พึงระวัง! คดีฆ่าหั่นศพ เสพสื่อมากเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

พึงระวัง! คดีฆ่าหั่นศพ เสพสื่อมากเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีฆ่าหั่นศพสาวหน้าตาดีที่ จ.ขอนแก่น กลายเป็นคดีสยองขวัญที่สังคมไทยได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากและติดตามความคืบหน้าของคดีตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ ซึ่งปรากฏภาพผู้ต้องหาที่ก่อเหตุฆาตกรรมโหดครั้งนี้คือ น.ส.เปรี้ยวพร้อมเพื่อนผู้ร่วมขบวนการ

ทั้งนี้จากการเสพติดสื่อที่มีภาพผู้ต้องหาคือ น.ส.เปรี้ยว และพฤติกรรมอันโหดร้ายของเธอไม่ว่าจะเป็นวงสนทนาหรือการพูดถึงในสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น ไลน์ หรือ เฟซบุ๊ก จนกลายเป็นเรื่องหนึ่งในชีวิตประจำวัน

ทำให้เกิดประเด็นใหม่พร้อมคำถามที่ว่า หากเราเสพสื่อที่มีข่าวเกี่ยวกับเปรี้ยวมากจะเกิดผลกระทบทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่...??

ซึ่งจากการสัมภาษณ์สด ดร.วีระพงษ์ ประสงค์จีน อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน รายการเรียงข่าวเล่าเรื่อง ออกอากาศทางช่อง Sanook.com แอปพลิเคชั่น VOOV โดยมี "ดีเจเคนโด้" เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

อาจจะมีส่วนให้เกิดพฤติกรรมที่มีแนวโน้มให้ที่จะทำคล้ายกัน แต่ว่าคงไม่ใช่ 100% ที่พอเวลาเราอ่านข่าวหรือรับข่าวอะไรแล้วจะทำให้เราเป็นอย่างนั้นทั้งหมด เวลาที่เราได้รับข้อมูลข่าวสาร ได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง หรือได้รับข้อมูลอะไรก็แล้วแต่ มันจะถูกส่งไปยังสมองเพื่อที่จะทำให้เราจดจำ จะจดจำโดยที่เราตั้งใจมีสติสัมปชัญญะ หรือว่าอาจจะจดจำโดยที่เราไม่รู้ตัวสมองก็ยังเก็บข้อมูลเอาไว้อยู่

อันนี้คือธรรมชาติการทำงานของสมอง และในสมองของคนเรามีกลุ่มเซลล์ประสาทที่เรียกว่าเซลล์ประสาทกระจกเงา กระจกเงาก็คือกระจกที่เราใช้ส่องเวลาแต่งตัว แต่งหน้าหรือเอาไว้สะท้อนเงาตัวเองเวลาทำกิจกรรมอะไรต่างๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีค้นพบว่าเซลล์ประสาทกระจกเงานี้เมื่อเราเห็นก็เหมือนกับเราได้ทำ อย่างเช่น ถ้าเราเห็นภาพคนขับรถก็เหมือนกับว่าเรากำลังขับรถด้วย หรือ ขณะที่เราดูกีฬาบาสเกตบอลเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนที่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อในการเล่นบาสเกตบอล ก็จะเคลื่อนไหวเสมือนกับว่าเรากำลังเล่นกีฬานั้นๆอยู่ด้วย

จึงเป็นหลักการที่ว่าทำไมเวลาเราเชียร์กีฬาก็เหมือนกับเรากำลงไปเล่นกีฬาชนิดนั้นด้วย และถ้าหากเราเล่นกีฬาคนเดียวมันก็อาจจะไม่สนุก ถ้าเกิดมีเพื่อนนั่งเชียร์ด้วยก็เหมือนกับเพื่อนเป็นนักกีฬาร่วมทีมกับเราด้วย เพราะฉะนั้นเวลาเชียร์กีฬาเป็นทีมก็จะมันมาก หรือแม้กระทั่งคนที่ไปดูคอนเสิร์ตหรือไปอยู่ที่ที่มีคนรวมตัวกันเยอะๆ ทำไมถึงเกิดการกรี๊ดร้อง การร้อง ทำอะไรทุกด้านที่เกิดการเหนี่ยวนำให้ทำคล้ายๆกัน อันนี้คือสิ่งที่บ่งชี้ว่าเมื่อเราอยู่ใกล้อะไร เห็นอะไร ก็เสมือนว่าทำสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางบวกหรือทางลบ เซลล์ประสาทตัวนี้สามารถที่จะเกิดการกระตุ้นให้ทำงานได้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำเอง

แต่ไม่ได้หมายความว่าสมองของคนเราจะเลียนแบบไปทุกอย่างเพราะเวลาที่เรารับสิ่งต่างๆเข้าไปในสมอง ซึ่งสมองของมนุษย์เป็นสัตว์สังคมและเซลล์ประสาทกระจกเงาทำให้เราเข้าอกเข้าใจ คือเมื่อรู้ว่าเวลาที่เกิดความเจ็บปวด ความทุกข์ เราก็จะเหมือนว่าเราทุกข์ไปด้วย และเมื่อเราเกิดความทุกข์เราก็อยากจะทำให้คนที่เกิดความทุกข์หายจากความเจ็บปวด

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สมองเรารับเข้ามานั้นก็จะมีระบบคุณธรรม จริยะธรรม เพื่อที่จะบอกว่าเราไม่ควรที่จะทำนะเพราะจะส่งผลกระทบให้คนอื่นเป็นทุกข์เพิ่มมากขึ้นหรือเป็นสิ่งที่เรายับยั้งชั่งใจได้สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ถึงแม้ว่าเซลล์กระจกเงาจะถูกกระตุ้นก็ตาม แต่พฤติกรรมบางอย่างที่เป็นสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยกับสังคมสมองของคนเราที่ถูกฝึกให้ทำแต่สิ่งดีๆ ก็จะคอยยับยั้งส่วนที่ไม่ดีไม่ให้แสดงออกมาในรูปแบบพฤติกรรม

คล้ายกับกรณีที่เด็กไม่ควรดูความรุนแรงเพราะว่าสมองของเด็กยังถูกฝึกให้มีวิจารณญาณ ถ้าเด็กมาดูเรื่องเปรี้ยวดูหนังฆาตกรรม เด็กสามารถซึมซับและเซลล์ประสาทกระจกเงาจะสะท้อนให้เด็กมีพัฒนาการเป็นแบบนั้นเพราะว่าสมองเด็กยังไม่มีการรู้จักผิดชอบชั่วดี

เพราะฉะนั้นจึงต้องแนะนำให้พ่อและแม่ช่วยสอดส่องเวลาที่น้องๆดูอะไรที่ไม่ได้ตั้งใจ ต้องมาถอดบทเรียนต้องมาดูว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้มีฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายกระทำและอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ถูกกระทำ ถ้าเกิดเรามุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่ถูกกระทำเราจะเห็นถึงความเป็นทุกข์ความน่าสงสาร ถ้าสอนให้เด็กรู้จักคำว่าความน่าสงสารเป็นอย่างไรและไม่ควรทำแบบนี้นะเพราะเรารู้สึกเข้าอกเข้าใจเค้ารู้สึกเป็นทุกข์เหมือนกับเค้าเราจึงอยากทำให้เค้าพ้นทุกข์ เราจึงจะไม่ทำในสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์

แต่ถ้าสื่อหรือว่าเราให้ความสนใจกับผู้กระทำหรือคนที่ทำร้าย นำเสนอแต่ผู้กระทำมันดูเหมือนกับว่าเค้าเป็นฮีโร่ เป็นสิ่งที่ดีที่น่าจะทำตาม ฉะนั้นแล้วเราควรต้องรักษาความสมดุลสำหรับการนำเสนอข่าวพอสมควร

ส่วนวิธีการสลัดภาพความรุนแรงคือเราควรงดบริโภคข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรุนแรงลง ถ้าเกิดเปิดแล้วไปเจอก็พยามลดไม่ใส่ใจกับข่าวนั้นๆมากนัก รู้เพียงครั้งเดียวพอแค่ให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นอย่างไร มีผลสรุปยังไง แค่นั้นจบ ไม่ควรไปรับรู้รายละเอียดลึกๆ เช่น การฆ่า การทำลายศพ เพราะอาจจะให้ภาพนั้นติดตาและไม่ให้สมองของเรารับข้อมูลในทางลบที่เยอะเกินไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook