ไอโฟน3 จี ลงตัวรูปลักษณ์และลูกเล่น

ไอโฟน3 จี ลงตัวรูปลักษณ์และลูกเล่น

ไอโฟน3 จี ลงตัวรูปลักษณ์และลูกเล่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระแสคลั่งไอโฟนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อทรูมูฟได้สิทธิจากแอปเปิ้ลให้เป็นผู้จัดจำหน่ายไอโฟนเป็นรายแรกในไทย เห็นได้จากภาพลูกค้าหิ้วถุง iPhone is Mine ออกมาจากช็อปของทรูมูฟเหมือนจะประกาศว่า  ฉันเป็นเจ้าของไอโฟนแล้วจ้า

ถึงจะเป็นรายแรกแต่คู่แข่งไอโฟนของทรูมูฟไม่ใช่ค่ายมือถือที่เหลือ แต่เป็นร้านจำหน่ายมือถือตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง รวมถึงแหล่งใหญ่ย่านสามย่าน แต่ทรูมูฟไม่รู้สึกกดดันอะไร เพราะถือไพ่เหนือกว่าเครื่องหิ้วหลายด้าน แม้ราคาใกล้เคียงกัน

ไอโฟนปลดล็อกที่จำหน่ายอย่างเปิดเผยตามห้างสรรพสินค้าตัวผู้ซื้อเองต้องรับความเสี่ยงไปเต็มๆ เพราะศูนย์ไม่รับซ่อมมือถือไอโฟนที่นำเข้าไม่ถูกต้อง ต่างจากไอโฟนจากทรูมูฟที่เข้าศูนย์ ซ่อม และเปลี่ยนเครื่องทันทีเมื่อมีปัญหา

ถ้าทรูมูฟจะเผชิญกับแรงกดดันบ้างคงเป็นแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่อาจจำกัดยอดผู้ซื้อที่ยอมจ่ายเงิน 23,275 บาท สำหรับเครื่องไอโฟน 8 กิกะไบต์ หรือ 27,075 บาท สำหรับไอโฟน 16 กิกะไบต์ ผูกกับค่าใช้จ่ายรายเดือนตามแพ็กเกจนาน 2 ปี

ทรูมูฟจึงเลือกเพิ่มมูลค่าไอโฟนด้วยโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นพิเศษสำหรับมือถือจากทรูมูฟ ครึ่งหนึ่งเป็นโปรแกรมเสริมที่ผูกกับบริการภายใต้ชายคา "ทรู" ไม่ว่าจะเป็น ทรูวิชั่นส์ ทรูสปอร์ต และทรูมิวสิก

แต่ก็ยังมีโปรแกรมใช้ร่วมกับระบบระบุตำแหน่งด้วยแผนที่ดาวเทียมหรือจีพีเอส เช่น สถานที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายไวไฟ บาย ทรูมูฟ (อีกนั่นแหละ) สถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนสำคัญในกรุงเทพฯ ซึ่งเหมาะกับนักท่องเที่ยวมากกว่า รวมถึงตำแหน่งปั๊มน้ำมัน ตู้เอทีเอ็ม และห้างสรรพสินค้า

มันก็ฟังดูดีอยู่หรอกแต่มันยังไม่เจ๋งพอ ที่สำคัญมันเป็นแอพพลิเคชั่นที่ไม่มีใครใช้กันบ่อยนักหรอก เว้นแต่มาจากต่างจังหวัดเพิ่งเข้ากรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้จักเส้นทาง เทียบไม่ได้กับแอพพลิเคชั่นที่เปิดให้ซื้อ ทดลองใช้ฟรี หรือแจกฟรีบนร้านค้าโปรแกรมออนไลน์ของแอปเปิ้ลที่ชื่อ แอปเปิ้ล แอพ (Apple App)

คนที่ชอบไอโฟนอาจรู้สึกสนุกกับการสั่งงานหน้าจอหมุนภาพ ขยายภาพ พลิกหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่อาจใช้ฟังเพลงบ่อยกว่า คุณสมบัติข้อนี้มือถือหลายเครื่องไม่เป็นรองไอโฟนเลย ไอโฟนจึงต้องมีโปรแกรม "ไม้ตาย" ทรูมูฟเองยอมรับในวิถีทางนี้เช่นกัน

อริยะพนมยงค์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์-คอนเวอร์เจนซ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น สนับสนุนนักพัฒนาโปรแกรมของไทยให้พัฒนาโปรแกรมสำหรับไอโฟน และสามารถส่งไปขายบนเว็บไซต์ของแอปเปิ้ลให้ได้ ยิ่งถ้าได้ใบเบิกทางจากทรู โอกาสยิ่งเพิ่มขึ้น

ความสามารถและศักยภาพของนักพัฒนาโปรแกรมไทยมีอยู่มากและน่าจะสร้างผลงานที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ไทยได้ดีกว่า ทรูมีแผนสนับสนุน และอยู่ในระหว่างการวางแผนงานรูปแบบโครงการในลักษณะของการฝึกอบรม หรืออาจจัดประกวดพัฒนาแอพพลิเคชั่น คาดว่าปีนี้คงได้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

ถึงทรูมูฟไม่มีโปรแกรมไม้ตายแต่ไม้ตายตัวจริงของไอโฟนคือ 3 จี หากทรูมูฟผลักดันให้เทคโนโลยี 3 จี ครอบคลุมพื้นที่บริการได้เต็มที่เร็วเท่าไร เทียบเท่าสัญญาณมือถือปัจจุบันมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสได้ใจผู้ใช้นิยมท่องเน็ตมากขึ้น นั่นหมายถึงรายได้ของทรูมูฟเองด้วย

ถึงกระนั้นผู้ใช้มือถืออาจไม่สนใจเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูง 3 จี เพราะมือถือหลายรุ่นปัจจุบันก็รองรับ 3 จีกันส่วนใหญ่ แสดงว่าผู้บริโภคยอมจ่ายแพงขอแค่พอใจรูปลักษณ์ และลูกเล่นก็พอ

อริยะ เล่าให้ฟังว่า ไอโฟนในต่างประเทศ ผู้ใช้เปลี่ยนพฤติกรรมจากแค่โทรเข้า-รับสาย เล่นเกม ฟังเพลง มาใช้งานอินเทอร์เน็ตกันเป็นหลัก แนวโน้มเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ในไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี3 จี ที่เป็นตัวชูโรงก็ยังอยู่ในช่วงของทดลองใช้ และใช้ได้ในพื้นที่จำกัด และมีแต่สัญญาปากเปล่าว่า "ทั่วประเทศ เร็วๆ นี้" ระหว่างรอ 3 จี ใครครอบครองไอโฟนไว้แล้วก็ใช้ไวไฟเจ้าไหนก็ได้ หรือเน็ตที่บ้านไปพลางๆ ก่อนแล้วกัน

เรื่องโดย : สาลินีย์ ทับพิลา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook