ไขข้อข้องใจ! ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ เสี่ยงติดคุก??

ไขข้อข้องใจ! ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ เสี่ยงติดคุก??

ไขข้อข้องใจ! ชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ เสี่ยงติดคุก??
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กดไลค์เสี่ยงติดคุกประเด็นคำถามคาใจที่สังคมต้องการคำตอบ เพราะการแสดงออกว่าชอบสิ่งๆนั้น กลับผิดกฎหมายถึงขั้นติดคุก จะเป็นไปได้เชียวหรือ...??

จากกรณีโลกออนไลน์ได้แชร์ เอกสารหมายเรียกสิบตำรวจเอกนายหนึ่ง เพราะไปกดไลค์ (LIKE) เฟซบุ๊กคู่กรณีฟ้องร้องคดีระหว่างพลตำรวจตรีและร้อยตำรวจเอกจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกดถูกใจ (LIKE) บนเฟซบุ๊ก นำไปสู่การออกหมายเรียกหรือผิดกฎหมายได้

ทั้งนี้ ในเอกสารหมายเรียกดังกล่าวได้ระบุเนื้อหาว่า มีการแจงในข้อความบางช่วงว่าจากการตรวจสอบพบว่าท่านได้ กดไลค์(ถูกใจ) เพื่อเเสดงความเห็นว่าชอบกับข้อความดังกล่าวอันเป็นการรับรองว่าข้อมูลนั้นได้รับความเชื่อถือมากขึ้น"

1g4

หลังมีข่าวแพร่ออกไปทางด้าน พ.ต.ต.สำเริง แนวอินทร์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองชลบุรี  กล่าวว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารจริง โดยพนักงานสอบสวนได้มีหมายเรียกมาสอบปากคำในฐานะเป็นพยานในคดีนี้เท่านั้น

สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ของ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าการเผยแพร่เรื่องราวจนมีการวิจารณ์เรื่องการกดไลค์หรือกดถูกใจ ก็ถูกออกหมายเรียกได้ว่า เป็นข้อพิพาทกันเรื่องส่วนตัว ส่วนหมายดังกล่าวก็เป็นหมายเรียกพยานไปพบเพื่อให้ถ้อยคำในสำนวน ไม่ใช่กดไลค์หรือถูกใจจะเป็นความผิด และเป็นการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดคู่กรณีเท่านั้น

แต่ถ้ามีการแชร์ภาพหมายเรียกของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือมีความผิด เพราะถือว่าเป็นการนำเอกสารลับของทางราชการออกเผยแพร่ และยังแชร์ตามสื่อโซเชียล มีความผิดตามกฎหมาย

1g3

เพื่อความกระจ่างชัดมากขึ้น Sanook News! ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เป็นอดีตกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 และที่ปรึกษากรรมาธิการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกรณีกด (LIKE) บนเฟซบุ๊กว่า

การกดไลค์ไม่ถือว่าผิดกฎหมายเพราะถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ยกเว้นว่าการกดไลค์ไปเชื่อมต่อกับความคิดอื่นที่เกี่ยวข้องสถาบันหรือความมั่นคงต้องดูเป็นกรณีไป

ส่วนกรณีการกดไลค์ตามข่าวเพื่อแสดงความเห็นว่าชอบกับข้อความดังกล่าวอันเป็นการรับรองว่าข้อมูลนั้นได้รับความเชื่อถือมากขึ้นนั้น ถือว่าไม่มีความผิดแน่นอนเพราะการกดไลค์คือการแสดงความรู้สึกยังไงกับข้อความนั้น ซึ่งถ้าเราตีความว่าการกดไลค์ถือเป็นความผิด งั้นการกดหัวเราะหรือร้องไห้ก็ต้องผิดหมด

และถ้ากดไลค์แล้วมีความผิดตัวบทกฎหมายต้องไปออกกฎว่าห้ามคนแสดงความรู้สึกต่างๆ ซึ่งไม่สามารถทำได้เพราะขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นการกดไลค์โดยหลักการไม่ถือว่าผิดกฎหมายเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ แต่ถ้าจะผิดกฎหมายแน่นอนคือการกดไลค์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อความที่เข้าข่ายคดีหมิ่นเบื้องสูงมาตรา 112 

1g1

ส่วนการออกหมายเรียกในกรณีนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกตัวบุคคลใดก็ได้เพื่อมาสืบสวนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าพอเรียกมาแล้วจะเป็นความผิดตามกฎหมาย

ด้านกรณีการแชร์เอกสารทางราชการเป็นความผิดไหม ต้องดูว่าเอกสารฉบับนั้นเป็นความลับหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะเข้าข่ายการผิดกฎหมายอาญาในเรื่องของเอกสารหรือในข้อหาที่ว่าจะตั้งเกี่ยวกับเรื่องอะไร

นอกจากนี้ นายไพบูลย์ ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นที่เสี่ยงต่อการมีความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ว่า "ก่อนที่เราจะแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ข้อมูลนั้นเราควรตรวจสอบก่อนว่ามีแหล่งที่อยู่ถูกต้องไหมน่าเชื่อถือหรือไม่และอาจจะเช็คกับสื่อออนไลน์ที่น่าเชื่อถือก่อนก็ได้ ก่อนที่จะตัดสินใจแชร์ออกไป"

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่ใช่สื่อแชร์มา เป็นแค่สังคมออนไลน์หรือผู้ใช้สื่อแชร์ต่อกันมาตรงนั้นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะถ้าข้อความนั้นเนี่ยมีผลกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นตรงนี้ไม่ควรจะแชร์เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาตามมาได้

1g2

จากข้อมูลข้างต้นสามารถสรุปได้ว่าการกดไลค์เพื่อแสดงความคิดเห็นถือว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่ทำได้ ยกเว้นการกดไลค์หมิ่นสถาบันอาจมีความผิดตามกฎหมายมาตรา 112 ได้

ส่วนการแชร์นั้นหากเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จย่อมผิดกฎหมายตาม พรบ.คอมฯ ซึ่งก่อนจะแชร์อะไรต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่าข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่และมีแหล่งที่มาที่ชัดเจนหรือเปล่าเพียงเท่านี้คุณก็สามารถชอบกดไลค์ ใช่กดแชร์ แบบไม่ผิดกฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook