เผยนร.1.8พันคนไม่จ่ายเงินเอเน็ตเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
สกอ.เผยผลวิเคราะห์เด็ก 2.2 หมื่นคนไม่ชำระเอเน็ต พบ 1,831 ราย เรียนอยู่มหาวิทยาลัย 23 คนตั้งใจไม่ชำระ มาสมัครเล่นๆ 15 คนกำลังรอผลรับตรง ด้านคณะกรรมการชี้ขาด เยียวยานร.ร้องเอเน็ต 13 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ อธิการบดีมช. ย้ำหากเยียวยาเด็กร้องเรียนต้องมีเงื่อนไขกำกับ หวั่นเบียดที่นั่งเด็ก 1.9 แสนคน
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทน และอธิการบดีมหาวิทยาลัย 17 แห่งว่า สำหรับผลการประชุมในครั้งนี้สรุปได้ 3 ประเด็น
ได้แก่ 1.คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลระบบการรับสมัครและชำระเงินค่าสมัครเอเน็ตที่สกอ.ดำเนินการอยู่ เหมาะสมและรัดกุม สะดวกต่อผู้สมัครดีแล้ว 2.จากการวิเคราะห์ทุกประเด็นปัญหา เหตุผลอย่างละเอียดแล้วนั้น ที่ประชุมได้มีมติว่าต้องรอวิเคราะห์ต่อไปจนถึงวันสิ้นสุดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 16.30 น. 3.วิเคราะห์เหตุผลข้อมูลที่ได้รับจากผู้ร้องเรียนในวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ จำนวน 201 ราย แต่พิจารณา 188 ราย อีก 3 รายไม่ได้พิจารณาเนื่องจากข้อมูลไม่ชัดเจน
โดย สาเหตุ แบ่งออกเป็น 7 ประเด็น คือ 1.กลุ่มที่ไม่สมัครสอบเอเน็ตเลย 30 ราย 2.จำวันสิ้นสุดการชำระคลาดเคลื่อน มีเหตุให้ไม่สามารถชำระได้ และชำระหลังวันปิดรับสมัคร 83 ราย 3.ต้องการสมัครสอบบางรายวิชาเพิ่มเติม 3 ราย 4.ผู้สมัครไม่สามารถเข้าระบบอินเทอร์เน็ตทั่วไปได้ 3 ราย 5.อ้างว่าใบสมัครไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดการชำระค่าสมัคร 52 ราย 6.ชำระผ่านเอทีเอ็ม หลังเวลาสิ้นสุดการชำระ 3 ราย และ 7.บาร์โค้ดผิด 4 ราย
"ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย ที่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะช่วยเยียวยาเด็กกลุ่มที่มาร้องเรียนหรือไม่ ซึ่งโดยหลักการพิทักษ์สิทธิแล้วนั้นต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน 1.9 แสนคนด้วย วันนี้จึงเป็นการหารือเบื้องต้น ที่ชี้แจงเพียงเรื่องของระบบ และพิจารณาเกี่ยวกับผู้ที่มาร้องเรียนว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในวันเปิดรับเรื่องร้องเรียนที่เหลือ อาจมีกรณีที่แตกต่างจากตอนนี้ก็เป็นได้ ยังไม่ลงลึกไปถึงวิธี หรือกรณีใดบ้างที่สามารถเยียวยาได้" ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่าคณะกรรมการแต่ละท่านมีความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นเต็มที่ แต่การตัดสินใจทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจมติของคณะกรรมการ และขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยไหนรับนักศึกษาได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการชุดนี้หมดภารกิจในปีนี้ปีสุดท้าย แต่นำกรณีนี้ไปส่งต่อให้คณะกรรมการชุดต่อไป ส่วนต่อไปจะดำเนินการอย่างไรขอให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการชุดใหม่
เลขาธิการกกอ.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการวิเคราะห์ผู้ที่ไม่ได้ชำระค่าสมัครเอเน็ต 2.2 หมื่นรายนั้น ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่สกอ.ตรวจสอบจากระบบ พบว่า นักเรียน 1,831 ราย ในกลุ่มดังกล่าว กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 1 และ 2 แล้ว เมื่อให้เจ้าหน้าที่สอบถามทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ จำนวน 40 ราย พบว่า 23 คนตั้งใจไม่ชำระ มาสมัครเล่นๆ 4 คน ไม่ทราบเวลาชำระเงิน 4 คนลืม 9 คนมีเหตุผลจำเป็นที่ไม่สามารถชำระค่าสมัครได้ เช่นติดเรียน ติดสอบกลางภาค รวมถึงลังเลใจเพราะรอรับตรงอยู่ เป็นต้น
ส่วนอีก 15 คนสอบนั้นกำลังรอสอบรับตรง ซึ่ง 8 คนสอบได้ 5 คนกำลังรอผลอยู่ และ 25 คนไม่ได้สมัครสอบรับตรง แต่ได้โควตาแล้ว 6 คน ทั้งนี้ ยังมีนักเรียนกำลังเรียนปี 1 และปี 2 อยู่ 9 คนและไม่พบเหตุผล 4 คน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ คาดว่าวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ จะโทรสอบถามนักเรียนอีก 100 ราย
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า เท่าที่ฟังคณะกรรมการทุกท่านต่างมีความคิดเห็นที่หลากหลาย และเท่าที่ดูข้อมูล เหตุผลของนักเรียนที่ร้องเรียนแล้วนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากระบบของสกอ. แต่เกิดจากปัญหาส่วนตัว ทำให้คณะกรรมการต้องพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะต้องรอถึงวันปิดรับเรื่องร้องเรียนวันสุดท้าย คือวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เนื่องจากต้องดูเหตุเด็กที่มาร้องเรียนทุกคน
อย่างไรก็ตาม การเยียวยาช่วยเหลือเด็กที่มาร้องเรียน มองว่าต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน รวมถึงต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อนักเรียนอีก 1.9 แสนคน ที่ทำตามกฎ กติกาด้วย เพราะหากมองว่าการช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่มาร้องเรียน แล้วไปเบียดที่นั่งเด็ก 1.9 แสนคน จะถือว่าไม่ยุติธรรมต่อเด็กที่ปฏิบัติ และมีวินัยแก่ตนเอง แต่หากช่วยเหลือจริงๆ ต้องมีเงื่อนไขกำกับอยู่ ในส่วนของมช.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณบดีเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือ โดยอาจเปิดรับตรงอีกรอบ เพราะเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก็เคยมีนักเรียนมาร้องเรียนที่มช.อยากให้เปิดรับตรงอีกรอบ
ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการกกอ. กล่าวหลังหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการตรวจสอบทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยมีน.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ เป็นประธาน ว่า น.ส.รสนาเสนอให้สกอ.ขยายเวลาชำระค่าสมัครสอบเอเน็ตให้เด็กทั้ง 2.2 หมื่นคน ส่วนถ้าจะคัดกรองเด็กที่สอบตรงได้แล้ว และสละสิทธิ์ก็ให้สามารถสอบได้ รวมถึงเด็กที่ไม่เคยสมัครเลยด้วย อีกทั้งเสนอให้จัดสอบเหมือนจัดสอบโอเน็ตคือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ให้รัฐอออกให้ จะนำข้อเสนอทั้งหมดหารือเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้
ทั้งนี้ ยอดผู้มาร้องเรียนในวันนี้ (11 ก.พ.) ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 75 ราย ส่วนต่างจังหวัดมี 55 ราย จาก 54 ศูนย์ รวมกับเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 81 ราย จาก 70 ศูนย์ ดังนั้น รวมยอดผู้ร้องเรียนขณะนี้มีทั้งหมด 288 ราย ซึ่งเด็กต่างจังหวัดวันนี้ยังไม่ได้วิเคราะห์ แต่เท่าที่ดูเหตุผลไม่ต่างจากที่ผ่านมา และไม่เกี่ยวข้องกับระบบ
"ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมเหตุผลที่ไม่ได้ชำระเงินค่าสมัครโดยโทรศัพท์สอบถามเด็ก 60 คน เพิ่มจากเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สอบถามไปแล้ว 40 คน เป็น 100 คน พบว่า 66 คน ตั้งใจไม่ไปชำระเงิน 7 คน ไม่รู้กำหนดชำระเงิน 10 คน ลืม 17 คน สาเหตุอื่นๆ เช่น ติดสอบ ติดธุระ ไม่มีเงิน และเปลี่ยนใจไม่สอบ แต่ในจำนวนนี้ 47 คน สอบตรงได้แล้ว 35 คน ยังไม่ได้ 3 คน รอฟังผล 9 คน อีก 53 คนไม่ได้ไปสอบรับตรง แต่ได้โควตาแล้ว 8 คน และเรียนอยู่ 21 คน ไม่ระบุสาเหตุอีก 24 คน จะเห็นว่าจำนวนที่สุ่มสอบถามนั้น 100 คน พบว่ามีที่เรียนแล้ว 64 คน" ดร.สุเมธ กล่าว