ไลค์-แชร์ อย่างไรหลัง พ.ร.บ.คอมพ์บังคับใช้พรุ่งนี้

ไลค์-แชร์ อย่างไรหลัง พ.ร.บ.คอมพ์บังคับใช้พรุ่งนี้

ไลค์-แชร์ อย่างไรหลัง พ.ร.บ.คอมพ์บังคับใช้พรุ่งนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทีมนิวมีเดีย PPTV จึงไปสอบถามนักกฎหมายมาว่าอะไรบ้างที่เราทำได้ ทำไม่ได้ในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการกดไลค์ กดแชร์

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 2560 ระบุว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการส่งข้อมูลที่ผู้รับไม่ต้องการ หรือที่เรียกว่า สแปม โดยผู้ที่ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ไปให้ใครก็ตามที่เขาไม่ยินยอม จะต้องมีทางเลือกให้ผู้รับสามารถปฏิเสธข้อมูลนั้นได้ ไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับ 2 แสนบาท เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการปฏิเสธการรับข่าวสารที่ไม่ต้องการ

สำหรับการ "กดไลค์-กดแชร์" (Like-Share) จะผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร นายไพบูลย์ ให้คำตอบว่า การกดไลค์ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ยกเว้นแต่การกดไลค์ที่เกี่ยวกับสถาบัน จึงแนะนำว่าไม่ควรกดไลค์เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในความผิดมาตรา 112

ส่วนการกดแชร์โดยหลักถือเป็นการเผยแพร่ ดังนั้นการที่แชร์ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อบุคคลอื่นอาจผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 โดยเฉพาะข้อมูลที่กระทบต่อบุคคลที่ 3 จึงแนะนำว่าอย่าแชร์เพราะจะมีผลทางกฎหมาย

ส่วนกรณีพบมีข้อมูลผิดกฎหมายอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเรา แต่ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของคอมพิวเตอร์กระทำเอง สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ หากแจ้งแล้วลบข้อมูลออกเจ้าของก็จะไม่มีความผิดตามกฎหมาย เช่น เว็บไซต์ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟซบุ๊ก ที่ให้แสดงความคิดเห็น หากพบว่ามีการแสดงความความคิดเห็นผิดกฎหมาย สามารถแจ้งไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทันที และเมื่อเจ้าของระบบเว็บไซต์ทำการลบข้อความออกจะไม่มีความผิด

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขที่จะบังคับใช้พรุ่งนี้ ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นการรู้กฎกติกาการใช้งานไว้ก่อนก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook