เอ็นจีโอ ผนึกกำลังค้านประกาศคุม13สมุนไพรไทย

เอ็นจีโอ ผนึกกำลังค้านประกาศคุม13สมุนไพรไทย

เอ็นจีโอ ผนึกกำลังค้านประกาศคุม13สมุนไพรไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอ็นจีโอ ผนึกกำลังค้านประกาศคุม 13 สมุนไพรไทยเป็นวัตถุอันตราย ทำเกษตรกรไทยถูกตัดตอนผลิตยาปราบศัตรูพืชเองไม่ได้ ต้องแจ้งก่อน จี้ยกเลิกประกาศด่วน เตรียมยื่นหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี หากภายใน 7 วันหากไม่ดำเนินการ พร้อมยื่นฟ้องศาลปกครอง เพราะเป็นประกาศไม่ชอบ เผยมีร่างประกาศฉบับที่ 2 กำหนดขั้นตอนการจดแจ้ง โทษฟันเกษตรกรแรงจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ที่เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 ก.พ. ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 12 องค์กร ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายหมอพื้นบ้าน เครือข่ายสุขภาพวิถีไทย มูลนิธิสุขภาพไทย โรงเรียน ชาวนา จ.สุพรรณบุรี มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิชีวไทย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โครงการรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.) ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกคำประกาศให้พืชและสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายออกประกาศให้พืชสมุนไพรซึ่งใช้ในการป้องกัน กำจัดศัตรูพืช 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก คื่นช่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 เป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ เพราะหมายถึงการประกาศให้พืชสมุนไพรเหล่านี้เป็นวัตถุอันตราย ทั้งที่พืชทั้ง 13 ชนิดเป็นพืชที่เกษตรกรนำมาใช้ประโยชน์เพื่อนำมาทำเป็นสมุนไพรควบคุมแมลง เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี แต่ประกาศฉบับนี้จะทำให้เกษตรกรต้องยุติการใช้สมุนไพรเหล่านี้ และหันไปใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแทน เพราะขณะนี้กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติตามประกาศกระทรวง กำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายพืชสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตรก่อน โดยควบคุมเฉพาะ ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี นั่นคือหากเกษตรกรจะทำสมุนไพรควบคุมแมลง ไม่ว่าจะใช้วิธี บด สับ ทำแห้งหมัก จะต้องอยู่ภายใต้ประกาศนี้ด้วย

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อวิธีชีวิตของชาวบ้าน เพราะพืชสมุนไพรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ทั้งเรื่องอาหาร ยา เครื่องสำอาง และสมุนไพรไล่แมลง โดยเฉพาะเกษตรกรรมที่ปลูกผักสวนครัว หรือ ผลิตสมุนไพรควบคุมแมลงไว้ใช้ภายในบ้านหรือจำหน่ายในท้องถิ่น ต่อไปจะทำก็ต้องแจ้งก่อน ไม่เช่นนั้นถือว่ามีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ถือเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น และส่งเสริมให้ชาวบ้านเลิกใช้สมุนไพรควบคุมแมลง หันไปซื้อยาฆ่าแมลงมาใช้แทน จึงอยากถามว่า ประกาศฉบับนี้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทจำหน่ายสารเคมีฆ่าแมลงหรือไม่

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า กรณีที่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรออกมาระบุว่า สมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเดิมอยู่บัญชี 2 ซึ่งหมายถึงสมุนไพรไทยทุกตัวที่อยู่ในบัญชีนี้ต้องบังคับให้ขึ้นทะเบียน แต่ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ได้ย้ายมาอยู่ในบัญชี 1 ทำให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม คือเพียงแจ้งให้ทราบว่าจะผลิต โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนใดๆ นั้นเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะในบัญชีที่ 2 หมายถึงสมุนไพรที่จะนำไปสกัดเป็นยาฆ่าแมลงในอุตสาหกรรม แต่การย้ายมาไว้ในบัญชีที่ 1 เป็นการควบคุมเกษตรกรไม่ให้ผลิตสมุนไพรไว้ควบคุมและกำจัดแมลงเอง

ด้านนายทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกกล่าวว่า ประกาศนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความยุ่งยาก เพราะหากไปซื้อผัก หรือสมุนไพรที่ร้าน แม่ค้าจะต้องถามก่อนว่าจะนำไปทำกับข้าว หรือนำไปทำใช้ทำยาควบคุมแมลง หากเป็นอย่างหลังจะไม่ขาย เพราะคนซื้อจะต้องไปแจ้งกรมวิชาการเกษตรก่อน หรือแม่ค้าอาจเขียนสติ๊กเกอร์ติดไว้หน้าร้านว่า ห้ามซื้อเพื่อนำไปใช้กำจัดศัตรูแมลง

ขณะที่นางสุมาลี ธัญญเจริญ ตัวแทนชาวนา จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า สมุนไพรทั้ง 13 ชนิด เป็นสมุนไพรที่ใช้อยู่ในหมู่บ้าน และไม่เป็นอันตราย ที่ผ่านมารัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนหันมาทำเกษตรกรรมโดยใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์ ซึ่งตนนำสมุนไพรเหล่านี้มาผลิตใช้ควบคุมแมลง และขายเพื่อนบ้านในราคาถูก หากรัฐบาลปิดกั้นตรงนี้จะทำเป็นการเพิ่มภาระให้ชาวบ้านต้องหันไปซื้อยาฆ่าแมลงมาใช้แทน ซึ่งมีราคาแพง เป็นอันตราย ผู้ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทขายยาฆ่าแมลง

นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกคำประกาศให้พืช สมุนไพรทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 รวมทั้งยกเลิกการดำเนินการของกรมวิชาการเกษตรในการเตรียมออกร่างประกาศกระทรวง ภายใน 30 วัน โดยภายใน 7 วัน หลังจากนี้ หากยังไม่มีท่าทีใดๆ ก็จะเข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และข้าราชการที่ผลักดันเรื่องนี้ว่า ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง ดำเนินวิถีชีวิตแบบพอเพียง

นอกจากนี้จะมีการพิจารณาข้อกฎหมาย โดยอาจยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกคำสั่งไม่ชอบ เพราะไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับที่ 3 ปี 2551 ที่ไม่มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน ที่ต้องเป็นตัวแทนจากองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ดำเนินการคุ้มครองด้านสุขอนามัย คุ้มครองผู้บริโภค ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น และด้านสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่าใน กลับไม่มีตัวแทนเหล่านี้อยู่ในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเลย อีกทั้งการออกรประกาศดังกล่าว ยังไม่รอความเห็นจากกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารสุข ที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประเด็นนี้ ที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ในวันที่ 13 ก.พ. แต่ปรากฏว่าประกาศฉบับนี้ได้ออกมาก่อนที่จะมีการเปิดรับฟังความเห็น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตราย กล่าวว่า กรณีที่ออกประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทข้ามชาติที่ผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะมีอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งมีความใกล้ชิดกับบริษัทดังกล่าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในคณะกรรมการวัตถุอันตราย และยังมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองชื่อดังภาคอีสาน จึงมีการออกประกาศกระทรวงที่เอื้อต่อธุรกิจนี้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook