บ่อบำบัดน้ำเสีย "แก๊สไข่เน่า" อันตรายถึงชีวิต

บ่อบำบัดน้ำเสีย "แก๊สไข่เน่า" อันตรายถึงชีวิต

บ่อบำบัดน้ำเสีย "แก๊สไข่เน่า" อันตรายถึงชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุทาหรณ์สะเทือนใจหลังเกิดเหตุการณ์ โศกนาฏกรรมนิสิตจุฬาฯและพนักงาน บริษัทตกลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสีย โรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง ย่านบางนาตราด ทำให้เสียชีวิตถึง 5 ราย นับว่าเป็นเรื่องเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

หลังเกิดเหตุการณ์น่าสลดทางเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษได้เข้าตรวจสอบค่าปริมาณก๊าซพิษภายในบ่อบำบัดน้ำเสีย พบว่าปริมาณค่าก๊าซแอมโมเนีย อยู่ในระดับ 42 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อยู่ที่ 300 พีพีเอ็ม) และก๊าซไข่เน่าหรือก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ อยู่ที่ระดับ 11 พีพีเอ็ม (ปริมาณที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ อยู่ที่ 100)

dfe

ซึ่งก๊าซทั้งสองตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าข้อกำหนดที่จะสามารถทำอันตรายต่อมนุษย์ แต่เบื้องต้นสันนิฐานว่าสาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากก๊าซไข่เน่าหรือไฮโดรเจน ซัลไฟด์ ที่เกิดจากการหมักหมมของสารอินทรีย์ และในช่วงที่เปิดปากบ่อจะมีความเข้มข้นสูง

แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 พบว่าเคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันมาแล้ว หลังคนงานลอกท่อเทศบาลนครภูเก็ตโดนแก๊สไข่เน่าเสียชีวิตคาบ่อจำนวน 4 ราย

เหตุการณ์นี้คนงานได้เปิดฝาท่อเอาไว้เพื่อให้กลิ่นของแก๊สที่เกิดจากการหมักหมมของน้ำออกไปก่อน จากนั้นจึงลงไปทำงาน แต่กลับมีกลิ่นแก๊สตีกลับเข้ามาทำให้คนงานที่ลงไปทำงานในจุดดังกล่าวหมดสติ เพื่อนที่เห็นเหตุการณ์จึงพยายามลงไปช่วย แต่ก็สูดกลิ่นแก๊สเข้าไปจนหมดสติตามๆ กันไป และเสียชีวิตในที่สุดทั้ง 4 คน

ซึ่งจากการตรวจสอบรอบๆ ที่เกิดเหตุพบว่ามีกลิ่นเหม็นของแก๊สไข่เน่า หรือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์กระจายไปทั่วบริเวณ

13e3_1

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 กรณีพบว่าเพชรฆาตเงียบที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือแก๊สไข่เน่า ซึ่งแก๊สตัวนี้มีคุณสมบัติอย่างไรถึงสามารถทำอันตรายต่อผู้ที่สูดดมเข้าไปจนถึงขั้นเสียชีวิตแบบไม่รู้ตัว

แก๊สไข่เน่าหรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นเหม็นคล้ายไข่เน่า หนักกว่าอากาศ และสามารถพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ

สาเหตุที่เรียกว่าแก๊สไข่เน่าเนื่องจากแก๊สที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเกิดจากการย่อยสลายของซากของเสียและสิ่งมีชีวิต เช่นกระบวนการย่อยสลายของซากอินทรีย์สารที่มีธาตุซัลเฟอร์หรือกำมะถันเป็นส่วนประกอบ โดยแบคทีเรียในสภาวะที่ไม่ใช้ออกซิเจน อย่างเช่นใน หนองน้ำและท่อระบายน้ำ

นอกจากนี้แก๊สไข่เน่าหรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ยังเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมได้แก่ กระบวนการกลั่นแยกปิโตรเลียม การผลิตสิ่งทอ การฟอกหนัง การทำเหมืองแร่ กระบวนการเกี่ยวกับการผลิตเยื่อกระดาษ กระบวนบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล

dffew

ทีนี้ลองมาดูกันว่าสถานประกอบการใดที่มีโอกาสพบแก๊สชนิดนี้กันบ้าง

  • ในบ่อปุ๋ยหมัก ที่ทำจากมูลสัตว์ เช่น มูลโค มูลสุกร ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์
  • ในบ่อบำบัดน้ำเสีย งานลอกท่อระบายน้ำ งานบำบัดน้ำเสีย
  • ใต้ท้องเรือประมง ซึ่งมีช่องเก็บปลาอยู่ ภายในมีซากปลาเน่าหมักหมม
  • ในโรงสีข้าวหรือโรงเก็บข้าวโพดบางแห่ง ยุ้งฉางจะมีกลไกการขนข้าวเข้าภายในด้วยสายพาน ซึ่งใต้เครื่องจักรชนิดนี้จะมีช่องขนาดเล็กที่มีเศษข้าวหรือข้าวโพดตกลงไปหมักหมมอยู่ได้
  • งานขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมีความเสี่ยงที่จะสัมผัสสารนี้จากแหล่งฟอสซิลในทะเล รวมถึงงานกลั่นน้ำมันและแก๊สธรรมชาติด้วย
  • เหมืองถ่านหินที่อยู่ใต้ดิน
  • ใช้เป็นสารน้ำอย่างหนึ่งในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
  • ในบ่อน้ำร้อนบางแหล่งที่มีกำมะถันสูง
  • เป็นผลที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต (By product) ของ โรงฟอกหนัง โรงทำเยื่อกระดาษ ไอร้อนของยางมะตอย (asphalt fume) และโรงงานผลิตคาร์บอนไดซัลไฟด์ (carbon disulfide )

มาดูความอันตรายของแก๊สไข่เน่าหรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์กันบ้างว่าจะน่ากลัวขนาดไหน

แก๊สไข่เน่าหรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์มีกลไกออกฤทธิ์คล้ายกับพิษของไซยาไนด์ คือเข้าจับและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ cytochrome oxidase ใน mitochondria ทำให้ เซลล์ไม่สามารถหายใจได้

เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อเป็นหลัก หากสูดดมมากจนแพร่เข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้ความสามารถในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง พิษจากแก๊สจะเข้าทำลายปอด ทรวงอก ไต ระบบทางเดินอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ทั้งนี้ระดับความเป็นพิษจากการสูดดมที่จะทำให้เสียชีวิตได้ ต้องได้รับแก๊สไข่เน่าหรือแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่มีความเข้มข้น 100 ppm ขึ้นไป แต่หากสูดดมเข้าไปถึงระดับความเข้มข้น 1000 ถึง 2000 ppm จะหมดสติทันที ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว  

wqd

นอกจากนี้พิษของแก๊สไข่เน่าจะมีความรุนแรงสูงมากหากอยู่ในพื้นที่ที่อับอากาศ เมื่อสูดดมเข้าไปอาการมักเกิดขึ้นทันที และทำให้เสียชีวิตทันที

ส่วนการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับแก๊สพิษต้องรีบนำผู้ป่วยออกจากจุดเกิดเหตุให้เร็วที่สุด หากพื้นที่นั่นอยู่ในที่อับอากาศผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือต้องสวมหน้ากากออกซิเจนและชุดป้องกันสารเคมี เพื่อป้องกันการหมดสติ

เมื่อนำผู้ป่วยขึ้นมาได้ให้อยู่ในที่อากาศถ่ายเทดี ถอดเสื้อผ้าที่คับแน่นออก เปิดทางเดินหายใจ ใส่ท่อช่วยหายใจถ้าไม่หายใจ ให้ออกซิเจนเสริม และถ้าหัวใจหยุดเต้นแล้วให้รีบทำการนวดหัวใจช่วยชีวิต

สิ่งสำคัญที่สุดต้องให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในสถานที่อับอากาศและต้องมีเครื่องมือป้องกันความปลอดภัย และในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงควรติดตั้งเครื่องตรวจวัดแก๊สชนิดนี้ และติดตั้งสัญญาณเตือนภัยเมื่อมีการรั่วไหล

บทเรียนราคาแพงที่ต้องจ่ายด้วยความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นได้ หากทุกคนร่วมมือป้องกันและระมัดระวังภัยอย่างเคร่งครัดและรัดกุม ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook