เด็กแห่ค้านเปิดรับสมัคร เอเน็ต รอบ 2! อัดคนพลาดขาดความรับผิดชอบ
เด็กแห่โพสต์เว็บไซต์ดังคัดค้าน ศธ.เปิดจ่ายเงินค่าสมัครเอเน็ตรอบ 2 ชี้เป็นพวกขาดความรับผิดชอบต่อตัวเอง กระทบคนอื่น นักเรียน ม.5 ร.ร.ดังบอกถ้า สกอ.ยอมให้สิทธิคนกลุ่มนี้ ปีหน้ารุ่นน้องเมินกฎกติกาเรียกร้องบ้าง เผยตัวเลขร้องทุกข์ 2 วัน 105 ราย เลขาฯ สกอ.เผยสรุปเบื้องต้นระบบรับสมัครไร้ปัญหา กำหนดเงื่อนไข วันเวลาชัดเจน เชิญประธานทปอ.หารือ 10 ก.พ.ก่อนชงบอร์ดอำนวยการแอดมิสชั่นส์ชี้ขาด 11 ก.พ.
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังมาตรวจเยี่ยม และรับฟังปัญหาเกี่ยวกับการสมัครทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ไม่ทันตามกำหนดในวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา จากนายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่สอง ที่ สกอ.เปิดรับเรื่องร้องทุกข์สำหรับผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ว่า ยังสรุปไม่ได้ว่าจะคืนสิทธิให้กับผู้ร้องเรียนทั้งหมดหรือไม่ จะขอดูยอดตัวเลขผู้ร้องเรียนในอีก 2-3 วัน เพราะต้องรอข้อมูลปัญหาของเด็กในต่างจังหวัดที่จะเปิดให้ร้องทุกข์ในวันที่ 10 -13 กุมภาพันธ์
"จากนั้น สกอ.จะสรุปสภาพปัญหา และแนวปฏิบัติ นำไปหารือกับคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีเลขาธิการ กกอ.เป็นประธาน เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะอำนาจตัดสินใจเป็นของคณะกรรมการอำนวยการฯ ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐทุกแห่งร่วมเป็นกรรมการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับนิสิตนักศึกษาโดยตรง"
นายชัยวุฒิกล่าวว่า สำหรับผู้ร้องทุกข์นั้น ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีเพียบ 76 ราย ส่วนในช่วงเช้าวันนี้(9 กุมภาพันธ์) มีเพียง 9 ราย รวม 85 ราย ซึ่งทั้งหมดยังไม่พบปัญหาที่เกิดจากระบบการรับสมัคร ส่วนใหญ่กว่า 50% ระบุว่าไม่ทราบวันหมดเขตการชำระเงิน เนื่องจากใบสมัครที่พิมพ์ออกมาไม่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้หากเด็กสมัครด้วยตัวเองจะต้องทราบ นอกจากนี้ มี 3 รายที่ระบุว่าบาร์โค้ดอ่านไม่ได้ ที่เหลือคือฝากผู้อื่นไปชำระเงินให้ แต่ไม่ได้ชำระเงินให้เพราะลืม
"ยังไม่ชัดเจนว่าตัวเลขผู้เดือดร้อนจะถึง 20,000 คนจริงๆ หรือไม่ ขอดูตัวเลขผู้ร้องทุกข์สักระยะก่อน แต่โดยหลักการแล้ว ถ้าทุกฝ่าย รวมทั้ง คณะกรรมการอำนวยการฯ เห็นว่าควรคืนสิทธิแก่เด็กกลุ่มนี้ ก็ต้องหาแนวปฏิบัติที่ไม่กระทบสิทธิเด็ก 1.9 แสนคนที่สมัคร และชำระเงินถูกต้องตามกติกา โดยต้องให้เด็กสอบพร้อมกันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่มีกลุ่มที่สอบก่อน และสอบหลัง ซึ่งจะเหลื่อมล้ำ และเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อีกทั้ง ใกล้ประกาศเลขที่นั่งสอบในวันที่ 14 กุมภาพันธ์แล้ว ดังนั้น ต้องดำเนินการให้โปร่งใส และเที่ยงตรง ไม่ให้เกิดเสียงครหา และความสงสัยถึงความไม่โปร่งใสในระบบ แม้แต่รายเดียวก็ไม่ได้"
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ส่วนที่ไม่ได้สมัครเอเน็ตโดยให้เหตุผลว่าประสบอุบัติเหตุนั้น คิดว่ายากมากในทางปฏิบัติที่จะรื้อระบบเพื่อมารับสมัครใหม่ เพราะกลุ่มนี้ต่างจากกลุ่มที่สมัครแล้วแต่ยังไม่ชำระเงิน เนื่องจากมีชื่ออยู่ในระบบแล้ว ซึ่งจะสรุปปัญหาทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการอำนวยการฯ เป็นผู้ตัดสินใจ แต่คงต้องประมวลความเห็นของเด็กที่อยู่ในกลุ่ม 1.9 แสนคน มาประกอบการตัดสินใจด้วย เพราะเริ่มมีเด็กเข้าไปโพสต์ตามเว็บไซต์ต่างๆ คัดค้านการเปิดให้ชำระเงินรอบสองแล้ว
นายสุเมธ กล่าวว่า เรื่องบาร์โค้ดอ่านไม่ได้นั้น ยืนยันว่าบาร์โค้ดสมบูรณ์ แต่ที่อ่านไม่ได้อาจเกิดจากเครื่องพริ้นเตอร์ไม่ชัดเจน เครื่องอ่านบาร์โคดมีปัญหา หรือชำระเงินเลยระยะเวลาที่กำหนด เครื่องอ่านบาร์โค้ดจึงไม่รับ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องคนหนึ่งระบุว่ามีปัญหาอ่านบาร์โค้ดไม่ได้นั้น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์แจ้งมายังตนว่า เครื่องอ่านบาร์โค้ดที่ไปรษณีย์มีปัญหา แต่ได้แนะนำเด็กให้ไปใช้บริการที่ธนาคารแล้ว ยืนยันว่าระบบบาร์โค้ดที่นำมาใช้เป็นระบบสากล สะดวก และรวดเร็วที่สุด ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคาต่างๆ ก็ใช้ระบบนี้ในการรับชำระเงิน
"วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผมจะเชิญ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ ประจำปี 2553 มาหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเป็นการเบื้องต้น ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ"
นายสุเมธให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกว่า ได้นัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่งนายชัยวุฒิฝากให้ตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่ โดยไม่ต้องรอให้การเมืองสั่งการ ดังนั้น จะพยายามให้ได้ข้อยุติในการประชุมดังกล่าว ทั้งนี้ หากได้รับรายงานสภาพปัญหาของต่างจังหวัด และประมวลได้ว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เกิดจากสาเหตุอื่น จะพิจารณาช่วยเหลือในแง่มนุษยชน แต่ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าผลจะออกมาอย่างไร สำหรับผู้ยื่นร้องทุกข์ในวันนี้มีเพียง 29 ราย แบ่งเป็น สมัครไม่ทัน 9 ราย สมัคร และรู้วันชำระเงิน แต่ไปชำระเงินไม่ทัน 8 ราย มีปัญหาบาร์โค้ด 1 ราย ไม่ทราบวันชำระ 5 ราย ติดภารกิจ 3 ราย และป่วย 3 ราย รวม 2 วัน 105 คน
"จากการหารือร่วมกับนายชัยวุฒิได้ข้อสรุปว่า ปัญหาจ่ายเงินไม่ทันกำหนดไม่ได้เกิดจากระบบรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต รวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไข ขั้นตอน และกำหนดวันเวลาชัดเจน แต่อาจต้องปรับปรุงรายละเอียดในเรื่องภาษาที่อ่านแล้วตีความให้เกิดความสับสนได้ ที่สำคัญต้องกำหนดวันหมดเขตการชำระเงินไว้ในใบสมัครที่เด็กต้องนำไปชำระเงินด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะรายงานให้ประธาน ทปอ.และนายมณฑลรับทราบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการรับสมัครการสอบต่างๆ ในปีต่อไป" นายสุเมธกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่นายชัยวุฒิ และนายสุเมธ แถลงข่าว ได้นำระเบียบการสมัครมายืนยันว่าในขั้นตอนการสมัคร ได้ระบุวันสิ้นสุดการชำระเงินซึ่งปรากฏอยู่ในขั้นตอนการสมัครทางอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ต้น และมีการนำข้อมูลในเว็บไซต์เด็กดี www.dek-d.com ที่มีเสียงคัดค้านไม่ให้ ศธ.เปิดรับชำระเงินให้แก่เด็กกลุ่มนี้ โดยกระทู้ระบุว่า "เป็น 1 เสียงที่ขอคัดค้านการให้สิทธิของคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อตัวเองครับ"
จากนั้นมีผู้ที่แสดงความเห็นสนับสนุนเจ้าของกระทู้จำนวนมาก โดยระบุว่าการสมัครจนได้ใบสมัครสอบเอเน็ตนั้น สะท้อนว่าระบบ และขั้นตอนการสมัครตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของ สกอ.ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาเพราะผู้สมัครไม่ใส่ใจที่จะไปชำระเงินให้ทันตามกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากเว็บไซต์เด็กดีดอดคอมแล้ว ยังมีเว็บไซต์อื่นๆ อื่นที่คัดค้านการเปิดชำระเงินรอบสอง เช่น เว็บไซต์ www.pantip.com ที่ตั้งกระทู้ทำนองคัดค้าน สกอ.ที่จะยืดเวลาชำระเงินออกไปให้ โดยระบุว่าถ้าขยายระยะเวลาออกไป จะทำให้กฎกติกาไม่ศักดิ์สิทธิ์ และจะหมดความหมายในปีถัดไปทันที
นายอุทิศ วัฒนกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนหาดสำราญวิทยาคม จ.ตรัง กล่าวว่า กรณีมีข่าวว่านักเรียน 16 คนของโรงเรียนหาดสำราญฯ ไม่สามารถสมัคร และชำระเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตได้ตามกำหนด เนื่องจากครูแนะแนวที่รับจะไปดำเนินการให้ ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างบุคคล ไม่ได้ดำเนินการให้ เพราะครูคนดังกล่าวเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน เนื่องจากกระดูกสันหลังเปาะ ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม และออกจากโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 มกราคม ทำให้สมัคร และชำระเงินให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ทัน เมื่อทราบข้อเท็จจริง จึงมอบให้รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการไปหารือ และขอคำแนะนำจาก สกอ.ทันทีว่าจะช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง โดย สกอ.ยืนยันว่าไม่สามารถเปิดรับสมัครได้อีก
"จึงแนะนำให้เด็กไปสมัครสอบผ่านระบบรับตรงในมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช้คะแนนเอเน็ต ซึ่งโรงเรียนได้ดำเนินการให้เด็ก 13 คนสมัครสอบในมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านระบบรับตรงแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น โดยทั้งผู้ปกครอง และนักเรียนต่างก็พอใจ เหลือเพียง 3 คน ที่ไปร้องเรียนที่ สกอ." ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว
นายจักรกริช เกกินะ นักเรียน ม.5 โรงเรียนบางกะปิ กล่าวว่า ติดตามข่าวสารเรื่องนี้มาโดยตลอด และพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนว่าถ้า สกอ.ขยายการชำระเงินให้รุ่นพี่ที่ไม่ไปชำระเงินตามกำหนดกลุ่มนี้ จะทำให้รุ่นน้องเห็นตัวอย่าง และไม่ต้องกระตือรือร้น เพราะถ้าลืมชำระเงิน ก็ออกมาเรียกร้อง และ สกอ.จะต้องช่วยโดยเปิดรับชำระเงินอีกรอบ ทำให้ดูเหมือนไม่มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยหากจะขยายเวลาชำระเงินออกไปอีก เพราะการเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยมีความสำคัญกับเด็กทุกคน จึงต้องมีความรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของต่างจังหวัด จะเปิดให้ร้องทุกข์ตั้งแต่วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ โดยมี 87 โรงเรียนที่เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ สามารถตรวจสอบรายชื่อโรงเรียนดังกล่าวที่เว็บไซต์ สกอ. www.cuas.or.th และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน www.obec.go.th ซึ่งในเว็บไซต์ สพฐ.ระบุชัดเจนว่าผู้ที่จะยื่นคำร้องทุกข์ได้ ต้องเป็นผู้ขาดสิทธิการสอบเอเน็ตเนื่องจากสมัครแล้วแต่ชำระเงินไม่ทันตามกำหนดเท่านั้น
นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.)บุรีรัมย์ เขต 1 กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีนักเรียนใน จ.บุรีรัมย์ที่ถูกตัดสิทธิ์การสอบเอเน็ต จำนวน 371 คน ดังนั้น สพท.บุรีรัมย์ทั้ง 4 เขต จึงได้ประสานความร่วมมือในการช่วยเหลือเด็กนักเรียนดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำหรับนักเรียนที่ยังไม่มีสิทธิ์ในการสอบเอเน็ต ขึ้นที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม อ.เมืองบุรีรัมย์ และที่โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม อ.ประโคนชัย โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คอยรับเรื่อง
"สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาดังกล่าว สามารถติดต่อขอรับแบบฟอร์ม เพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์การสมัครสอบเอเน็ต ได้ที่ศูนย์ทั้ง 2 แห่ง ระหว่างวันที่ 10-13 กุมภาพันธ์นี้ หรือโทร.044-611098, 044-612888 และ 044-671131 ตามวันที่กำหนด"
ด้านนายกมล ศิริบรรณ ผอ.สพท.นครราชสีมา เขต 1 เปิดเผยว่า สพท.นครราชสีมาทั้ง 7 เขตได้บูรณาการร่วมกัน โดยตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ขึ้นที่อาคารอำนวยการ โรงเรียนสุรนารีวิทยา อ.เมืองนครราชสีมา สามารถติดต่อประสานได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 044-255739 คาดว่าตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป น่าจะมีนักเรียนเริ่มทยอยติดต่อเข้ามาขอคำปรึกษาหรือร้องทุกข์