บุญจง ปัดล็อคเสปคนมโรงเรียนมั่นใจตรวจสอบได้
บุญจง ปัดล็อคเสปคนมโรงเรียน มั่นใจตรวจสอบได้ ชี้จัดซื้อจัดจ้างมีคณะกรรมการตรวจสอบตั้งแต่จัดซื้อและรับสินค้า ด้านเลขามท.1สั่งอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองแจ้งด่วนหวั่นกระทบภาพลักษณ์ เฉลิม ปัดเอี่ยวทุจริตนมชี้เกมดิสเครดิตช่วงเตรียมเปิดซักฟอก
(16ก.พ.) นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสุธรรม นทีทอง เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ออกมาระบุว่า นมโรงเรียนมีส่วนผสมป่นเปื้อน โดยที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกหนังสือเวียนในการจัดซื้อ ว่า การจัดซื้อจัดจ้างนมโรงเรียนเป็นหน้าที่ขององค์การปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างจะมีผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ตรวจรับด้วยว่านมนั้นถูกต้อง มีคุณภาพที่ดี เหมาะที่จะให้นักเรียนดื่มหรือไม่ ฉะนั้นที่มีข่าวว่าเป็นนมที่เสียหรือว่ามีส่วนผสมของอะไรก็ตาม อันนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขายเป็นใคร ผู้ซื้อนั้นก็สามารถไปดูได้ว่าเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ไหน ตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ว่าการตรวจรับเป็นอย่างไร ทำไมถึงตรวจรับนมที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้พิสูจน์ไม่ยาก
เมื่อถามว่า ในพื้นที่จังหวัดที่มีปัญหาได้มีการตรวจสอบไปทางอบต.หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น ทางอบต.ได้จัดซื้อโดยถูกต้อง ส่วนจะมีข้อมูลเรื่องนมเสียทางผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่งที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับนม ก็ต้องไปดูให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่า มีกระแสว่ามีคำสั่งล็อกสเปคจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องซื้อนมกับบริษัทอะไรบ้าง นายบุญจง กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าการขายนมจากบริษัทใด ต้องมีคณะกรรมการนมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเกิดตามพ.ร.บ.ปี 51 โดยในคณะกรรมการชุดนี้จะมีอนุคณะกรรมการเป็นคนกำหนดบริษัทที่จะมาขายนม หรือโซนนิ่ง บริษัทใดอยู่ในพื้นที่ไหน ฉะนั้นองค์กรท้องถิ่นหรือกระทรวงมหาดไทยไม่มีหน้าที่ไปกำหนดว่า จะไปเอาบริษัทไหน เพียงแต่มีหน้าที่แจ้งให้ทราบว่าในพื้นที่นั้นๆมีบริษัทอะไรบ้างเป็นผู้ขายนมให้กับท้องถิ่นแต่ละแห่งได้ทราบ ส่วนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างองค์กรท้องถิ่นก็มีระเบียบของอยู่แล้ว
"คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างมีครูผู้บริหารร่วมอยู่ สิ่งที่อยากเรียนให้ทราบ คือ องค์กรบริหารท้องถิ่นไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับการกำหนดว่า ควรจะเป็นบริษัทใด"นายบุญจง กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพบว่าในพื้นที่ใดใช้นมที่ไม่มีคุณภาพหมายความทุกภาคส่วนต้องมีส่วนรับผิดชอบหรือไม่ รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ถูกต้อง เนื่องจากงบประมาณทั้งหมดเรียกว่าเงินอุดหนุนทั่วไป เมื่อได้ไปแล้วท้องถิ่นนั้นก็จะนำไปจัดซื้อนมโดยมีโรงเรียน หรือครูโรงเรียนนั้นเป็นกรรมการตรวจรับนมด้วยว่าจำนวนนมถูกต้องและมีคุณภาพหรือไม่ ที่จะให้นักเรียนดื่ม ต่อไปท้องถิ่นก็ต้องมีหน้าที่ตรวจสอบว่า นมนั้นเป็นนมที่ถูกต้องหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีสาธารณสุขตำบล และสาธารณสุขอำเภอร่วมตรวจสอบด้วย
"ท้องถิ่นมีทั่วประเทศ 7 พันกว่าแห่ง อาจจะเกิดบ้างบางพื้นที่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากว่าซื้อจากบริษัทไหน จำนวนเท่าไหร่ วันเวลาที่ซื้อ นมเสียจริงหรือไม่" นายบุญจง กล่าว และว่าตนตั้งข้อสังเกตว่ากรรมการที่ตรวจรับ ทำไมถึงตรวจรับนม ดังนั้นทางกระทรวงมหาดไทยจะมีการไปตรวจสอบในทุกพื้นที่
เมื่อถามว่า ถ้าตรวจสอบพบว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นบกพร่อง หรือว่าผิดจริงจะดำเนินการอย่างไร นายบุญจง กล่าวว่า แน่นอนถ้าผิดจริงกฎหมายอาญาก็มีอยู่ โดยเฉพาะผู้บริหารกรมการปกครองท้องถิ่น ถ้าทำผิดผลาดกระทรวงมหาดไทยไม่ปล่อยไว้จะมีมาตราการอยางเด็ดขาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 16 ก.พ. น.ส.ศุภพานี โพธิ์สุ เลขานุการรมว.มหาดไทย ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงเลขที่ มท. 0100/772 ถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้รายงานข้อเท็จจริงการจัดซื้อนมโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ โดยระบุว่า หลังจากมีข่าวกรณีการจัดซื้อนมโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และการบริหารงานของกระทรวงมหาดไทย จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงให้รมว.มหาดไทยทราบภายในวันนี้(16 ก.พ.) ซึ่งหากตรวจสอบพบว่า ปัญหาเกิดจากอุปสรรคหรือข้อขัดข้องประเด็นใด ก็จะให้ดำเนินการแก้ไขทันที โดยให้ถือประโยชน์ของเด็กนักเรียนที่ต้องบริโภคนมที่มีคุณภาพ และปริมาณที่เพียงพอเป็นสำคัญ
"เฉลิม"ปัดเอี่ยวทุจริตนมชี้เกมดิสเครดิตช่วงเตรียมเปิดซักฟอก
เมื่อเวลา 14.00 น.ที่ทำการพรรคเพื่อไทย อาคารบีบีดี บิวดิ้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และประธานส.ส.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุว่านักการเมืองใหญ่ในรัฐบาลชุดก่อนอยู่เบื้องหลังขบวนการทุจริตการจัดซื้อนมโรงเรียน ว่า ในช่วงที่ดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรงวมหาดไทย ตนไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เป็นรัฐมนตรีคนอื่นดูแลแทน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบคำสั่งการจัดซื้อนั้น ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2551 แต่ตนพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2551 แล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าพอมีข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ก็มีประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนจำนวนมาก อาทิ เรื่องการบุกรุกที่ดินของพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจนมาถึงกรณีนี้ ดังนั้นขอร้องให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ช่วยตรวจสอบกรณีนี้ให้เป็นที่ชัดเจนว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้บ้าง
" ถ้ารัฐบาลตรวจพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็ให้ดำเนินคดีไป เพราะยืนยันว่าผมไม่ได้คุมกรมส่งเสริมการปกครองส่วนส่วนท้องถิ่น " ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
เมื่อถามว่าในที่สุดเรื่องนี้แพะรับบาปจะตกอยู่กับข้าราชการประจำหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่เรื่องแบบนี้พรรคประชาธิปัตย์ถนัดอยู่แล้ว