รุมจวกขึ้นบัญชี 13 สมุนไพรไทยเป็น วัตถุอันตราย เล็งพบนายกฯ
ภาคประชาชนรวมพลังกดดัน ถอดบัญชีคุมสมุนไพร 13 ชนิด วัตถุอันตราย หวั่นชาวต่างชาติไม่เข้าใจเพราะเป็นส่วนผสมในอาหาร เตรียมพบ อภิสิทธิ์ ให้ตั้งคณะกก.สอบ ขู่ฟ้องศาลปกครอง
จากกรณีประกาศ กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดอกดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข. ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลให้กับสังคมไทยนั้น
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก แถลงข่าว "เมื่อพืชอาหาร และสมุนไพร 13 ชนิดกลายเป็นวัตถุอันตราย ???" ว่าหากภายใน 7 วันนับจากนี้ไป กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยังไม่มีการดำเนินการที่จะทบทวน หรือยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าว หรือยังมีความพยายามเบี่ยงเบนประเด็นอยู่ ทางเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ รัฐสภา เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีต้นตอมาจากอะไร และจะปรึกษานักกฎหมายว่าสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายรายหนึ่งกล่าวว่า การออกประกาศฉบับดังกล่าวมีเงื่อนงำที่ต้องตรวจสอบหลายประเด็น โดยเฉพาะความเร่งรีบในการออกประกาศ เพราะคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ซึ่งตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข ได้คัดค้านร่างประกาศฉบับนี้ และได้นัดประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อสรุปเป็นครั้งสุดท้าย แต่กระทรวงอุตสาหกรรม กลับเร่งออกประกาศในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 โดยที่ไม่แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบ
"สังคมควรตรวจสอบสายสัมพันธ์ของบุคคลทั้ง 3 คนนี้ให้ดีว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นเหตุของการออกประกาศฉบับดังกล่าว โดยคนแรกเป็นข้าราชการระดับสูงอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็น ส.ว. มีอักษรนำ คือ "อ" มีความสนิทสนมกับ นักการเมืองภาคอีสาน อักษรนำ "น" และทั้ง 2 คนนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทสารเคมีข้ามชาติ มีอักษรนำคือ "ม" "ห" แหล่งข่าวกล่าว
ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า ตะไคร้หอม สะเดา มีคุณสมบัติแค่ป้องกันแมลงหรือฆ่าแมลงบางชนิด พริก ข่า ก็เป็นพืชสวนครัวมีทุกบ้าน ไม่ถึงขนาดต้องประกาศให้เป็นวัตถุอันตรายก็ได้ อยากถามกลับไปถึงคนที่คิดเรื่องนี้ว่า ทำแบบนี้แล้วเกิดประโยชน์สูงสุดอะไร ถ้าชาวต่างชาติที่อยากรู้จักส่วนผสมของต้มยำแล้วไปค้นหาในอินเตอร์เน็ต พบว่า ขิง ข่า เป็นวัตถุอันตราย แล้วจะคิดอย่างไร
นายรัชดา สิงคาลวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช 13 ชนิดที่ไม่มีการผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเคมีเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ว่า กรมวิชาการเกษตรเสนอให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวมาควบคุมและกำกับดูแลพืชทั้ง 13 ชนิด ซึ่งต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามเห็นชอบ ที่เสนอให้เป็นวัตถุอันตรายไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม