ผลเลือกตั้งสหราชอาณาจักร ไร้เสียงข้างมาก
แผนที่จะลดแรงต่อต้านในสภาของ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษจบลงด้วยความหายนะ หลังผลการเลือกตั้งชี้ว่าพรรคอนุรักษ์นิยมเสียเสียงข้างมากในสภา เข้าสู่ภาวะสภาชะงักงัน ท่ามกลางการเจรจาเบร็กซิท และภัยก่อการร้ายที่กำลังคุกคามประเทศอังกฤษ
ผลการนับคะแนนอย่างเป็นไม่เป็นทางการล่าสุด พรรคอนุรักษ์นิยมมีคะแนนทั้งหมด 318 ที่นั่ง (-12) พรรคแรงงานได้ไป 261 ที่นั่ง (+29) พรรคสกอตติชเนชันแนล มี 35 ที่นั่ง (-21) พรรคเสรีประชาธิปไตย 12 ที่นั่ง (+4) พรรค DUP 10 ที่นั่ง และพรรค OTH 13 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิ 68.7% เพิ่มขึ้น 2% จากการเลือกตั้งปี 2015 ผลการเลือกตั้งค่อนข้างเหนือความคาดหมาย พรรคอนุรักษ์นิยม เสียเสียงข้างมากในสภาไป พรรคแรงงานได้ที่นั่งเพิ่มมา 29 ที่ ซึ่งนับเป็นการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
ส่วนปฏิกิริยาของนักลงทุนหลังทราบผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ดัชนีตลาดหุ้น FTSE 100 ของอังกฤษในวันนี้ ปิดตลาดที่ 7,515.31 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อวานนี้ หมายความว่าผลการเลือกตั้งเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนโดยนักวิเคราะห์ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นวันนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเพราะผลการเลือกตั้งที่พรรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถคว้าชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด ลดโอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบ Hard Brexit ซึ่งหมายถึงการออกจากระบบตลาดร่วม ตามที่นาง เทเรซา เมย์ เคยแสดงท่าทีไว้ก่อนการเลือกตั้ง
ขณะที่ ค่าเงินปอนด์เมื่อเทียบกับเงินยูโรวันนี้อ่อนค่าลง 1.7 เปอร์เซ็นต์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจของบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ ระบุว่าผลการเลือกตั้งวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจนธนาคารกลางอังกฤษต้องชะลอความคิดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ก่อน
ปรากฏการณ์สภาชะงักงัน
การเลือกตั้งที่ไม่มีพรรคไหนมีเสียงข้างมากในสภา เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าสภาชะงัก (Hung Parliament) ซึ่งในกรณีแบบนี้ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ ซึ่ง นายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงาน ก็ออกมาเรียกร้องให้ เทเรซา เมย์ ลาออกจากตำแหน่ง จากผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ชี้ว่าประชาชนไม่มีความไว้วางใจในตัวเธออีกต่อไปแล้ว
แต่ นางเทเรซา เมย์ ก็ยืนยันว่าเธอไม่มีเจตนาจะลงจากตำแหน่ง ก่อนจะประกาศว่าจะตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค DUP ที่มีที่นั่งในสภา 10 ที่ เพียงพอจะคว้าเสียงข้างมากในสภา 326 ที่ โดยที่น่าสนใจคือ พรรค DUP ซึ่งเป็นพรรคจากไอร์แลนด์เหนือ ที่ไม่สนับสนุนการทำ “ฮาร์ดเบร็กซิท” เพราะอยากให้ไอร์แลนด์เหนือยังอยู่ในระบบตลาดร่วม ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ กำลังเตรียมเดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ที่พระราชวังบักกิ่งแฮม เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่
เบื้องหลังความล้มเหลวนายกฯ เทเรซา เมย์
ทำไมประชาชนจึงเทคะแนนให้พรรคแรงงาน? ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคแรงงานกวาดที่นั่งเพิ่มในสภามากกว่าเดิมเกือบ 30 ที่นั่ง สวนทางกับโพลระบุว่าน่าจะเสียที่นั่งด้วยซ้ำไป และสามารถครองใจประชาชนได้ร้อยละ 40 ของผู้ออกมาใช้เสียงทั้งหมดหรือประมาณ 12.8 ล้านคน
เหตุผลหลักๆ เลยก็คือเรื่องนโยบายความมั่นคง ซึ่งประชาชนสหราชอาณาจักรตื่นตัวมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุก่อการร้ายในอังกฤษถึง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน ประเด็นเบร็กซิท ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ นางเทเรซา เมย์ ประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อที่จะหยุดข้อโต้แย้งต่อนโยบายเบร็กซิทของเธอ จึงกลายเป็นประเด็นลองไป
ซึ่งในประเด็นนโยบายความมั่นคง พรรคแรงงานก็เล่นงานพรรคอนุรักษ์นิยมตรงจุดด้วย โจมตีการลดงบประมาณตำรวจของเมย์ ขณะที่ นายเจเรมี คอร์บิน ก็มีประวัติการต่อต้านการเข้าร่วมสงครามโดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะสงครามเหล่านี้นอกจากจะผิดศีลธรรมแล้ว ยังเป็นการชักศึกเข้าบ้านอีกด้วย
อีกเหตุผลหนึ่งคือประเด็นเศรษฐกิจปากท้อง พรรคอนุรักษ์นิยมมุ่งใช้แต่นโยบายรัดเข็มขัด และลดสวัสดิการ ในขณะที่พรรคแรงงาน ประกาศว่าจะใชนโยบายที่มีความยุติธรรมมากขึ้น เช่น จะยกเลิกค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัย, เพิ่มงบประมาณให้กับระบบสาธารณสุขและสวัสดิการรัฐ, นำสาธารณูปโภคสำคัญๆ กลับมาเป็นของรัฐ นับว่าเป็นนโยบายที่ให้ความหวังกับคนธรรมดาที่หมดหวังและถูกบีบคั้นจากนโยบายรัดเข็มขัดมานาน
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อ?
พรรคที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมให้ได้ก่อนวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งมีกำหนดประชุมสภาภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ และวันที่ 19 มิถุนายน ก็มีกำหนดแถลงนโยบายรัฐบาลต่อสภา โดยในวันเดียวกันนี้ เป็นวันที่อังกฤษจะต้องเริ่มการเจรจาเบร็กซิทกับสหภาพยุโรปด้วย ซึ่งหากการจัดตั้งรัฐบาลยังไม่เสร็จเรียบร้อยก็อาจจะต้องเลื่อนออกไป
แน่นอนว่าระยะสั้นคงจะเห็นการตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ของเมย์ อาจจะแผ่วลงกว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะสูญเสียเสียงข้างมาก และยังต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในประเทศต่อไม่ว่าจะเป็นภัยด้านความมั่นคง กระบวนการเบร็กซิทการต่อรองกับชิตอียูคงจะล่าช้าออกไปอีกอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการลดความแตกแยกในสังคมอังกฤษ