นักเรียนยะลาจ่ายเงินสอบเอเน็ตไม่ทันเกือบ 400 ราย

นักเรียนยะลาจ่ายเงินสอบเอเน็ตไม่ทันเกือบ 400 ราย

นักเรียนยะลาจ่ายเงินสอบเอเน็ตไม่ทันเกือบ 400 ราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แนวโน้มเด็กร้อง เอเน็ต อดสอบ ยันระบบสกอ.ไม่พลาด ระบุปัญหาผิดพลาดเพราะตัวเด็กเอง ปธ.คณะทำงานแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2553 พร้อมรับข้อผิดพลาดสกอ.ไปแก้ไขแอดมิชชั่นส์ปี 53 นักเรียนบุรีรัมย์ที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ตทยอยยื่นคำร้อง

เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)ประชุมหารือร่วมกับ รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิชชั่นส์ ปี 2553 และนางสมสุข ธีระพิจิตร รองเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) โดยสกอ.ได้นำบทวิเคราะห์จากการรับฟังความคิดเห็นข้อร้องเรียนที่มายื่นตั้งแต่วันที่ 8- 9 ก.พ. 52 จำนวน 105 คน ชี้แจงให้ประธานแอดมิชชั่นส์ ปี 2553

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ได้อธิบายให้เห็นถึงขั้นตอนการรับสมัครทั้งการสมัครสอบวิชาเฉพาะ การทดสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง(เอเน็ต) และการสอบคัดเลือกรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา(แอดมิชชั่นส์) ซึ่งที่ผ่านมา การรับสมัครทั้ง 3 ครั้งใช้ระบบเดียวกัน คือรับสมัครผ่านอินเทอร์เน็ต และขอให้นำสิ่งมีปัญหาไปปรับปรุงใช้ในการรับสมัครแอดมิชชั่นส์ปี 2553

รศ.ดร.มณฑล กล่าวว่า ขอยืนยันว่าระบบการรับสมัครสอบผ่านอินเทอร์เน็ตของสกอ.ไม่มีปัญหา ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้ง 26 แห่งของรัฐ ก็ใช้ระบบเดียวกันนี้ในการรับตรง อีกทั้ง เท่าที่ดูขั้นตอนการสมัครไม่ได้มีปัญหา และระเบียบได้บอกชัดเจนถึงวันสิ้นสุดการชำระเงินเมื่อไหร่ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้จะต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของเด็ก 1.9 แสนคน ซึ่งเป็นเด็กส่วนใหญ่ที่ไม่มีปัญหา และทำตามระเบียบทุกขั้นตอน

รศ.ดร.มณฑล กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่พบ น่าจะเป็นเรื่องของของคำอธิบาย ดังนั้น ทปอ.รับจะไปปรับปรุงให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่านักเรียนที่มาร้องเรียนบางราย เคยสมัครสอบวิชาเฉพาะ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสามารถสมัครได้ไม่มีปัญหา แต่พอมาสมัครสอบเอเน็ต กลับอ้างว่าไม่เข้าใจระบบ ทั้งที่ 2ระบบใช้วิธีการสมัครเดียวกัน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ต ประมาณ 22,000 คนนั้น มองว่าเหตุที่ไม่มาชำระอาจรอผลการรับตรงจากมหาวิทยาลัย หรือบางคนแค่เข้ามาทดลองเข้าระบบแต่ไม่ได้ตั้งใจจะนำคะแนนไปใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัยก็เป็นได้

"วิธีการที่ดีที่สุด เด็กควรจะไปสมัครสอบและชำระเงินด้วยตนเอง ไม่ใช่ฝากคนอื่นไปสมัครสอบพอเขาลืมชำระเงินค่าสมัครให้ ก็มาโทษว่าเป็นที่ระบบ เพราะดูจากเหตุผลของเด็กที่มาร้องแล้ว ส่วนมากเป็นปัญหาส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับระบบ ดังนั้น เท่าที่ดูเหตุผลทั้ง 105 คน ไม่มีกรณีใดที่สามารถเยียวยาได้ แนวโน้มของการประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในวันที่ 11 ก.พ. 52 คงจะไม่เปิดรับสมัครรอบ 2 แต่ยังคงรับเรื่องร้องเรียนไปถึงวันที่ 13 ก.พ.52นี้ ซึ่งหากมีเหตุผลที่สมควรก็อาจจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป" รศ.ดร.มณฑล กล่าว

รศ.ดร.มณฑล กล่าวด้วยว่า การตัดสินใจว่าจะเปิดรับสมัครอีกรอบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะอำนวยการฯซึ่งประกอบด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั้ง 26 แห่งส่วนกรณีที่เด็กมีปัญหาและเสียโอกาสจริง ๆ เราก็คงต้องช่วย กรณีที่นักเรียนจะฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นสิทธิของเด็ก

ดร.สุเมธ กล่าวเสริมว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำรายชื่อนักเรียนที่มาร้องเรียน ในวันแรก 76 คน แต่ไม่ได้สมัครเอเน็ต เลยจำนวน 16 คน ดังนั้น จำนวนที่สกอ.พิจารณาได้คือนักเรียนที่สมัครสอบและไม่ได้ชำระเงินค่าสมัคร จำนวน 60 คน พบว่ามีถึง 43 คน เคยสมัครสอบวิชาเฉพาะมาแล้ว และรายชื่อผู้ที่ไม่ได้ชำระเงินจำนวน 22,000 คน พบว่ามีเด็กที่ผ่านการสอบวิชาเฉพาะมาแล้วถึง 8,000 คน ซึ่งการสมัครสอบวิชาเฉพาะที่ผ่านมา มีผู้สมัครสอบถึง 1.6 แสนคน และมีการชำระเงิน 1.4 แสนคน มีผู้ไม่ได้มาชำระเงินประมาณ 10,000 คน แต่ไม่มีใครออกมาเรียกร้อง

"เด็กเหล่านี้ ส่วนหนึ่งผ่านกระบวนการสมัครมาแล้วซึ่งเป็นระบบเดียวกัน เด็กจะอ้างว่าไม่รู้ ไม่เข้าใจคงไม่ได้ ดังนั้น ตอนนี้ไม่รู้ว่าสังคมกำลังถูกหลอกหรือเปล่า วันนี้ระบบที่เคยใช้มาแล้วถูกกล่าวหาว่ามีปัญหา หน้าที่ของผมคือยืนยันและชี้แจ้งให้สังคมได้รับรู้ว่าระบบไม่มีปัญหา แต่ไม่ได้ต่อว่าใครทำถูกหรือทำผิดทั้งสิ้น เพียงอยากบอกข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างนี้" เลขาธิการกกอ.กล่าว

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 11 ก.พ.52 สกอ.จะหารือร่วมกัน 3 เรื่อง คือ 1.รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายของรมว.ศึกษาธิการ และดูเรื่องราว ประเด็นของเด็กที่สมัครแต่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเท่านั้น 2. บอกถึงบทเรียนที่เกิดขึ้น ว่าต่อไปทปอ.ควรดำเนินการแก้ไขอย่างไร 3.หารือถึงแนวทางในการช่วยเหลือเด็ก 22,000 คน

ทั้งนี้ แบ่งกลุ่มเด็กไว้ เป็น3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ไม่ประสงค์สอบเอเน็ต 2. ตั้งใจสมัครสอบ และอยากสอบเอเน็ตจริงๆ แต่มีปัญหาไม่ได้ไปชำระเงิน โดยติดภารกิจ หรือเหตุผลต่างๆ และ 3. กลุ่มที่สมัครเพื่อเลือก ซึ่งถ้าได้รับตรงก็อาจไม่ต้องสอบเอเน็ต ซึ่งทางสกอ.จะให้เจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามนักเรียนที่สมัครสอบเอเน็ต แต่ไม่ได้ชำระค่าสมัคร 22,000 คน เพื่อวิเคราะห์ว่าที่นักเรียนไม่ชำระค่าสมัครเอเน็ต เพราะอะไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาในวันที่ 11 ก.พ. 52 ไม่ใช่ผลสรุปชัดเจน แต่เป็นเพียงข้อสรุปเบื้องต้นเท่านั้น เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรับเรื่องร้องเรียนไปถึงวันที่ 13 ก.พ. 52 และรอเรื่องร้องเรียนของเด็กต่างจังหวัดด้วย ทั้งนี้ จะสรุปผลในวันที่ 14 ก.พ.นี้

นายเศรษฐวิทย์ ศรียาบ นักเรียนชั้นม.6 ประธานนักเรียนร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย หนึ่งในนักเรียน 1.9 แสนคนที่สมัครสอบ และชำระค่าสมัครเอเน็ตได้ กล่าวว่า ตนเองได้สมัครสอบเอเน็ต และชำระค่าสมัครเอเน็ต ในวันเดียวกัน ซึ่งระบบการสมัคร และชำระค่าสมัครเอเน็ต ถ้าทำตามขั้นตอน จะเห็นได้ว่ามีการกำหนดวันสิ้นสุดการชำระเกือบทุกหน้า ยกเว้นใบสมัคร แต่ยอมรับว่า ปฎิทินของสกอ. ไม่ดึงดูดเด็กให้สนใจ หรืออยากอ่าน จึงเป็นไปได้ว่า เพื่อนอาจมองไม่เห็น

"ผมและเพื่อนที่ชำระค่าสมัครเอเน็ตทันส่วนมาก พอรู้ว่าสกอ.จะยืดเวลาชำระค่าสมัครให้แก่กลุ่มที่ชำระไม่ทัน เนื่องจากติดเรียน ทำกิจกรรม ลืม หรือฝากพ่อแม่ให้จ่ายแทนนั้น รู้สึกไม่พอใจ เพราะพวกเราทำตามกฎกติกาที่สกอ.ให้มา ทั้งที่ต้องทำกิจกรรม และเรียนหนักไม่แตกต่างจากพวกเขา ทำไมพวกเรายังสมัคร และชำระค่าสมัครได้ ดังนั้น หากสกอ.ยืดชำระค่าสมัครจริงๆ คาดว่าจะทำให้เด็กที่สมัคร และชำระค่าสมัครเอเน็ตได้ รู้สึกว่า คนที่ทำตามกฎระเบียบ ต่อไปก็คงไม่ต้องไปสนใจระบบอะไรมากมาย เพราะเมื่อไม่พอใจ มาร้องเรียนตามสิทธิ์ แต่เป็นสิทธิ์ที่มากกินกฎเกณฑ์กติกาที่ตั้งไว้ หน่วยงานรัฐยังอนุโลมให้ชำระได้" นายเศรษฐวิทย์ กล่าว

นายเศรษฐวิทย์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ เว็บบอร์ดของร.ร.สวนกุหลาบฯ ได้มีการตั้งกระทู้ความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งส่วนมากเด็กที่ชำระค่าสมัครรู้สึกว่า ไม่พอใจและไม่เห็นด้วยนที่จะเปิดให้ชำระเงินรอบ 2 อีกทั้งมองว่า เด็กกลุ่มร้องเรียน อาจไปรอรับตรงที่มหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งก็เป็นได้ เมื่อพลาดก็จะมาชำระค่าสมัครเอเน็ต แต่ไม่ทัน จึงได้ร้องเรียน อย่างไรก็ตาม อยากบอกว่าการสมัครสอบและชำระค่าสมัครเอเน็ต เรื่องนี้นักเรียนทุกคนน่าจะกระทำด้วยตนเอง เพราะเป็นอนาคตของตนเอง โดยเฉพาะคนที่จะสมัครเรียนแพทย์ การสมัคร ชำระค่าสมัครเอเน็ต คุณยังไม่สนใจ แล้วชีวิตคนคุณจะสนใจหรือ

นร.ทั่วจังหวัดเชียงรายทยอยยื่นคำร้องเอเน็ต

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมการศึกษา (สกอ.) ประกาศรับสมัคร เอเน็ต (A-NET) ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2551 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2552 ซึ่งได้มีการกำหนดชำระเงินถึงวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา พบว่าได้มีนักเรียนบางส่วนประสบปัญหาในการชำระเงิน ซึ่งทางจังหวัดเชียงรายได้มีการเปิดศูนย์รับคำร้องการสมัครสอบ เอเน็ต ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 10 -13 กุมภาพันธ์ บริเวณห้องแนะแนว โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม พบว่าได้มีนักเรียนจากทั่วจังหวัดได้เดินทางมายื่นคำร้องอย่างต่อเนื่อง

นางฐิติรัตน์ พิพัฒนาศักดิ์ อาจารย์ฝ่ายแนะแนว โรงเรียนสามัคคี เปิดเผยว่า จากการที่ได้เปิดศูนย์ยื่นรับคำร้องจากนักเรียนที่เข้าไปสมัครสอบในจังหวัดเชียงรายมีทั้งหมด 400 คน พบว่าภายในวันแรกได้มีนักเรียนได้เข้ามายื่นคำร้องจำนวน 4 คน แต่มีนักเรียนคนหนึ่งที่ได้มายื่นคำร้องนั้น ไม่ได้ทำการสมัครสอบผ่านระบบเอเน็ต จึงไม่เข้าคุณสมบัติ ขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 3 คน โดยได้มีการกล่าวอ้างว่า " กำหนดการออกเป็นทางการที่ไม่แน่นอนที่ถูกต้อง จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องการชำระเงินไม่ทันตามกำหนดเวลา " เบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่จะได้รับไว้เพื่อทำการตรวจสอบ และคาดว่าจะมีเด็กนักเรียนจากหลาย 18 อำเภอได้เดินทางทะยอยมายื่นคำร้องอย่างต่อเนื่อง

แต่ที่น่าสังเกตุพบว่า นักเรียนบางกลุ่มได้เข้าสมัครสอบกับทางมหาลัยต่างๆ ที่มีการเปิดรับสมัครสอบ และประกาศผลในเวลาที่ไร่เรี่ยกับกำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงิน ทำให้นักเรียนเกิดความลังเล และมีความหวังว่าจะสอบได้ จึงไม่ได้จ่ายเงินค่าสมัครในระบบเอเน็ตทำให้เด็กพลาดโอกาส หรือบางโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรือบนพื้นที่สูง ระบบอินเตอร์เน็ตยังคงล้าช้า ซึ่งทำให้นักเรียนที่จะเข้าระบบในช่วงวันใกล้ปิดรับสมัครเป็นไปอย่างล้าช้า และเข้าระบบไม่ได้เลยจึงทำให้เสียเปรียบ

เบื้องต้นอยากให้นักเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ อย่ารอโอกาสหรือเวลาที่กระชันชิด เพราะจะทำให้นักเรียนต่างจังหวัด หรือห่างกันเสียเปรียบในหลายด้าน พร้อมกับอยากให้ทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้มีการเปิดสอบและประกาศผลสอบให้รวดเร็ว อย่าใช้เวลาที่ใกล้เคียงกับการปิดรับสมัครเอเน็ต เพราะจะทำให้เด็กเสียเปรียบ

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ก็ได้รับการประสานว่าจะมีนักเรียนจากหลายอำเภอได้เดินทางมายื่นคำร้องเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก พร้อมกันนี้ยังพบอีกว่านักเรียนที่ไม่ได้ยื่นใบสมัครครั้งแรกก็จะมายื่นคำร้องอีกจำนวนมาก ซึ่งอยากให้อาจารย์แนะแนวในหลายโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมและแนะนำเด็กตลอดเวลา" นางฐิติรัตน์ กล่าว

นักเรียนบยะลาจ่ายเงินสอบเอเน็ตไม่ทันเกือบ400ราย

ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ การสอบเอเน็ต ปีการศึกษา 2552 ประจำ จ.ยะลา ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสตรียะลา อาจารย์นุชา ใจเย็น หัวหน้างานทะเบียนวัดผล เปิดเผยว่า ในส่วนของ จ.ยะลา ในขณะนี้ตั้งแต่เปิดรับเรื่องราวในช่วงเช้าที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีนักเรียนเข้ามาแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ แต่อย่างใด

ตนจึงขอประชาสัมพันธ์ให้กับเด็กนักเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสมัครสอบ เอเน็ต ให้รีบมายื่นเรื่องได้ ซึ่งทางศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ จะเปิดรับเรื่องตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น. ตั้งแต่วันนี้ถึงวันศุกร์ที่ 13 กพ. 52 นี้ และทางศูนย์ฯ ก็จะรวบรวมเรื่องราวที่ได้รับคำร้องจากนักเรียนทั้งหมด ส่งไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการ เป็นผู้พิจารณาปัญหาของนักเรียนเป็นรายบุคคล

" เท่าที่ได้รับแจ้งยอดตัวเลข นักเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าสอบเอเน็ต ในส่วนของยะลานั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 397 ราย ที่มีข้อมูลว่าสมัครแล้ว แต่จ่ายเงินค่าสมัครไม่ทัน ซึ่งนักเรียนที่มีปัญหาทั้งหมด ก็ให้เร่งรีบเดินทางมายื่นคำร้อง โดยให้นำเอกสารการสมัครที่ปริ๊นจากโปแกรม ที่ไปชำระเงินไม่ได้ นำมาเป็นหลักฐาน ข้อมูล เพื่อแนบกับใบคำร้องที่ระบุสาเหตุที่ไปชำระเงินใม่ได้ " อาจารย์นุชา กล่าว

นักเรียนบุรีรัมย์ที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ตทยอยยื่นคำร้อง

นักเรียนจากหลายโรงเรียนในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2552 เนื่องจากไม่ได้ชำระเงินค่าสมัคร ได้ทยอยเข้ากรอกแบบคำร้องที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม อำเภอเมือง และโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม อำเภอประโคนชัย ทั้ง 2 จุดอย่างต่อเนื่อง ตามที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ทั้ง 4 เขต ได้ร่วมกันเปิดศูนย์ดังกล่าวขึ้น เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ต ซึ่งจะเปิดตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คอยแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนที่มายื่นคำร้อง

จากการตรวจสอบพบว่านักเรียนที่มายื่นคำร้องส่วนใหญ่อ้างว่าไม่ทราบกำหนดวันรับสมัคร และวันชำระเงินค่าสมัคร จึงทำให้ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ต

นายณรงค์ แผ้วพลสง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 1 กล่าวว่า ภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เปิดให้นักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ตมายื่นคำร้อง ทางศูนย์ทั้ง 2 แห่ง ก็จะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาช่วยเหลือนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์สอบดังกล่าวต่อไป

หลังจากที่ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ทั้ง 4 เขต ได้ร่วมกับเปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำหรับนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ต ที่โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม อำเภอเมือง และโรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม อำเภอประโคนชัย ทั้ง 2 จุด พบว่าได้มีนักเรียนทยอยมากรอบแบบฟอร์มยื่นคำร้องทุกข์เป็นจำนวนมาก

จากการตรวจสอบแล้วพบว่ามีนักเรียนที่ถูกตัดสิทธิ์สอบเอเน็ต เนื่องจากยังไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครเพียง 4 รายเท่านั้น จากทั้งจังหวัดมีนักเรียนที่สมัครแล้วยังไม่ได้ชำระเงิน ถูกตัดสิทธิ์สอบจำนวน 371 คน แต่นักเรียนที่มายื่นคำร้องส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้สมัครสอบตั้งแต่แรก โดยอ้างว่าไม่ทราบกำหนดวันเปิดรับสมัคร ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้ทางศูนย์รับร้องทุกข์ จะได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติว่าจะพิจารณาดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook