ผู้ปกครองเฮ! สช.สั่ง ร.ร.เอกชน ลดค่าเทอมตั้งแต่อนุบาล-ประถม-มัธยม-ปวช.
สช.ร่อนหนังสือแจ้ง ร.ร.เอกชนลดค่าเรียนอนุบาล-ประถม-มัธยม-ปวช. ปีศึกษา 2552 สูงสุดกว่า 6 พันบาท หลังรัฐอุดหนุนรายหัว 70% ช่วยนักเรียนเอกชนเกือบ 2 ล้านคน ด้านผู้ปกครอง ร.ร.เอกชนหนุนสละสิทธิ์ชุดนักเรียน-อุปกรณ์ให้เด็กที่จำเป็นมากกว่า จุรินทร์ ยันวิธีแจกเงินสดเหมาะสุด อาจารย์จุฬาฯเตือนระวัง "เด็กผี" โผล่รับเงินเรียนฟรี
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้เพิ่มอัตราการอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่นักเรียนในโรงเรียนเอกชน ตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ โดยเพิ่มในส่วนของโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนอยู่แล้ว 60% ของค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนภาครัฐอีก 10% รวมเป็น 70% และอุดหนุนให้แก่นักเรียนอนุบาล 3 ขวบ หรืออนุบาล 1 จำนวน 70% จากเดิมที่ไม่เคยได้รับอุดหนุนเลย
นายบัณฑิต กล่าวว่า ดังนั้น สช.จะทำหนังสือแจ้งไปยังโรงเรียนเอกชนให้ปรับลดค่าเล่าเรียนในปีการศึกษา 2552 ให้แก่ผู้ปกครองเท่ากับจำนวนที่ได้รับการอุดหนุนเพิ่ม ตามเงื่อนไขการเสนอขอเพิ่มเงินอุดหนุนที่ได้เสนอต่อสำนักงบประมาณ ดังนี้ อนุบาล 1 ลดค่าเล่าเรียน 6,982 บาทต่อปี อนุบาล 2-3 ลด 1,086 บาทต่อปี ประถมศึกษา ลด 1,056 บาทต่อปี ม.ต้น ลด 1,265 บาทต่อปี และ ม.ปลาย ลด 1,295 บาทต่อปี ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างอุตสาหกรรม ลด 1,949 บาทต่อปี พาณิชยกรรม ลด 1,588 บาทต่อปี ศิลปกรรม ลด 1,597 บาทต่อปี เกษตรกรรม ลด 1,115 บาทต่อปี และคหกรรม ลด 1,322 บาทต่อปี
"ถ้าโรงเรียนใดไม่ทำตามเงื่อนไข จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มในส่วน 10% ตัวเลขจำนวนนักเรียนที่ สช.ใช้คำนวณงบประมาณที่เสนอขอเพิ่มเงินอุดหนุนนั้น เป็นตัวเลขเด็กที่เรียนในปัจจุบัน แต่โดยปกติจะมีนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ละประมาณ 1-2% คิดเป็น 20,000 คน ดังนั้น อาจจะมีปัญหางบฯ ที่ตั้งไว้ไม่พอจ่ายให้แก่โรงเรียนเอกชนในช่วงปลายปี ซึ่งอาจต้องเสนอของบฯ กลางเพิ่มเติม"
นายบัณฑิตย์ กล่าวอีกว่า การเพิ่มเงินอุดหนุนจะช่วยลดภาระให้แก่ผู้ปกครองของนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชน 3,260 โรง ทั้งสายสามัญ และสายอาชีพได้ทั้งสิ้น 1,924,964 คน จำแนกเป็น อนุบาล 1-3 จำนวน 493,085 คน ประถมศึกษา 845,278 คน ม.ต้น 240,375 คน ม.ปลาย 75,660 คน และ ปวช. 270,569 คน ใช้งบฯ เพิ่มขึ้น 2,046,250,700 บาท ส่วนการอุดหนุนค่าชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น จะได้รับในอัตราเดียวกับนักเรียนโรงเรียนรัฐ ซึ่ง สช.จะทำหนังสือแจ้งไปยังสถานศึกษาให้รณรงค์ให้นักเรียน และผู้ปกครอง สละสิทธิ์การใช้สิทธิในส่วนนี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้สละสิทธิ์มากพอสมควร โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียง เพราะส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีฐานะดีอยู่แล้ว
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้ สพฐ.จะทำหนังสือแจ้งให้สถานศึกษารณรงค์ให้นักเรียน และผู้ปกครองที่ครอบครัวมีฐานะดีสละสิทธิ์การใช้สิทธิในส่วนของชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน โดยเน้นในเรื่องจิตสาธารณะ ซึ่งการสละสิทธิ์จะไม่ผูกพันปีต่อไป ทั้งนี้ ให้สำรวจให้เสร็จภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ คาดว่าภายในต้นเดือนมีนาคมจะสรุปยอดผู้สละสิทธิ์ได้ สำหรับนักเรียนที่เข้าใหม่ในชั้น ป.1, ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษา 2552 ให้สำรวจในวันรายงานตัว
นางตุลภัทร สัญญะสาร ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนทิวไผ่งาม โรงเรียนเอกชน กล่าวว่าการรณรงค์ให้ประชาชนสละสิทธิ์ในส่วนของชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น เป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่ผู้ปกครองพอจะช่วยเหลือตัวเอง เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่จำเป็นมากกว่า ซึ่งตนจะขอสละสิทธิ์ด้วย
วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายแจกเงินให้ผู้ปกครองเพื่อนำไปซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้บุตรหลานว่า ถ้าแจกเป็นคูปองก็จะเกิดปัญหาซับซ้อน เช่น ใครคือผู้ออกคูปอง นำคูปองไปซื้อที่ร้านไหนได้บ้าง และจะมีการนำคูปองไปซื้อชุดนักเรียนจริงหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นปัญหาไม่จบสิ้น จึงตัดสินใจจ่ายเงินสดให้ โดยผู้ปกครองต้องมาเซ็นรับเงินจากโรงเรียนโดยตรง จากนั้นให้นำใบเสร็จมาแสดงว่าได้ซื้อชุดนักเรียนหรืออุปกรณ์การเรียนจริง ถ้าผู้ปกครองรายใดทำใบเสร็จหาย ก็ต้องนำชุดนักเรียน หรืออุปกรณ์การเรียนที่ซื้อมาแสดงเป็นหลักฐาน คิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่มีปัญหาตามมาน้อยที่สุด มีความเหมาะสมที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่าการแจกเงินให้ผู้ปกครอง จะทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลหาเสียงล่วงหน้าได้หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่าเป็นไปตามนโยบายเรียนฟรีของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ทำเกินรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ รัฐบาลให้เรียนฟรี 12 ปี แต่รัฐบาลให้เรียนฟรีถึง 15 ปี
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีที่ ศธ.จะแจกเงินสดให้ผู้ปกครองเพื่อนำเงินไปซื้อชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียนนั้น มีข้อดีคือ ในช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองจะมีเงินจากนโยบายเรียนฟรี 1,000 บาท บวกกับเงินช่วยผู้มีรายได้น้อยอีก 2,000 บาท รวม 3,000 บาท จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ แต่ข้อเสียคือจะมีประชาชนจำนวนหนึ่งเมื่อได้รับเงินแล้ว นำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซื้อของไม่มีคุณภาพ เช่น ชุดนักเรียน ยางลบ ดินสอ ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งอาจนำใบเสร็จปลอมมาหลอก
"ส่วนระดับกระทรวงก็ขาดการติดตามตรวจสอบ ส่งผลให้เงินรั่วไหลไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการเทขายหนังสือเรียน หรือตำราเก่า แม้จะมีคณะกรรมการตัดสินใจ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง นักเรียน แต่ผู้บริหารมักมีเทคนิค และหากรวมหัวกับผู้ประกอบการ โดยได้รับค่าตอบแทน 20-30% เพื่อซื้อหนังสือเก่า อีก 3 ฝ่ายก็ไม่มีทางคัดค้านได้ ศธ.จึงต้องวางระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง เช่น เปิดรับเรื่องร้องเรียนทางเว็บไซด์ ไปรษณีย์ หรือให้กลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่นตรวจสอบ นอกจากนี้ ต้องระวังเด็กผีที่โผล่ขึ้นเพื่อรับเงินค่าหัวจากรัฐ" นายสมพงษ์กล่าว