อภิสิทธิ์ ระบุเตรียมระดมสมองแอดมิชั่นครั้งใหญ่กลางปีนี้
อภิสิทธิ์ ชี้ปัญหาสมัครสอบเอเน็ต หากระบบผิดพลาดต้องอุ้มเด็ก ห่วงแอดมิชชั่นส์เดินทางผิดก่อวิกฤติทางการศึกษา สั่ง ทปอ.ทบทวน แนะถอดจีแพ็กซ์ออกจากองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ ชี้มาตรฐาน ร.ร.ไม่เท่ากัน ทปอ.มีมติหนุน สกอ.รับพิจารณาแค่ 12 ราย มีลุ้นคืนสิทธิ์แล้ว 1 ราย ยันไม่ทบทวนแอดมิชชั่นส์ปี 53 เหตุต้องแจ้งล่วงหน้า 3 ปี ชูแอดมิชชั่นส์เป็นวาระแห่งชาตินัดถกกลางปีนี้ ผู้ปกครองเล็งฟ้องศาลปกครอง หากลูกไม่ได้รับสิทธิสมัครเอเน็ต
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 11.00 น. ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวมอบนโยบายในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมีอธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐเข้าร่วม 27 แห่ง ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อเรื่องการศึกษาโดยปัญหาระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาใน สถาบันอุดมศึกษา หรือ แอดมิชชั่นส์ กลางนั้น ที่ผ่านมามีปัญหาการรับสมัครทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) โดยเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งได้ให้หลักการไปว่า หากปัญหาเกิดจากระบบก็ต้องให้เด็กได้มีโอกาสสอบ ถ้าไม่ได้เกิดจากระบบขอให้พิจารณาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก "หากปล่อยให้แอดมิชชั่นส์กลางเดินหน้าต่อไปจะเข้าสู่วิกฤติ ที่ผ่านมามีปัญหาเด็กเข้าเรียนโดยผ่านระบบนี้ไม่สามารถเรียนได้ ขณะนี้พบว่าเด็กที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ คะแนนเฉลี่ยตก ไม่สามารถเรียนต่อไปได้ เด็กบางส่วนต้องออกกลางคัน ซึ่งฟ้องอย่างชัดเจนว่าระบบผิด ไม่สามารถคัดกรองเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสาขาที่เรียนได้ และสัดส่วนรับตรงของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นสะท้อนว่าเมื่อแอดมิชชั่นส์กลางไม่ สามารถคัดเด็กที่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยจึงต้องแก้ปัญหาโดยกำหนดคุณสมบัติ คะแนนสอบของผู้จะเข้าเรียนเอง ที่น่าห่วงคือ อนาคตหากมหาวิทยาลัยเปิดรับตรงเพิ่มขึ้นความยุ่งยากจะเกิดกับเด็ก จะต้องวิ่งสอบหลายแห่ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในปีการศึกษา 2553 จะปรับเปลี่ยนองค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ใหม่ โดยนำคะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) หรือจีเอที และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional Aptitude Test) หรือ พีเอที มาใช้นั้น ขณะนี้มีเสียงร้องเรียนว่า นักเรียนและผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และอยากให้ ทปอ.ช่วยดูเรื่องการให้ความสำคัญกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีแพ็กซ์ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำหนดให้คะแนนจีแพ็กซ์เป็นแค่คุณสมบัติขั้นต่ำว่า ต้องได้เกรดเฉลี่ยที่เท่าไรจึงจะสมัครสอบแอดมิชชั่นส์ได้ โดยไม่นำคะแนนมาคิดเป็นสัดส่วนในการแอดมิชชั่นส์เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งยัง ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
"ระบบคัดเลือกเด็กเข้าสถาบันอุดมศึกษานั้น ควรปรับเปลี่ยนระบบใหม่ให้ดีขึ้น หากเปลี่ยนแปลงอีกอาจจะต้องถูกสังคมท้วงบ้าง แต่เพื่อให้ระบบเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานและสังคมเชื่อถือ ไม่ต้องมาคอยแก้ปัญหากันปีต่อปี แต่ควรพิจารณาและแก้ไขปัญหาในภาพรวมของระบบ หาก ทปอ.เห็นด้วยและคิดว่าควรปรับเปลี่ยนระบบ ผมยินดีไปคุยกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ยืดหยุ่นในแนวปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพระบบคัดเลือกเด็ก อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องคิดเร็ว และให้ได้ข้อสรุปในทันที เพราะต้องประกาศให้นักเรียนเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี แม้ ทปอ.ปรับแก้ได้ไม่ทันในระบบแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2553-2555 ก็ขอให้พิจารณาและดำเนินการในปีต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอ ทปอ.เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ ซึ่งมี 13 แห่ง แต่ได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรเพิ่มขึ้นจากอัตราเงินเดือนปัจจุบัน ของข้าราชการที่เปลี่ยนสภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในอัตราร้อยละ 40 ซึ่งเดิมที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ออกนอกระบบนั้น ได้ไปร้อยละ 60 และรัฐบาลสัญญาว่าจะให้ที่ร้อยละ 60 เท่ากับ มจธ.นั้น จะขอกลับไปดูตัวเลขว่าใช้งบเท่าไร และจะของบกลางปีมาให้ เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่รัฐบาลต้องทำตามสัญญา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ขอให้รัฐบาลช่วยอุดหนุนงบบุคลากรกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายให้ข้าราชการ ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมใดๆ ก็ขอให้จัดสรรให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วยนั้น เห็นด้วย ทั้งนี้ ความมุ่งหมายเดิมที่สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบไม่ได้คิดว่าผลักภาระ มหาวิทยาลัยให้พ้นรัฐบาล แต่ต้องการให้มหาวิทยาลัยบริหาร ดูแลตัวเองได้ สิ่งที่คิดว่ายังเห็นน้อยในมหาวิทยาลัยคือ ความยืดหยุ่นเรื่องกฎระเบียบ บางครั้งยังอิงกับระเบียบราชการ
"ส่วนงบวิจัยที่ ทปอ.บอกว่ารัฐบาลยังจัดสรรให้น้อยเกินไป ขณะนี้แบ่งงบวิจัยออกเป็นงบวิจัยด้านสังคม และงานวิจัยที่สร้างมูลค่าได้ ตรงนี้ดึงเอกชนเข้ามาร่วม โดยอาจจะให้ช่วยลงทุน แต่ที่ผ่านมาพบว่าเอกชนไม่มาร่วมเนื่องจากลงทุนแล้วไม่คุ้ม อยากฝากมหาวิทยาลัยช่วยไปคิดกลไกที่เชื่อมโยงและจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนนำ งานวิจัยไปใช้ประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่มได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว
อภิสิทธิ์ระบุเตรียมระดมความเห็นแอดมิชั่นครั้งใหญ่กลางปีนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์ เช้าวันที่ 15 ก.พ.ว่า ได้ให้นโยบายเกี่ยวกับปัญหาการสอบเอเน็ตว่า เด็กทุกคนที่มีความตั้งใจจะชำระเงิน และปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่มีปัญหาขัดข้อง ต้องได้รับการคืนสิทธิ์ โดยยอมรับว่าระบบการสอบแอดมินชั่นมีปัญหามาก ซึ่งจะต้องมีการทบทวน ระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่กลางปีนี้เพื่อวางแนวทางในอีก 2 ปีข้างหน้า
ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ และประธาน ทปอ. กล่าวว่า ทปอ.ได้พิจารณาระบบแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 โดยนำผลสรุปการดำเนินการแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2552 และการเยียวยาผู้ร้องเรียนกรณีเอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา ปรับปรุงแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 ซึ่ง ทปอ.เป็นเจ้าภาพจัดสอบ โดยที่ประชุมเสนอว่าควรนำเรื่องแอดมิชชั่นส์เป็นวาระแห่งชาติ และเลื่อนจัดประชุมวิชาการประจำปีจากทุกครั้งจัดปลายปี มาเป็นกลางปี โดยให้มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นเจ้าภาพ
"แอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 ทปอ.ได้ร่วมกันคิดและแจ้งล่วงหน้า 3 ปีแล้ว มีการทำเว็บไซต์ไว้แล้ว คาดว่าจะเริ่มประชาสัมพันธ์ได้เดือนเมษายน หลังสอบแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษาปี 2552 เสร็จสิ้น เพื่อไม่ให้นักเรียนสับสนจะเน้นให้เป็นเว็บไซต์ที่มีความถูกต้อง และไม่เกิดข้อผิดพลาด" รศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และรองประธาน ทปอ. กล่าวว่า ข้อเสนอนายกรัฐมนตรีให้ใช้จีพีเอและพีเอที เป็นการวัดความรู้ความสามารถเฉพาะทางของเด็ก โดยไม่ต้องนำมาคิดคะแนนนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะขณะนี้โรงเรียนแต่ละแห่งมีมาตรฐานไม่เท่ากัน ทำให้นักเรียนเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้ ซึ่งที่ประชุมจะหารือกันในการประชุมวิชาการกลางปีนี้
รองประธาน ทปอ. กล่าวอีกว่า กรณีมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเตรียมแถลงคัดค้านคณะกรรมการอำนวยการรับบุคคล เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ไม่เยียวยาเด็กร้องเอเน็ตนั้น ทปอ.ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการอำนวยการได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริง โดยอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของทั้งนักเรียนที่มาร้องเรียน และนักเรียน 1.9 แสนคน ที่ดำเนินการตามระเบียบกติกาได้ถูกต้อง ตรงเวลา
ศ.ดร.สุรพล กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการอำนวยการ ยินดีคืนสิทธิให้นักเรียนทุกคนที่มีปัญหาซึ่งเกิดจากระบบ ขณะนี้เท่าที่มีหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่าระบบนี้ผิดจริงๆ มี 1 ราย ที่คาดว่าจะได้คืนสิทธิ์ ส่วนกรณีอื่นๆ ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ที่ประชุม ทปอ.ก็มีมติไปทางเดียวกัน
"หากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่เห็นด้วย ก็พร้อมชี้แจงและทำความเข้าใจ ส่วนระบบแอดมิชชั่นส์ในปีการศึกษา 2553 นั้น ยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลง เพราะหากเปลี่ยนแปลงต้องแจ้งเด็กล่วงหน้า 3 ปี และการปรับเปลี่ยนระบบต่อให้ไม่มีข้อผิดพลาด หรือถูกร้องเรียน ทปอ.ก็คงตรวจสอบ และปรับปรุงระบบ เพื่อให้เป็นระบบที่ดีที่สุด" รองประธาน ทปอ. กล่าว
นายพิสิฐ กิตติเจริญฤกษ์ ผู้ปกครองนักเรียน กล่าวว่า ลูกไม่ได้อยู่ในกลุ่มบาร์โค้ดมีปัญหาแต่อยู่ในกลุ่มที่จำวันชำระเงินคลาด เคลื่อน อาจไม่ได้คืนสิทธิ์ เพราะตารางกำหนดของ สกอ.ไม่ชัดเจน ซึ่งไม่ได้โจมตีระบบ แต่เรียกร้องขอสิทธิ์เข้าสอบ
"หากไม่ได้สิทธิ์จริงๆ จะฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ได้เข้าให้ข้อมูลต่อนายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายเสน่ห์เห็นว่า ครูอาจารย์ควรให้โอกาสเด็กเป็นอันดับแรก กฎเกณฑ์ควรมาทีหลัง และวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะแถลงข่าวกรณีเอเน็ต" นายพิสิฐ กล่าว
วันเดียวกัน ที่ มธ.ท่าพระจันทร์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวบรรยายพิเศษ "นโยบายการศึกษาไทยภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน" ในที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ว่า ปฏิรูปการศึกษารอบสองนั้นได้ให้สภาการศึกษาจัดทำต้นร่างให้เสร็จภายในเดือน มีนาคมนี้ และจะให้ทำแผนการศึกษาระดับจังหวัด 19 กลุ่ม ส่วนระบบคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัยจะให้มหาวิทยาลัยนำปัญหาปีนี้เป็นบทเรียน ปรับใช้ในปีหน้าที่จะปรับระบบใหม่ รวมทั้งให้เน้นประชาสัมพันธ์ให้มากและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยจะให้โรงเรียนอธิบายและสร้างความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ส่วนนโยบายมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐให้เป็นไปตามความสมัครใจและขึ้นอยู่กับความ พร้อมโดยไม่บังคับ ทั้งนี้ ปัญหาค่าตอบแทนนั้นจะหารือสำนักงบประมาณ