มาร์ค สั่งทบทวนแอดมิชชั่นส์ แจ้งทปอ.แม้นโดนด่าก็ต้องทำ

มาร์ค สั่งทบทวนแอดมิชชั่นส์ แจ้งทปอ.แม้นโดนด่าก็ต้องทำ

มาร์ค สั่งทบทวนแอดมิชชั่นส์ แจ้งทปอ.แม้นโดนด่าก็ต้องทำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชี้ปัญหาสมัครสอบเอเน็ตหากระบบพลาดต้องอุ้มเด็ก ห่วงระบบแอดมิชชั่นส์ ชี้เดินทางผิดเข้าสู่วิกฤตแน่ สั่งทปอ.ทบทวนระบบแอดมิชชั่นส์กลางอีกครั้ง แจ้งโดนด่าก็ต้องทำ เพื่อความน่าเชื่อถือ แนะปลดจีแพ็ค ออกจากองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ ชี้มาตรฐานโรงเรียนไม่เท่ากัน

(14ก.พ.) ที่อาคารจามจุรี4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐเข้าร่วม 27 แห่ง ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา แต่โชคไม่ดีเพราะช่วงที่เข้ามานั่งบริหารตรงกับช่วงเศรษฐกิจไม่ดี จึงทำให้ความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาต้องรอ เพราะต้องแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นก่อน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหรือแอดมิชชั่นส์กลาง ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการรับสมัครทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ว่า สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นนี้เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ให้หลักการไปว่า หากปัญหาเกิดจากระบบก็ต้องให้เด็กได้มีโอกาสสอบ ส่วนกรณีที่ไม่ได้เกิดจากระบบ ก็ขอให้พิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อไปในอนาคต

"เรื่องสำคัญกว่าคือระบบการคัดเลือกหรือแอดมิชชั่นส์กลางที่ผ่านมา หากปล่อยให้เดินหน้าต่อไปจะเข้าสู่วิกฤต ที่ผ่านมามีปัญหาว่าเด็กที่เข้าเรียนโดยผ่านระบบนี้ไม่สามารถเรียนได้ ขณะนี้พบว่าเด็กที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยตกไม่สามารถเรียนต่อไปได้ และมีเด็กบางส่วนต้องออกกลางคัน วันนี้มันฟ้องชัดเจนว่าระบบผิด ไม่สามารถคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสาขาที่เรียนได้ และพบว่าสัดส่วนการรับตรงของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ก็สะท้อนว่าเมื่อแอดมิชชั่นส์กลางไม่สามารถคัดเด็กมีคุณภาพได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องแก้ปัญหาโดยการกำหนดคุณสมบัติ คะแนนสอบผู้จะเข้าศึกษาต่อด้วยตนเอง ที่น่าห่วงคือในอนาคตหากมหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเพิ่มขึ้นความยุ่งยากจะเกิดแก่เด็ก เพราะเด็กต้องวิ่งสอบหลายแห่ง "นายกฯกล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนั้นปีการศึกษา 2553 จะมีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ใหม่ โดยนำคะแนนการจัดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) หรือ GAT และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional Aptitude Test) หรือ PAT มาใช้นั้น ขณะนี้ได้มีเสียงร้องเรียนมาแล้วว่าทำให้นักเรียนและผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอยากให้ทปอ.ช่วยดูว่าเรื่องการให้ความสำคัญกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีแพ็ก ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้คะแนนจีแพ็ก เป็นเพียงแค่คุณสมบัติขั้นต่ำว่า ต้องได้เกรดเฉลี่ยที่เท่าไรจึงจะสามารถสมัครสอบแอดมิชชั่นส์ได้ โดยไม่นำคะแนนมาคิดเป็นสัดส่วนในการแอดมิชชั่นส์ เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

"ระบบการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเพื่อเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษานั้น ควรมีการปรับเปลี่ยนระบบใหม่ให้ดีขึ้น ซึ่งยอมรับว่าหากเปลี่ยนแปลงอีก อาจต้องถูกสังคมท้วงบ้างแต่ เพื่อให้ระบบการคัดเลือกเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานและสังคมเชื่อถือ ไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหากันปีต่อปี แต่ควรพิจารณาและแก้ไขปัญหาในภาพรวมของระบบการรับนิสิต นักศึกษา ซึ่งหากทปอ.เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และคิดว่าควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนระบบการรับนิสิต นักศึกษา ผมยินดีไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ให้ยืดหยุ่นในแนวปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพระบบการคัดเลือกนักศึกษา อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องคิดเร็ว และให้ได้ข้อสรุปในทันที เพราะต้องประกาศให้นักเรียนได้เตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี ทั้งนี้แม้ว่าทปอ.ไม่สามารถที่ปรับแก้ได้ทันในการแอดมิชชั่นในปีการศึกษา 2553-2555 ก็ขอให้ไปพิจารณาและดำเนินการในปีต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอของทปอ.เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ซึ่งมี 13 แห่งที่ออกนอกระบบแล้ว แต่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนปัจจุบันของข้าราชการที่เปลี่ยนสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย อัตราร้อยละ 40 ซึ่งเดิมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ออกนอกระบบนั้นได้ไป ร้อยละ 60 และรัฐบาลสัญญาว่าจะให้ที่ร้อยละ 60 เท่ามจธ. เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา และตนเพิ่งทราบว่ามหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วยังมีปัญหาอยู่ จึงขอกลับไปดูตัวเลขว่าภาระทั้งหมดที่มีจำนวนเท่าไหร่ และจะของบกลางปีมาให้ เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องทำตามสัญญาแต่ก็ยอมรับว่างบกลางขณะนี้มีน้อย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องขอให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนงบบุคลากรกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้ข้าราชการได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมใด ๆ ก็ขอให้จัดสรรให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วยนั้น เห็นด้วย หากข้าราชการได้ปรับพนักงานมหาวิทยาลัยควรได้ปรับเช่นกัน ความมุ่งหมายเดิมที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ไม่ได้คิดว่าเป็นการผลักภาระมหาวิทยาลัยให้พ้นจากรัฐบาล แต่ต้องการให้มหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการ ดูแลตัวเองได้ สิ่งที่คิดว่ายังเห็นน้อยในมหาวิทยาลัยคือ ความยืดหยุ่นเรื่องกฎระเบียบ บางครั้งยังอิงกับกฎระเบียบแบบราชการ

"ส่วนงบวิจัยที่ทปอ.บอกว่ารัฐบาลยังจัดสรรให้น้อยเกินไปนั้น เท่าที่ดูขณะนี้แบ่งงบวิจัยออกเป็น 2 ด้าน คืองานวิจัยสังคม ซึ่งไม่ได้เน้นงานวิจัยที่สร้างมูลค่า แต่มีความสำคัญต่อสังคม ส่วนอีกด้านหนึ่งคืองานวิจัยที่สร้างมูลค่าได้ ตรงนี้สามารถดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมโดยอาจจะให้ช่วยเรื่องการลงทุน แต่ที่ผ่านพบว่าสาเหตุที่เอกชนไม่มาร่วมเนื่องจากลงทุนแล้วไม่คุ้ม จึงอยากฝากมหาวิทยาลัยช่วยคิดกลไกที่เชื่อมโยงและจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้"นายกรัฐมนตรี กล่าว

รศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ทปอ.ได้พิจารณาถึงระบบแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2553 โดยนำผลสรุปการดำเนินการแอดมิชชั่นส์ปี 2552 และการเยียวยาผู้ร้องเรียนกรณีเอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ปรับปรุงแก้ไขระบบแอดมิชชั่นส์ ปี 2553 ซึ่งทปอ.เป็นเจ้าภาพการจัดสอบต่อไป ซึ่งที่ประชุมนำเสนอว่าควรนำเรื่องแอดมดมิชชั่นส์เป็นวาระแห่งชาติ และเลื่อนกำหนดจัดประชุมวิชาการประจำปีขึ้นมา จากทุกครั้งจัดช่วงปลายปี มาเป็นกลางปี โดยมอบให้มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ

"สำหรับแอดมิชชั่นส์ปี 2553 ทปอ.จะดูแลและดำเนินการแอดมิชชั่นส์ ซึ่งผ่านการร่วมกันคิด รวมกันพิจารณา และการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็ได้มีการแจ้งล่วงหน้า 3 ปีแล้ว ส่วนการทำเว็บไซต์ ในปี 2553 ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว คาดว่า จะสามารถเริ่มประชาสัมพันธ์ได้เดือนเมษายน ภายหลังการสอบแอดมิชชั่นส์ปี 2552 เสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความสับสน โดยเนันให้เป็นเว็บไซต์ที่มีถูกต้อง และไม่เกิดข้อผิดพลาด " รศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี การให้ใช้ GAT และPAT เป็นการวัดความรู้ ความสามารถเฉพาะทางของเด็ก โดยไม่ต้องนำมาคิดคะแนนนั้น มีทั้งข้อดี และข้อเสีย เพราะขณะนี้โรงเรียนแต่ละแห่ง มีมาตรฐานไม่เท่ากันทำให้นักเรียนเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ ซึ่งที่ประชุมจะปรึกษาหารือกันอีกครั้ง ในการประชุมวิชาการ กลางปีนี้

รองประธานทปอ. กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมแถลงคัดค้านคณะกรรมการอำนวยการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เยียวยาเด็กร้องเอเน็ต นั้น ทปอ.ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.พ.เวลา 20.00 น.นั้น คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยอธิการบดี และตัวแทนมหาวิทยาลัยต่างๆได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง โดยอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิ์ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของทั้งนักเรียนที่มาร้องเรียน และนักเรียน 1.9 แสนคนที่ดำเนินการตามกฎ ระเบียบ กติกาได้อย่างถูกต้อง ตรงเวลา

ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า การแนวทางการเยียวยาช่วยเหลือเด็กต้องเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบ ซึ่งคณะกรรมการฯยินดีคืนสิทธิ์แก่นักเรียนทุกคนที่มีปัญหาเกิดจากระบบ ทั้งนี้ขณะนี้เท่าที่มีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่าระบบนี้ผิดจริงๆ มี 1 ราย ที่คาดว่าน่าได้คืนสิทธิ ส่วนกรณีอื่นๆ ต้องพิจารณาเป็นรายๆไป อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเยียวยานักเรียนที่มีปัญหาสมัครสอบเอเน็ตไม่ทันนั้น เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ซึ่งตนเองได้นำมาเสนอต่อที่ประชุมในครั้งนี้ ซึ่งที่ประชุมก็มีมติไปทางเดียวกัน

"หากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วย ก็พร้อมชี้แจง และทำความเข้าใจ ส่วนการระบบแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 นั้น ยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งล่วงหน้าเด็ก 3 ปี และการปรับเปลี่ยนระบบนั้น ต่อให้ไม่มีข้อผิดพลาด หรือถูกร้องเรียน ทปอ.ก็คงดำเนินการพิจารณา ตรวจสอบ และปรับปรุงระบบ เพื่อให้เป็นระบบที่ดีที่สุด" รองประธานทปอ. กล่าว

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook