สนข.แจง 4 ประเด็นพร้อมย้ายกลับมาใช้ “หมอชิตเก่า”

สนข.แจง 4 ประเด็นพร้อมย้ายกลับมาใช้ “หมอชิตเก่า”

สนข.แจง 4 ประเด็นพร้อมย้ายกลับมาใช้ “หมอชิตเก่า”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สนข. ชี้แจงกรณีการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมายังหมอชิตเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส

วันนี้ (18 มิ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมายังพื้นที่เดิมคือสถานีขนส่งหมอชิตเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส มีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ทั้งเรื่องปัญหาการจราจรที่ติดขัด ตลอดจนความไม่แน่นอนและความชัดเจนในนโยบายด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางแผนระบบคมนาคมขนส่ง

ล่าสุดวันนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ชี้แจงว่า ในส่วนของความคุ้มค่าในการลงทุนศึกษาและพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งหากนโยบายไม่ชัดเจนจะยิ่งทำให้ใช้งบประมาณสูงขึ้น เรื่องนี้ กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการและวางแผนการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมากรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบและการลงทุนโครงการพัฒนาพื้นที่หมอชิตเดิมเรียบร้อยแล้ว โดยผลการศึกษากำหนดให้มีข้อตกลงในการออกแบบและจัดพื้นที่ภายในอาคารที่จะก่อสร้างใหม่ สำหรับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 110,000 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นสถานีรถโดยสารประจำทางระหว่าง กทม. กับจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพื้นที่ศูนย์พหลโยธินฯ สนข. ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ภายในบริเวณศูนย์พหลโยธินฯ อย่างชัดเจน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประกอบการวางแผนดำเนินงานด้วยแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมอีก

ส่วนประเด็นความสอดคล้องในการวางแผนแม่บทการขนส่งและแผนการพัฒนาเมือง ที่ควรพิจารณาถึงตำแหน่ง ทำเลที่ตั้ง ที่สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถโดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงต้องสอดรับกับการวางผังเมืองกรุงเทพมหานคร สนข. ระบุว่า ได้วางแผนพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง โดยคำนึงถึงความสะดวกสบาย    ของประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทางในแต่ละรูปแบบการขนส่ง สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเมือง และความต้องการในการเดินทางของประชาชน เช่น พื้นที่โครงการหมอชิตเดิม กรมธนารักษ์ได้วางแผนให้มีระบบเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน และรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือขสมก. เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อการเดินทางด้วยแล้ว

ขณะที่ การรองรับปริมาณผู้โดยสารทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ในแง่ของทำเลที่ตั้ง และขนาดของพื้นที่ ไม่ควรปรับเปลี่ยนบ่อยครั้ง ซึ่งจะสร้างความสับสนต่อผู้โดยสาร นักลงทุนและหน่วยราชการอื่นๆ ในการเตรียมแผนรองรับ กรณีนี้ สนข. แจงว่าการกำหนดที่ตั้งของสถานีทั้งสถานีขนส่งผู้โดยสาร สถานีรถไฟและสถานีรถไฟฟ้า ต้องคำนึงถึงความสะดวกและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการระบบขนส่งได้อย่างสะดวก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ที่ให้บริการและพื้นที่ใช้งาน อย่างเหมาะสม และวางแผนสำหรับรองรับปริมาณความต้องการในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์มีการพัฒนาพื้นที่ขนาดใหญ่ใน กทม. ไม่มาก ที่ผ่านมาได้แก่ ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งมีแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้า 10 สาย ที่สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เมือง ทั้งนี้ จะเริ่มมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูบนถนนแจ้งวัฒนะผ่านศูนย์ราชการดังกล่าวในปีนี้ อย่างไรก็ตามการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ในอนาคตจะมีการบูรณาการและประสานระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง การบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดกับหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook