ต.เงินทองสุก , พ.ต.ท.สินชัยนิ่มปุญญกำพงษ์ , จ.ส.ต.ชัยเวงพาด้วง , ส.ต.อ.รันดรสิทธิเขต และ พ.ต.ท.ชัดชัยเลี่ยมสงวน โดยเมื่อวันที่ 12 มกราคม2549 ศาลตัดสินจำคุกพ.ต.ต.เงินทองสุก คนเดียวในข้อหาขืนใจ ทำให้สูญเสียอิสรภาพ ผู้ต้องหาที่เหลือยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ แต่ระบุในสำนวนคดีว่าการอุ้มเกิดจากการกระทำของร่วมกันกับบุคคล 3 - 5 คนปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถสอบสวนต่อได้ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเคยแถลงว่ามีหลักฐานที่จะจับกุมเพิ่มได้มากกว่า 10 รายแต่เรื่องก็เงียบหายไป และอดีตผู้ต้องหาบางส่วนยังได้รับความดีความชอบในราชการต่อไป จนที่ผ่านมามีข้อครหาว่ามีการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงสำนวนสอบสวนและหลักฐานต่างๆ มากมายเพื่อสู้คดีในชั้นศาล ดังนั้นเรื่องการอุ้มทนายสมชายจึงเป็นการทำในระดับนโยบายของฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของรัฐบาลทักษิณ และนี่เป็นปัญหาของการเตะถ่วงคดีที่แท้จริง ที่รัฐบาลจะต้องทำแบล๊คลิสต์เจ้าหน้าที่และนักการเมืองที่เป็นถุงมือดำให้ชัดเจน
เลขาธิการครส.กล่าวต่อว่า ครส.เห็นว่ารัฐบาลจะต้องโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐในกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ สตช.ที่อาจจะเป็นปัญหาของการเตะถ่วงคดีออกไปด้วยและเฝ้าระวังการทำลายหลักฐานสำนวนสอบสวนสืบสวนต่างๆรวมถึงการดำเนินการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ คดีที่ตำรวจมีส่วนเกี่ยวข้อง ตำรวจจะต้องไม่สืบสวนสอบสวนกันเอง จะต้องมีคณะสอบสวนที่มาจากภายนอกโดยมีองค์ประกอบของทนายความ อัยการ และศาล และจะต้องแก้กฎหมายให้เอาผิดคดีอาญาในคดีอุ้มหายเทียบเท่าการคดีเจตนาฆ่าเหมือนในหลายประเทศ เพราะจะเป็นช่องว่างให้เกิดการอุ้มหายและทำลายศพ โดยไม่สามารถเอาผิดผู้ต้องได้ แต่สามารถฟ้องในฐานร่วมกันปล้นทรัพย์และข่มขืนใจผู้อื่น โดยใช้กำลังประทุษร้าย
ทั้งนี้คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) และคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพจะแถลงปัญหาคดีดังกล่าว และกรณีภาคใต้ซึ่งสำนักงานของคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพถูกทหารกองทัพภาคที่ 4 บุกค้นที่จ.ปัตตานีในวันพรุ่งนี้ และจะเข้าพบรัฐมนตรียุติธรรมเพื่อปรึกษาหารือคดีต่างๆ ในวันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์นี้