ม้งออแกนิกส์ ผักดอยไร้สาร
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
จาวรี ทองดีเลิศ
น้องกง หรือ ด.ช.ศุภกร เลาว้าง ใช้ชีวิตวันหยุดในสวนผักของครอบครัวมานานกว่า 5 ปี เรียนรู้วิชาเกษตรอินทรีย์ วิถีการผลิตที่เป็นมิตรกับดิน น้ำ ป่า ดูแลต้นทุนทางธรรมชาติให้คงอยู่เป็นที่พึ่งพาของชาวสวน
ไม่ง่ายนักที่จะยืนหยัดอยู่บนการผลิตแบบนี้ เนื่องจากในปัจจุบันการผลิตเพื่อการตลาดคำนึงถึงกำไรสูงสุดยังเป็นกระแสหลัก โดยลืมไปว่าต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือธรรมชาติถูกทำลายลงไปแค่ไหน
ครอบครัวของกงจึงเริ่มปฏิวัติตนเอง ปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี พืชผลในสวนจึงปลอดภัยทั้งคนปลูกและคนกิน พ่อของกงเล่าว่า "ปีที่แล้ว ทดลองปลูกสตรอว์เบอร์รี่ เวลาเด็กๆ กลับมาจากโรงเรียนจะวิ่งมาเก็บสตรอว์เบอร์รี่กินกัน แต่ถ้าเป็นที่อื่นเขาจะกลัว คิดก่อนว่าที่นี่มีสารเคมีมั้ย ถ้ามีสารก็ไม่กล้ากินไม่กล้าเก็บ"
สวนผักเกษตรอินทรีย์ของกงพิเศษกว่าสวนอื่นๆ หากมองจากบนดอยสูงเราจะเห็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวม้ง ไม่ต้องบอกก็เดาได้ เพราะสวนผักที่อยู่ใจกลางหุบเขานั้นมีสีสันผิดแปลกแตกต่างไป
"สวนนี้ไม่เหมือนสวนคนอื่นครับ สวนเรามีผักกวางตุ้ง คะน้า ถั่วลันเตา แครอต มีผักเยอะหลายชนิด แต่สวนอื่นไม่มีแบบเรา เขาจะปลูกผักแค่ชนิดเดียว กะหล่ำอย่างเดียว ผักสลัดก็สลัดอย่างเดียวเลย"
"เรามีผักหลายอย่าง กินได้หลายอย่าง แล้วก็ขายได้หลายอย่างครับ" กงบอกเล่าถึงความแตกต่างของสวนผักอินทรีย์และสวนผักเคมีที่เห็นได้ชัดเจน
นอกจากความแตกต่างภายนอก คือคุณค่าที่อัดแน่นอยู่ภายใน แครอตแต่ละหัว คะน้าแต่ละต้น หรือถั่วลันเตาแต่ละฝักของที่นี่จึงให้ประโยชน์ต่อร่างกายและปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง
จากเดิมสวนผักของกงเคยทำเกษตรแบบเคมี ปลูกผักสลัดแก้ว เมื่อความต้องการของตลาดมากขึ้น มีการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น ทุกๆ 7 วัน ต้องฉีดยา 1 ครั้ง ร่างกายรับเอาแต่สารเคมี สุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ เกษตรกรผู้ปลูกผักเอง ทั้งกง พ่อแม่ และพี่น้อง กลับไม่กล้ากินผักในสวน พ่อของกงจึงเริ่มปฏิวัติมาสู่วิถีการเกษตรแบบปลอดภัย ดีกับคนปลูกและดีต่อคนกิน
"ขนาดเรายังไม่กล้ากิน แล้วเราจะปลูกให้คนอื่นกินหรือ" พ่อของกงเล่าถึงแนวคิดตอนเริ่มแรกแห่งการเปลี่ยนแปลง
การทดลองทำการเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกๆ ต้องใช้เวลาปรับสภาพดินที่เคยเสื่อมโทรมจากสารเคมี ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี ต้องอดทนเอาใจใส่ไม่คำนึงถึงผลกำไรมาก จนถึงตอนนี้กว่า 5 ปีแล้ว พืชผักในสวนเติบโตงอกงามไม่ต่างอะไรกับผักที่ขายตามท้องตลาด แถมมีที่ทางในตลาดชัดเจน รายได้เริ่มคืนกลับสู่ครอบครัว ถึงจะไม่ได้มาคราวละมากๆ แต่สม่ำเสมอ
งานในแปลงผักอินทรีย์มีให้ทำตลอดทั้งวัน ในขณะที่เพื่อนบ้านเสียเวลาไม่มากแลกกับเงินในการซื้อปุ๋ยเคมี กงบอกว่าพ่อต้องคิดค้นการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อบำรุงพืชผักในสวน ทำน้ำสกัดชีวภาพไล่แมลง ทำปุ๋ยหมัก ทำฮอร์โมนชีวภาพ เร่งใบ ดอก บำรุงผล "พ่อจะใช้ต้นกล้วยบ้าง เศษผัก เปลือกไข่บ้าง ทดลองทำครับ ถ้าเกิดหมักวันนี้ ต้องรอไปอีก 7 วันถึงจะใช้ได้ บางอย่างต้องหมักไว้เป็นเดือนเลย" น้องกงเล่าถึงน้ำสกัดชีวภาพทีเด็ดสุดประหยัดของพ่อที่ทำให้พืชผักในสวนเติบโตงอกงาม
น้ำสกัดชีวภาพได้จากการย่อยสลายจากส่วนต่างๆ ของพืชหรือสัตว์ ผ่านการหมักในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน น้ำที่ได้จะมีทั้งจุลินทรีย์และสารอินทรีย์หลายชนิดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชผักในสวน
สวนเกษตรอินทรีย์จึงต้องดูแลผักด้วยความรัก "ผมว่าทำเกษตรอินทรีย์ต้องทำงานหนักกว่าทำเกษตรเคมีครับ มันหนักตรงที่เราต้องดูแลตลอดเวลา ไม่ว่าจะน้ำ แมลง เราต้องดูแลทุกวัน ถ้าขาดไปวันสองวันก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเลย ไม่เหมือนเคมี เคมีนี่ถ้าเราดูว่ามีแมลง เราก็ไปซื้อยามาฆ่าแมลง ถ้าเป็นอินทรีย์มีแมลงเราก็ต้องดูว่าเป็นแมลงอะไร ต้องใช้น้ำยาชีวภาพตัวไหนเอาสมุนไพรไหนมาช่วยครับ"
"มาช่วยแม่ทุกเสาร์อาทิตย์ครับ มาปล่อยน้ำ ถอนหญ้า พรวนดิน ไซ้เอาแมลงออกจากผักด้วยครับ บางวันมาช่วยเก็บผักไปขาย บางวันก็มาเก็บผักไปกินครับ" ชีวิตของเด็กชาวม้งเป็นอย่างนี้เป็นกิจวัตร
สำหรับช่วงนี้ ถั่วลันเตาและแครอตกำลังออกผลงามพร้อมให้เก็บเกี่ยว พ่อ แม่ ลูกชาวสวนก็เก็บผักอย่างอุ่นใจไม่ต้องกังวลกับสารเคมีใดๆ และส่งผลผลิตไปยังคลังเกษตรอินทรีย์ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตลาดที่รองรับพืชผักอินทรีย์สดจากสวน เพื่อกระจายไปยังผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ
"แครอตที่สวนผม อาจไม่เหมือนกันทุกหัวนะครับ ไม่ได้ตรงเป็นรูปแครอตทั้งหมด อาจกลมบ้าง งอบ้าง ไม่เป็นรูปเป็นทรงเพราะเราปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติครับ" กงเล่าอย่างภูมิใจ ขณะกำลังถอนหัวแครอตสะท้อนถึงสิ่งที่ยากในการควบคุมสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์
แต่จะมีประโยชน์อะไรหากสิ่งที่สวยงามนั้นแฝงไปด้วยสารตกค้าง ทำลายทั้งสุขภาพร่างกายและสมดุลทางธรรมชาติ
จากการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ทำให้เห็นและได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความปลอดภัย แม้แต่พี่ของกงเองที่ไปเรียนในเมืองเชียงใหม่ก็ไม่กล้าซื้อผักจากท้องตลาด ทุกครั้งที่กลับมาบ้านจะเก็บผักในสวนไปกินด้วยทุกครั้ง ส่วนกง พ่อและแม่ก็มีเมนูแสนอร่อยประจำบ้าน คือ ผัดถั่วลันเตาบ้าง ต้มผักกาดม้งบ้าง กินอย่างสบายใจเพราะเป็นผักสดๆ ที่เพิ่งเก็บมาจากสวน
พบชีวิตและความคิดที่แตกต่างของครอบครัวชาวม้ง กับอาณาจักรสวนผักอินทรีย์เล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่ในหุบเขาอย่างมีพลัง น้องกงจะบอกเล่าและพาไปดูพืชผักที่กำลังผลิดอกออกผลงาม ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ม้งออแกนิกส์ วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 06.25 น. www.payai.com