บัวแก้วซัดยูเอ็นเอชซีอาร์มีนัยเชิญ โจลี เยี่ยมค่ายพม่า
นายวีรศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวภายหลังร่วมประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 11 ก.พ. เพื่อหารือและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาว โรฮิงญา หลบหนีเข้าประเทศ โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมประชุม ว่า มาตรการของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญานั้น ตั้งอยู่บนดุลยภาพของการรักษาความมั่นคง กฎหมายภายในประเทศ หลักมนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ โดย สมช. จะจัดประชุมกลุ่มทำงาน เพื่อร่างมาตรการที่จะใช้ในการปฏิบัติ มีความโปร่งใส และแจ้งให้ประชาคมโลกได้รับทราบ ซึ่งไทยจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นหารือในการประชุมอาเซียนซัมมิท เพราะมีประเทศอาเซียน 3-4 ประเทศที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า จะหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และองค์กรที่ทำหน้าที่ขนส่งคน หากชาวโรฮิงญาผ่านกระบวนการด่านตรวจคนเข้าเมืองในประเทศไทยแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศที่จะต้องหาทางให้คนเหล่านี้กลับไปสู่ประเทศที่เดินทางมาสำหรับมาตรการระยะยาว รัฐบาลต้องเจรจากับองค์การระหว่างประเทศ เพื่อระดมความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้ชาวโรฮิงญาที่อยู่ในประเทศที่เขาอยู่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและไม่ต้องเดินทางในลักษณะที่เป็นอันตราย ส่วนระยะสั้นจะมีการประชุมกับประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ในประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในเรื่องข้อมูลการปราบปราม การค้ามนุษย์ เพราะได้รับข้อมูลจากโรฮิงญาว่ามีกระบวนการช่วยให้เดินทางและรับเข้าทำงาน จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยจัดประชุมในเร็วๆ นี้
นายวีระศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เชิญ แองเจลิน่า โจลี ดาราสาวชื่อดังจากฮอลลีวูด ในฐานะทูตพิเศษยูเอ็นเอชซีอาร์เดินทางเยี่ยมค่ายอพยพในประเทศไทย ว่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ไม่เข้าใจปัญหาทั้งๆ ที่ความจริงแล้วชาวโรฮิงญาหนีเข้ามาเพื่อหางานทำ พร้อมให้ข่าวว่า ไทยควรให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญา นอกจากนี้ไม่ได้เข้ามาเฉพาะกรณีของโรฮิงญา แต่มาเพื่อขอเข้าไปดูค่ายผู้อพยพจากพม่า ซึ่งเป็นจังหวะที่เรื่องโรฮิงญาเป็นประเด็นพอดี ซึ่งไทยคงต้องตักเตือนยูเอ็นเอชซีอาร์ต่อไป ว่า ไม่ควรจะพูดเรื่องนี้เพราะวัตถุประสงค์ของ แองเจลิน่า โจลี ไม่ใช่เข้ามาฉพาะประเด็นโรฮิงญา อย่างไรก็ตาม เท่าที่ประเมินขณะนี้มีชาวโรฮิงยาประมาณ 20,000 คนกระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งพื้นที่ภาคใต้ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งแม่ฮ่องสอน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานนอกกฎหมาย