ติง โอบามา หากขู่เพื่อผลักดันนโยบายอาจให้ผลทางลบ

ติง โอบามา หากขู่เพื่อผลักดันนโยบายอาจให้ผลทางลบ

ติง โอบามา หากขู่เพื่อผลักดันนโยบายอาจให้ผลทางลบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิเคราะห์เตือนประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐ ว่า การใช้คำขู่ เช่น หายนะ วิกฤติ และ พินาศ อาจช่วยผลักดันนโยบายเศรษฐกิจได้ แต่ประวัติศาสตร์สหรัฐที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวิธีนี้อาจส่งผลสะท้อนกลับเชิงลบได้

นายคริส เอ็ดเวิร์ดส์ ผู้อำนวยการนโยบายภาษีศึกษาที่สถาบันคาโต กล่าวว่า การใช้ถ้อยคำสร้างภาพน่ากลัวเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ที่ยังลังเลเร่งตัดสินใจ สนับสนุนไม่ใช่วิธีที่ดีในการเรียกความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ด้าน ดาร์เรลล์ เวสต์ ผู้อำนวยการการปกครองศึกษาสถาบันบรุคกิงส์ เห็นว่า การใช้ถ้อยคำสร้างความกลัวเป็นดาบสองคมเพราะอาจขู่ให้ประชาชนเทเสียงสนับสนุนกดดันให้รัฐสภาเร่งผ่านมาตรการต่างๆ แต่ขณะเดียวกันหากประชาชนกลัวมากเกินไปอาจถึงขั้นไม่กล้าใช้จ่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยยิ่งยืดเยื้อ ส่วน คาร์ลีน บาวแมน แห่งสถาบันกิจการอเมริกัน มองว่า การเล่นกับความกลัวมีความเสี่ยงสูง เพราะแม้ประชาชนกังวลอย่างยิ่งต่อภาวะเศรษฐกิจแต่มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มั่นใจว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผล

ประธานาธิบดีโอบามา กล่าวเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า หากไม่ดำเนินการใดๆ เลยจะมีคนตกงานมากขึ้น รายได้และความเชื่อมั่นยิ่งหดหาย วิกฤติจะกลายเป็นหายนะ เขาเคยกล่าวโจมตีอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ว่า เล่นการเมืองโดยฉวยประโยชน์จากความกลัว เช่น แทรกแซงเสรีภาพพลเมืองโดยอ้างความมั่นคงแห่งชาติ ยกความกลัวการซ้ำรอยเหตุวินาศกรรม 11 กันยา เป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมในการโค่นตอลีบานในอัฟกานิสถาน การบุกอิรัก และการสร้างเรือนจำกวนตานาโม

ประวัติศาสตร์สหรัฐเคยให้บทเรียนแล้วว่า ประธานาธิบดีที่เล่นกับความกลัวของประชาชนได้รับผลทางลบ เช่น อดีตประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ กล่าวถึงวิกฤติพลังงานช่วงปี 2522 ว่าเป็นวิกฤติโลกที่เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เป็นความจริงที่ชาวอเมริกันต้องยอมรับ ปรากฏว่าเขาได้บริหารประเทศเพียงสมัยเดียว ขณะที่อดีตประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ พยายามปลอบใจชาวอเมริกันช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ว่า สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวก็คือความกลัวของเราเท่านั้น เขาได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งถึง 4 สมัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook