สหรัฐฯวอนรัฐบาลทหารพม่า หยุดดำเนินคดีกับชาวโรฮิงญา
ทางการสหรัฐฯวอนรัฐบาลทหารพม่า หยุดดำเนินคดีกับผู้อพยพชาวโรฮิงญา ด้านพม่าตอบรับไทย เข้าร่วมประชุมหาทางแก้ปัญหาชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าประเทศในระดับภูมิภาคเอเชีย
(9ก.พ.) นายริชารด์ บาวเชอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งเสร็จสิ้นการเยือนบังกลาเทศที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของพม่านานสองวันเมื่อวันอาทิตย์ ได้แถลงข่าวก่อนออกจากบังกลาเทศว่า สหรัฐรู้สึกห่วงใยต่อชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญาที่อพยพออกจากพม่าเพราะกลัวการถูกดำเนินคดีและเพื่อหนีความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้เขายังเรียกร้องให้รัฐบาลพม่ายุติการดำเนินคดีกับชาวโรฮิงญา
คำแถลงของนายบาวเชอร์มีขึ้นหลังเรื่องราวชีวิตของชาวโรฮิงญากลายเป็นที่สนใจทั่วโลกเมื่อมีข่าวว่าชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เกือบ 1,000 คนได้ล่องเรือมายังไทย แต่ถูกทหารไทยลากเรือที่ไม่มีเครื่องยนต์ไปปล่อยกลางทะเลโดยมีอาหารและน้ำให้อย่างจำกัด ทำให้ผู้อพยพบางส่วนเสียชีวิตและอีกจำนวนมากได้รับการช่วยเหลือโดยอินโดนีเซียและอินเดีย
ก่อนหน้านี้รัฐสภายุโรปออกมติเมื่อวันพฤหัสบดีเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าคืนสิทธิการมีสัญชาติให้กับชาวโรฮิงญาที่อาศัยในรัฐอาระกันทางภาคตะวันตกของพม่า พร้อมกับเรียกร้องให้ทางการไทยอย่าได้ส่งกลับผู้อพยพเหล่านี้ ให้ที่ลี้ภัยและปฏิบัติต่อพวกเขาตามหลักสิทธิมนุษยธรรม
รัฐสภายุโรปยังประณามรัฐบาลทหารพม่าที่ดำเนินคดีกับชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขอให้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิการศึกษาและเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยทันที และหยุดดำเนินคดีทางศาสนากับชาวโรฮิงญาที่นับถือศาสนาอิสลาม
ในแต่ละปีจะมีชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนพยายามหลบหนีออกนอกประเทศโดยทางเรือ เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้สิทธิพลเมืองแก่ชนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาอิสลามเหล่านี้จนทำให้เกิดการแบ่งแยกเชื้อชาติ ,การกดขี่ข่มเหง และเกิดวิกฤติมนุษยธรรม จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ระบุว่า ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาราว 230,000 คนอาศัยอยู่ในบังกลาเทศ หลังจากหลบหนีออกจากพม่าเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว
ด้านนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง สหภาพพม่า กล่าวว่า ได้เข้าหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่า เกี่ยวกับกรณีชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีความคิดเห็นตรงกันว่าเป็นปัญ หาที่ลุกลามมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการเร่งรัดแก้ไขปัญหาให้ได้ในระยะยาว
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพม่ารับที่จะนำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับรัฐบาลพม่า พร้อมตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าที่ของประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พม่า บังคลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ตามแนวคิดของประเทศไทยด้วย เพื่อระดมสมองและความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ