สื่ออังกฤษแฉ "เมียนายกฯลอดช่อง" ทำ เทมาเส็ก เจ๊ง 4.3 ล้านล้านบาท หลังลงทุนภาคธนาคาร

สื่ออังกฤษแฉ "เมียนายกฯลอดช่อง" ทำ เทมาเส็ก เจ๊ง 4.3 ล้านล้านบาท หลังลงทุนภาคธนาคาร

สื่ออังกฤษแฉ "เมียนายกฯลอดช่อง" ทำ เทมาเส็ก เจ๊ง 4.3 ล้านล้านบาท หลังลงทุนภาคธนาคาร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สื่ออังกฤษชี้ โฮ ชิง เมียนายกฯ สิงคโปร์ ทำ เทมาเส็ก ขาดทุนย่อยยับ หลังไปลงทุนแบงก์เจ๊งฉุดทุนสำรองสิงคโปร์วูบราว 4.3 ล้านล้านบาท ชี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องลงจากตำแหน่งประธานบริหาร

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ว่า หนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ได้รายงานเบื้องหลังกรณี นางโฮ ชิง ภรรยานายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก้าวลงจากตำแหน่งประธานบริหารของ เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของเทมาเส็กจะอ้างว่า การลาออกของ นางโฮ ชิง ไม่เกี่ยวอะไรกับการลงทุนที่เกิดปัญหาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นว่า นายชาร์ลส์ กู๊ดเยียร์ อดีตประธานบริหารของบีเอชพี บิลลิตัน ที่มาดำรงตำแหน่งแทน ต้องลงมืออย่างรวดเร็วเพื่อปรับปรุงสัดส่วนการลงทุนของเทมาเส็กใหม่ โดยลงทุนในภาคที่มีการเติบโตดีกว่า เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

รายงานข่าวระบุว่า นางโฮได้รับการยกย่องว่าเปลี่ยนเทมาเส็กจากบริษัทรัฐที่หลับใหลเพราะเน้นลงทุนแค่ในประเทศ เช่น ลงทุนในธนาคารดีบีเอส, สิงคโปร์แอร์ไลน์ ไปสู่การลงทุนระหว่างประเทศ โดยเธอกำกับดูแลการขยายลงทุนในตลาดเอเชียด้วยการซื้อหุ้นในกลุ่มธนาคาร โทรคมนาคม การศึกษา และสุขภาพ เพราะเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเติบโต เนื่องจากคนชั้นกลางในเอเชียจะเพิ่มขึ้น แต่ที่ทำให้เทมาเส็กมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือ การเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในสถาบันการเงินตะวันตก เริ่มจากการซื้อหุ้นธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในปี 2549

รายงานข่าวระบุว่า จากนั้น 2 ปีต่อมา เทมาเส็กได้ลงทุนในเมอร์ริล ลินช์ ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาทางการเงินของสหรัฐเป็นเงิน 5.8 พันล้านดอลลาร์ (2.03 แสนล้านบาท) และ 2,000 ล้านดอลลาร์ (70,000 ล้านบาท) ในธนาคารบาร์เคลย์ของอังกฤษในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤตการเงินโลก การลงทุนในสถาบันการเงินตะวันตกดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้เทมาเส็กได้รับผลกระทบจากการที่อุตสาหกรรมธนาคารทั่วโลกวูบลงอย่างรวดเร็ว โดย ณ เดือนมีนาคม 2551 เทมาเส็กลงทุนในภาคการเงิน-การธนาคารประมาณ 40% ของพอร์ตที่มีอยู่ทั้งหมด 1.85 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 4.3 ล้านล้านบาท)

"ใครก็ตามที่มีความรู้เกี่ยวกับวิกฤตของธนาคาร รู้ว่านี่คือความผิดพลาดที่ไปลงทุนในภาคธนาคารเร็วเกินไป" ที่ปรึกษาเศรษฐกิจรายหนึ่งในสิงคโปร์กล่าว

รายงานข่าวระบุอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่ของเทมาเส็กจะออกมาปกป้องตัวเองว่า การลงทุนในสถาบันการเงินตะวันตก เช่น เมอร์ริล ลินช์ ก็เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกและเทมาเส็กก็พร้อมจะยืดอกรับผลที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการลงทุนในระยะยาวที่จะมีผลกำไรกลับมาในที่สุดก็ตาม แต่การลงทุนเหล่านี้ก็อาจจะสูญไปได้ถ้าหากแบงก์ ออฟ อเมริกา ซึ่งเป็นผู้เทกโอเวอร์เมอร์ริล ลินช์ ไป รวมทั้งธนาคารบาร์เคลย์ ถูกรัฐบาลของแต่ละประเทศเข้ามาเทกโอเวอร์หากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งนอกจากกรณีของธนาคารตะวันตกแล้ว เทมาเส็กยังประสบปัญหาจากการที่มูลค่าหุ้นของธนาคารในจีนลดลงอย่างมาก เช่น หุ้นของแบงก์ ออฟ ไชน่า

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนี้จีไอซี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ยังลงทุนในธนาคารซิตี้กรุ๊ปของสหรัฐอเมริกา และยูบีเอสของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเงินรวมกัน 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ( 8.4 แสนล้านบาท) ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งก็ล้วนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากวิกฤตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยกู้แก่ผู้มีเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน (ซับไพรม์) โดยการลงทุนในภาคการเงิน-การธนาคารในตะวันตกครั้งนี้จะสร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ เพราะจะทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศของสิงคโปร์เสียหาย และการที่รัฐบาลสิงคโปร์แต่งตั้งนายกู๊ดเยียร์ดำรงตำแหน่ง สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลที่จะเปิดให้มีการใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ ในการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติที่ปัจจุบันเทมาเส็กลงทุนเพียง 5% ของพอร์ต เนื่องจากเห็นว่ามีแนวโน้มเติบโตดี

นอกจากนี้ การที่ในเดือนที่แล้วเทมาเส็กได้แต่งตั้งนายมาร์คัส วอลเลนเบิร์ก นั่งเป็นกรรมการของเทมาเส็ก สะท้อนให้เห็นว่าเทมาเส็กพร้อมจะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ขณะนี้มีสัดส่วนเพียง 6% ของพอร์ตการลงทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook