"ฉันไม่รู้เลย" แม่ลูกอ่อนอุ้มลูก ควักแบงค์ปลอมซื้อของทั่วเมือง
สาวแม่ลูกอ่อนโดนตะครุบ อุ้มลูกน้อยควักเงินแบงค์ปลอม ตระเวนซื้อของร้านค้าทั่วเมืองบุรีรัมย์ ขอตรวจพบแบงค์ 1,000 บาทเป็นปึก อ้างเป็นเงินเดือนที่เพิ่งได้มา ไม่รู้เลยว่าเป็นของปลอม
(2 มิ.ย.) ศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 ตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับแจ้งร้องเรียนจากพ่อค้าแม่ค้าหลายร้านในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ว่า มีหญิงสาวรายหนึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ออกตระเวนใช้ธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท ซื้อของตามร้านค้าหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.เมืองบุรีรัมย์ จึงได้เดินทางไปตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้ง
เมื่อไปถึงร้านขายเบเกอรี่ “คิดถึงเบเกอรี่” บริเวณสี่แยกเวียนนาในเขตเทศบาลเมือง พบ นางวิชญาดา อายุ 33 ปี นั่งอยู่ภายในร้านกับลูกชายวัยขวบเศษ ซึ่งเป็นหญิงสาวที่ทางร้านแจ้งว่านำธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท มาจ่ายค่าอาหาร แต่พนักงานไหวตัวทันหลังจากตรวจสอบธนบัตรแล้วพบว่าเป็นแบงค์ปลอม จึงรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ
เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นภายในกระเป๋าของ นางวิชญาดา ก็ต้องตกตะลึง เพราะพบธนบัตรปลอมฉบับละ 1,000 บาท มากถึง 10 ฉบับ รวมเป็นเงิน 10,000 บาท และทุกฉบับจะพิมพ์เป็นเลขเดียวกันทั้งหมด แต่เมื่อนำไปส่องกับแสงสว่างจะไม่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์บนธนบัตร ซึ่งหากดูผิวเผินไม่สังเกตหรือตรวจสอบให้ละเอียด แทบจะไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม
ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบธนบัตรและสอบถามรายละเอียดจาก นางวิชญาดา อยู่นั้น ก็มีเจ้าของร้านอีกหลายราย มาชี้ตัวพร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ว่าหญิงคนดังกล่าวใช้ธนบัตรปลอมซื้อของที่ร้านเช่นเดียวกัน
จากการสอบถาม นางวิชญาดา อ้างว่า ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาททั้ง 10 ฉบับดังกล่าว ที่นำมาตระเวนซื้อของนั้นเป็นเงินเดือนที่เพิ่งได้รับจากนายจ้างที่ตนเองทำงานอยู่ที่ร้านขายของชำแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อได้รับเงินเดือนก็ขอลานายจ้างเพื่อกลับมาเยี่ยมลูกชายที่ฝากเลี้ยงไว้กับตายายที่บ้านเกิด แต่ไม่รู้มาก่อนว่าจะเป็นแบงค์ปลอม กระทั่งนำมาซื้อของแล้วทางร้านก็ทักว่าเป็นแบงค์ปลอมก็รู้สึกตกใจ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปักใจเชื่อคำกล่าวอ้างของนางวิชญาดา เพราะมีเจตนาจะใช้เงินซื้อของร้านค้าหลายแห่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจจึงได้นำตัวส่งให้พนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหามีและใช้ธนบัตรปลอม พร้อมตรวจยึดธนบัตรปลอมทั้งหมดไว้เป็นของกลาง ทั้งจะได้สอบสวนหาที่มาหรือแหล่งผลิตแบงค์ปลอม เพื่อจะได้ทำการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำแบงค์ปลอมใช้ที่อื่นอีกด้วย