ความเชื่อผิดๆ “ชีวิตบนความเสี่ยง” ต้นไม้ในเมืองส่วนใหญ่ไร้รากแก้ว

ความเชื่อผิดๆ “ชีวิตบนความเสี่ยง” ต้นไม้ในเมืองส่วนใหญ่ไร้รากแก้ว

ความเชื่อผิดๆ “ชีวิตบนความเสี่ยง” ต้นไม้ในเมืองส่วนใหญ่ไร้รากแก้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากเหตุการณ์ต้นไทรขนาดใหญ่ล้มพาดสายไฟฟ้าจนทำให้เสาไฟล้มทับประชาชนเสียชีวิต บริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลชิดลม ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ซึ่งจากการตรวจสอบต้นไทรพบว่าส่วนใบเป็นสีเขียว มีพุ่มกว้าง ลำต้นมีขนาดใหญ่กิ่งก้านแข็งแรง มีรากแก้วรากฝอยจำนวนมากคดงอเป็นกระจุก คาดว่ารากแก้วไม่สามารถมุดลงดินพอสมควร ประกอบกับเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีฝนตกเล็กน้อยอาจทำให้มีน้ำหนักมากในส่วนบน จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้ไม่มีลมกรรโชกแรง

ทำให้สังคมตระหนักและตื่นตัวกันมากขึ้นถึงชีวิตความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในเมืองกรุง เพราะยังมีต้นไม้ใหญ่อยู่มากมายในกรุงเทพมหานครและที่สำคัญไม่อาจทราบได้ว่าต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มีรากที่แข็งแรงหรือไม่ โดยเฉพาะรากแก้วที่หลายคนเข้าใจว่ามีส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยพยุงให้ต้นไม้ใหญ่สามารถต้านลมและคงอยู่ได้

สอดคล้องกับข้อมูลของ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.มีต้นไม้ยืนต้นทั้งสิ้น 3,186,640 ต้น ส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้ล้อมที่ไม่มีรากแก้ว ขณะที่พื้นที่ กทม.ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มต่ำและสะสมน้ำใต้ดินไว้ค่อนข้างมาก เมื่อสภาพพื้นดินแฉะและต้นไม้มีขนาดใหญ่จึงมีโอกาสสูงที่ต้นไม้จะล้มได้

"ต้นไม้ที่นำมาปลูกในพื้นที่ กทม.ไม่ว่าจะเป็นตามบ้านเรือนหรือพื้นที่สาธารณะ มักจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกหลังจากก่อสร้างถนนหรือก่อสร้างบ้านเรือนแล้ว ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่นำมาปลูกจะเป็นต้นไม้ล้อมที่ไม่มีรากแก้ว มีเพียงรากแขนงเท่านั้น" นายจักกพันธุ์ กล่าว

จากข้อมูลข้างต้นอาจเพิ่มความตระหนักให้กับประชาชนอีกเท่าตัวเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าต้นไม้ใหญ่ที่ไร้รากแก้วจะสามารถล้มลงมาเมื่อไหร่ก็ได้และหวั่นซ้ำรอยเหตุการณ์เดิม ซึ่งเหตุผลนี้จะเป็นจริงหรือไม่.?

ทาง Sanook! News จึงได้ติดต่อสัมภาษณ์ ครูต้อ หมอต้นไม้ หรือ อ.ธราดล ทันด่วน ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้ในเมือง ได้เปิดเผยว่า จริงๆแล้วรากแก้วของต้นไม้ใหญ่ในเมืองไม่มีอยู่แล้ว โดยธรรมชาติของต้นไม้ในเมืองร้อนเมื่อเจริญเติบโตถึงจุดหนึ่งของชนิดนี้รากแก้วจะสูญสลายไป อีกสาเหตุหนึ่งคือสภาพดินในกรุงเทพฯ ไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของรากแก้ว

คือ ช่วงแรกๆ เมื่อรากแก้วหยั่งรากลงในดินพอไปเจอระดับน้ำใต้ดินรากแก้วก็หยุดการเจริญเติบโตเพราะไม่ได้อากาศหายใจ รากแก้วของต้นไม้ส่วนใหญ่มีหน้าที่ในการช่วยตั้งหลักและพยุงลำต้นตั้งแต่ช่วงแรกๆที่ต้นไม้กำลังเติบโต พอต้นไม้เจริญเติบโตเต็มที่ในระดับนึงจนเป็นต้นไม้ใหญ่แล้วรากแก้วก็จะค่อยๆหายไป และจากนั้นก็จะมีการสร้างรากแขนงผิวดินจนเจริญเติบโตรอบๆต้นไม้ขึ้นมาเรื่อยๆ

"ซึ่งรากแขนงนี่เองมีส่วนสำคัญในการช่วยพยุงต้นไม้ไม่ให้ล้ม และความเชื่อเรื่องรากแก้วนี่เองทำให้คนก่อสร้างไม่ให้น้ำหนักต่อรากแขนงผิวดิน ดังเช่นที่เราเห็นต้นไม้ใหญ่ในเมืองกรุงจะมีการเทปูนทับรอบต้นไม้จนไม่เหลือพื้นที่ให้รากแขนงเจริญเติบโต ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคือต้องเหลือพื้นที่อย่างน้อยในการเจริญเติบโตของรากแขนง โดยเว้นระยะความกว้างรอบลำต้นประมาณ 3 เท่าของขนาดความโตของลำต้น นั่นก็คือเส้นผ่าศูนย์กลางของต้นไม้นั้นๆ"

ส่วนการสังเกตต้นไม้ใหญ่ว่ามีความสี่ยงต่อการล้มหรือไม่ให้ดูปัจจัย 3 อย่างดังนี้ คือ ลำต้น เรือนยอด และราก

โดยสังเกตว่าลำต้นตั้งตรงหรือไม่ มีรอยผุเป็นโพรงหรือเปล่า ขนาดของลำต้นโตสมบูรณ์กับเรือนยอดหรือเปล่า ลำต้นเล็กเรือนยอดใหญ่เดี๋ยวก็หัก ดูเรือนยอดว่าตั้งอยู่ศูนย์กลางลำต้นหรือไม่หรือเอียงออกนอกฐาน หรือหนาเกินไปและสังเกตกิ่งแห้งกิ่งตาย ส่วนระบบรากมีรากแขนงผิวดินดีหรือไม่ และถ้า 3 ปัจจัยนี้สมดุลคือว่าหมดปัญหา

ทั้งนี้การที่มุ่งไปโฟกัสกับต้นไม้ใหญ่ที่ไม่มีรากแก้วนั้นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะส่วนที่ต้องวิตกกังวลจริงๆคือการทำให้รากแขนงไม่เจริญเติบโต ทั้งการเทปูนทับรากแขนงไม่เหลือพื้นที่ให้เจริญเติบโต ขาดการตกแต่งกิ่ง ไม่ดูแลลำต้นและรากแขนงอย่างจริงจัง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่น่าห่วงที่สุด ครูต้อหมอต้นไม้กล่าวทิ้งท้าย

 

ทีนี้ลองมาดูแนวทางการดูต้นไม้ของ กทม.บ้างว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1.หลังจากที่ปลูกต้นไม้แล้วต้องมีการให้ปุ๋ยเพื่อสร้างความแข็งแรง

2.กำจัดศัตรูพืชซึ่งอาจกัดกินต้นไม้จนทำให้ต้นไม้มีสภาพทรุดโทรม

3.ต้นไม้ที่อยู่ใน กทม.มักมีปัญหาเกี่ยวกับสายไฟจากกิ่งก้านที่แตกสาขาออกไป จึงต้องตัดแต่งต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ

4.ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นต้นไม้ล้อม ดังนั้นหลังจากปลูกต้นไม้แล้วจะต้องมีไม้พยุงต้นไม้หรือท่อนเหล็กคอยพยุงต้นไม้ไว้จนกว่าจะมีสภาพที่แข็งแรงจึงจะเอาไม้พยุงออกได้

5.ถ้าต้นไม้ในพื้นที่มีสภาพที่ดูแล้วจะต้องมีการศัลยกรรมต้นไม้ จะมีทีมรุกขกรรมคอยดูแลบำรุงรักษา

6.หากต้นไม้นั้นไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ กทม.จะทำการล้อมย้ายต้นไม้ไป

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สั่งการให้สำนักงานเขต 50 เขต สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ดูแลต้นไม้ในพื้นที่ตาม 6 ขั้นตอนดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะหากเป็นต้นไม้ที่ปลูกแล้วอาจดูแล้วไม่มั่นคงแข็งแรง การดูแลรักษาจึงเป็นเรื่องจำเป็น

เหตุการณ์ต้นไม้ใหญ่ล้มอาจถือว่าเป็นอุบัติเหตุ แต่ถ้าหากเราสามารถเรียนรู้และป้องกันได้ก็น่าจะช่วยลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นให้ลดน้อยลงไปได้ และที่สำคัญถ้าเรียนรู้และทำเข้าใจอย่างถ่องแท้ ความเชื่อผิดๆ ที่ก่อให้ความวิตกกังวลก็จะสามารถคลี่คลายได้โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น และเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook