เรียนฟรี15ปีตำราให้โรงเรียนจัดซื้อแจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อชุด-อุปกรณ์

เรียนฟรี15ปีตำราให้โรงเรียนจัดซื้อแจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อชุด-อุปกรณ์

เรียนฟรี15ปีตำราให้โรงเรียนจัดซื้อแจกเงินให้ผู้ปกครองซื้อชุด-อุปกรณ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จุรินทร์ สรุป เรียนฟรี15 ปีรัฐบาลโอนงบให้ร.ร.ให้ผู้ปกครองไปเบิกเงินมาช็อปปิ้งชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนฟรีเองตามความพอใจ ส่วนตำราเรียนให้ ร.ร.ซื้อเองจุรินทร์ แจงซับซ้อนน้อยสุดพร้อมสั่งหาวิธีสกัดผู้ปกครองนำเงินไปใช้เรื่องอื่น ส่วนเงินช่วยค่าครองชีพ 2,000 บาท กรอ.เตรียมสรุปวิธีจ่าย 18 ก.พ.นี้

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังหารือกับผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือเรื่อง นโยบายเรียนฟรี 15 ปี พร้อมสนับสนุนตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้นักเรียนด้วย ว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อเลือกวิธีจัดซื้อและจัดสรรตำราเรียน อุปกรณ์การเรียน และชุดนักเรียนฟรี พร้อมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เหมาะสมที่สุด และได้ข้อยุติว่า ในส่วนของชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะจัดสรรงบประมาณตรงไปยังโรงเรียน แล้วให้ผู้ปกครองเบิกเงินจากโรงเรียนเพื่อนำไปจัดซื้อชุดนักเรียนรายละ 2 ชุด

ทั้งนี้ระดับก่อนประถมจะได้เงินค่าชุดนักเรียนรายละ 300 บาทประถมรายละ 360 บาทม.ต้นรายละ 450 บาทม.ปลายรายละ 500 บาทอาชีวะรายละ 1,000 บาทส่วนค่าอุปกรณ์การเรียน ระดับก่อนประถมได้รายละ 200 บาทประถมรายละ 390 บาทม.ต้นรายละ 420 บาทม.ปลายรายละ 460 บาทโดยผู้ปกครองมีสิทธิจะเลือกซื้อชุดนักเรียนของร้านค้าใดก็ได้ หรือจะรวมกลุ่มกันจ้างกลุ่มแม่บ้านในชุมชนตัดเย็บให้ก็ได้ เช่นเดียวกันกับอุปกรณ์การเรียน ผู้ปกครองจะเลือกซื้ออุปกรณ์ประเภทใดก็ได้ ไม่มีการบังคับ กระทรวงแค่ให้แนวทาง โดยจัดทำรายการแนะนำอุปกรณ์ที่ควรซื้อ โดยจะแบ่งจ่าย 2 ครั้ง

ส่วนตำราเรียนฟรีนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะโอนเงินไปให้โรงเรียนดำเนินการจัดซื้อตำราเรียนเอง ตามวงเงินที่ได้รับ คือ ก่อนประถม 200 บาทต่อคนประถม 433 บาทม.ต้น669 บาทม.ปลาย897 บาทรวมทั้งจะโอนงบประมาณกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในวงเงินหัวละ 430 บาท สำหรับระดับก่อนประถม ประถม หัวละ 480 บาท ม.ต้น880 บาท และ ม.ปลาย950 บาท เพื่อให้โรงเรียนไปดำเนินการจัดกิจกรรม4 ประเภทคือ กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เช่น ลูกเสือ-เนตรนารียุวกาชาด กิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานศึกษา และกิจกรรมให้บริการไอซีทีและคอมพิวเตอร์แก่นักเรียน เพิ่มเติมจากหลักสูตรปกติไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อคนต่อปีอย่างไรก็ตาม การดำเนินการจัดซื้อตำราเรียนและจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน นั้นโรงเรียนต้องให้ภาคี 4 ฝ่ายคือ ผู้ปกครอง ครู คณะกรรมการนักเรียน ตัวแทนชุมชุน มีส่วนในการตัดสินใจร่วมกับกรรมการสถานศึกษาด้วย

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันและสุดท้ายตัดสินใจเลือกวิธีจัดงบตรงไปให้โรงเรียน แล้วให้ผู้ปกครองเบิกเงินไปซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนเองตามความประสงค์เพราะเห็นว่าวิธีนี้ซับซ้อนน้อยกว่าใช้ระบบคูปอง ส่วนที่กลัวว่า เมื่อผู้ปกครองรับเงินไปแล้วจะนำเงินไปใช้อย่างอื่น ไม่ซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนให้เด็กนั้นจริงๆ แล้วไม่มีระบบอะไรที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงให้คูปองผู้ปกครองก็อาจไปตกลงกับร้านค้าขอแลกเป็นเงินแทน โดยหักส่วนแบ่งให้ร้านค้าก็ได้ รมว.ศึกษาธิการกล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ไปคิดระบบป้องกันเรื่องนี้โดยอาจกำหนดให้ผู้ปกครองต้องนำใบเสร็จ หรือชุดนักเรียนที่ซื้อ มายืนยันกับโรงเรียน รวมทั้งให้คิดระบบติดตาม ตรวจสอบด้วย โดยอาศัยกลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนั้น จะให้มีการรณรงค์ให้นักเรียนที่สามารถช่วยตัวเองได้สละสิทธิ์ในการรับเงินค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยมีเป้าหมายว่า จะนำเงินที่เหลือจากการสละสิทธิ์ไปใช้พัฒนาโรงเรียนด้อยโอกาสยากจนทั่วประเทศ จากข้อมูลของ สพฐ.พบว่ามีโรงเรียนด้อยโอกาสทั่วประเทศ 600 แห่งเพราะฉะนั้น ถ้านักเรียนคนใดสละสิทธิ์ก็เท่ากับมีส่วนช่วยพัฒนาโรงเรียนยากจนในชนบท ในส่วนนักเรียนโรงเรียนเอกชนจะได้รับสิทธิของฟรี 4 อย่างเช่นกันและโรงเรียนเองจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเพิ่มจาก 60% เป็น70% ในปีการศึกษา2552 ด้วย

ส่วนปัญหาข้อขัดแย้งการให้เงินช่วยค่าครองชีพจำนวน2,000 บาทนั้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้จะมีความชัดเจนขึ้น โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งจะหยิบยกประเด็นเงินช่วยค่าครองชีพจำนวน2,000 บาทเข้าหารือว่าจะจ่ายด้วยวิธีการใด ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะดำเนินการตลอดทั้งปี คาดว่าเงินงบประมาณจะเข้าสู่ระบบได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป เริ่มจากเงินอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนเงิน2,000 บาทและเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุจะดำเนินการได้ในเดือนเมษายน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแจกเงิน 2,000 บาทให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือนจะช่วยเหลือบรรเทาค่าครองชีพผลกระทบจากเศรษฐกิจได้ถึง 8-9 ล้านคนซึ่งถือเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย 7-8 พันบาท ส่วนที่มีเงินมากกว่านี้ถึง 1.5 หมื่นบาท มีประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น จะใช้วิธีจ่ายเงินแบบไหนจะสรุปวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับภาคเอกชนให้สนับสนุนและรับเช็คดังกล่าวแทนเงินสดทั้งในร้านค้าโชห่วย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งการช่วยเพิ่มมูลค่าเช็ค โดยการให้ส่วนลด เช่น อาจทำให้มูลค่าเช็คเงินสดกลายเป็น 2,200 บาทซึ่งแนวทางดังกล่าวน่าจะเหมาะสมกว่าการให้เป็นคูปองเหมือนไต้หวัน เพราะอาจปลอมแปลงง่ายและเอกชนที่รับคูปองไปไม่สามารถนำไปเข้าแบงก์ได้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การจ่ายเงิน 2,000 บาทให้ประชาชนนั้น ยืนยันว่าเงินต้องถึงประชาชนเต็มเม็ดเต็มหน่วย และสามารถนำไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ หากต้องจ่ายให้เป็นเช็คก็ขอให้เอกชนให้ความร่วมมือในการรับแทนเงินสดและให้ส่วนลดมากที่สุดด้วย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook