เปิดปม สหายดุช ครูสอนคณิตศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นแกนนำเขมรแดง

เปิดปม สหายดุช ครูสอนคณิตศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นแกนนำเขมรแดง

เปิดปม สหายดุช ครูสอนคณิตศาสตร์ที่ผันตัวเองมาเป็นแกนนำเขมรแดง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สหายดุช อดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวลสเล็ง เป็นแกนนำเขมรแดงคนแรกที่ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลอาชญากรสงครามของกัมพูชาที่องค์การสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งก่อนหน้านี้ สหายดุช ก็ได้ยอมรับผิดและสารภาพบาปในสิ่งที่ตัวเองเคยทำไว้

ปัจจุบัน สหายดุชมีอายุได้ 66 ปีแล้ว ชื่อจริงของเขาคือ นายคัง เค็ก เอียว เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ควบคุมการทรมานและสังหารชาวกัมพูชาทั้งชายหญิงและเด็กมากถึง 12,000 คน ที่เรือนจำตวลสเล็งของเขมรแดง ระหว่างปี 2518 ถึง 2522

สหายดุชถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวได้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2550 นับเป็นแกนนำเขมรแดงรายแรกที่ถูกจับกุมตัวและถูกตั้งข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ รวมถึงข้อหาทรมานและฆาตกรรมโดยไตร่ตรองล่วงหน้า

ศาลอาชญากรสงครามในกัมพูชาได้ตรวจสอบสภาพจิตของสหายดุช โดยระบุว่า เขาเป็นคนที่ละเอียด ประณีตและพิถีพิถัน ทั้งยังต้องการการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา ว่ากันว่า ในช่วงที่สหายดุชเป็นผู้บัญชาการ เรือนจำตวลสเล็ง ลูกน้องทุกคนต่างเกรงกลัวเขา ผู้ที่ทำงานอยู่ในเรือนจำแห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นที่ไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งสหายดุชบอกว่า พวกเขาเปรียบเหมือนกระดาษเปล่า ที่ง่ายต่อการครอบงำ

สหายดุชเกิด เมื่อปี 2485 ในพื้นที่ภาคกลางของกัมพูชา เขาเป็นเด็กที่เรียนเก่ง และยังเป็นครูที่ทุ่มเทอุทิศตนช่วยเหลือคนยากจนก่อนที่จะเข้าร่วมอุดมการณ์กับพวกเขมรแดงในปี 2513 เพราะไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรมที่เกิดกับสังคมกัมพูชาในยุคนั้น สหายดุชบอกว่า เขาเข้าร่วมกับพวก เขมรแดง เพราะต้องการปลดปล่อยชาวกัมพูชาให้หลุดพ้นจากการถูกกดขี่ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะก่ออาชญากรรม แต่ท้ายสุด การร่วมอุดมการณ์ในครั้งนั้นกลับโน้มนำให้เขากลายเป็นอาชญากรและในขณะเดียวกันก็กลายเป็นเหยื่อสังเวยให้กับแนวคิดของพวกเขมรแดง

หลังกลุ่มเขมรแดงสิ้นอำนาจ สหายดุชยังคงรักษาฐานที่มั่นภายในกลุ่มเคลื่อนไหวคอมมิวนิสต์ ในช่วงที่มีการสู้รบกับกองกำลังที่เวียดนามสนับสนุนตามแนวตะเข็บชายแดนไทย ในช่วงเวลานั้น สหายดุชยังสละเวลาสอนภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ให้กับค่ายผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 1 แห่ง จนกระทั่งภรรยาของเขาถูกฆาตกรรมเมื่อปี 2538 สหายดุชจึงหันมาเข้าร่วมกับองค์กรทางศาสนาคริสต์ โดยมีบาทหลวง คริสโตเฟอร์ ลาเปล เป็นผู้ทำพิธีล้างบาปให้

บาทหลวงลาเปลเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ เมื่อปี 2542 โดยพูดถึงสหายดุชว่า เป็นคริสต์ที่เคร่งครัด สหายดุชยังยอมรับว่าตนเองทำสิ่งเลวร้ายมามาก และไม่รู้ว่า บาปกรรมที่ทำในครั้งนั้นจะได้รับการไถ่โทษหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook