ศธ.รับลูกนายกฯตั้งทีมสุ่มตรวจนศ.ขายตัวผ่านไฮไฟว์

ศธ.รับลูกนายกฯตั้งทีมสุ่มตรวจนศ.ขายตัวผ่านไฮไฟว์

ศธ.รับลูกนายกฯตั้งทีมสุ่มตรวจนศ.ขายตัวผ่านไฮไฟว์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ศธ.รับลูกนายกฯ เล็งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ-แก้ปัญหานักศึกษาขายตัวผ่านเว็บไซต์ หวั่นเด็กมีค่านิยมผิดแห่ขายตัวเพื่อใช้ชีวิตหรูหรา ขู่ใช้มาตรการทางกฎหมายปราบปราม จี้สถาบันการศึกษาที่ถูกแอบอ้างแจ้งความเอาผิด

(9ก.พ.) นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายนิวัตร นาคะเวช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษา ธิการ(ศธ.) ถึงปัญหานักเรียน นักศึกษาขายบริการทางเพศผ่านเว็บไซต์ไฮไฟว์(Hi5) โดยได้มอบหมายให้ผู้ตรวจฯ ไปศึกษารายละเอียดแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากปัญหานี้เป็นเรื่องที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ มีความห่วงใย เพราะเป็นปัญหาสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กระทรวงวัฒนธรรม และ ศธ.เอง ในฐานะที่มีนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษาในสังกัดจำนวนมาก

นายสุธรรม กล่าวอีกว่า เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยปละละเลย เพราะหากปัญหานี้ยังคงมีอยู่ก็อาจจะกลายเป็นค่านิยม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่นักเรียน นักศึกษาอื่นๆ ที่อาจจะรู้สึกว่าเป็นวิธีการที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย หรูหรา ดังนั้น ตนจะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษารายละเอียดแนวทางในการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน นักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา เข้าร่วม

"คงต้องมีการสุ่มตรวจไปยังเว็บไซต์ที่ปรากฏตามข่าว รวมทั้งประสานไปยังสถาบันการศึกษาให้ช่วยกันตรวจสอบอีกทางหนึ่ง โดยหากสถาบันการศึกษาใดถูกนำชื่อไปแอบอ้าง ก็ควรแจ้งความดำเนินคดีทันที เพราะสถานศึกษาถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ในเรื่องของชื่อเสียงสถาบัน" นายสุธรรม กล่าว

เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่พบว่า มีนักเรียน นักศึกษาคนใด ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวจริง ก็คงจะต้องตักเตือนให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว รวมทั้งตรวจสอบว่า นักเรียน นักศึกษา มีปัญหาอย่างไร มีความเดือดร้อนในเรื่องใดบ้าง ซึ่งหากพบว่านักเรียน นักศึกษาดังกล่าวมีความเดือดร้อนจริง ทาง ศธ.จะรับช่วยเหลือในการประสานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ. ) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ แต่หากเป็นกรณีที่ไม่สามารถเยียวยาได้ก็อาจจะต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าไปปราบปราม อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าขณะนี้ปัญหาดังกล่าวกำลังก่อตัวลุกลาม และทำท่ายืดเยื้อมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษาและเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ซึ่งจะเรียกประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางกันในเร็วๆนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook